หลักการสรรหาบุคคล เข้ารับราชการ


757 ผู้ชม


หลักการสรรหาบุคคล เข้ารับราชการ




"เวลานี้การศึกษาเจริญขึ้นมากแล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะรับคนเข้าทำราชการแต่เฉพาะผู้ที่มีความรู้ดี ประกอบกับทั้งเวลานี้ตำแหน่งหน้าที่ราชการก็เต็มหมด มีน้อยไม่พอกับจำนวนคนที่อยากเข้ารับราชการ จึงเป็นการจำเป็นที่จะหาวิธีเลือกฟั้นคนเข้ารับราชการโดยทางเป็นกลาง เป็นยุติธรรม และให้โอกาสกับผู้ที่ได้อุตสาหะพยายามเล่าเรียนมีความรู้ดี…"

กระแสพระราชดำรัสข้างต้นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ธงชัยที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำรงบทบาท "การสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ" ตามภาระหน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่ครั้งนั้น โดยยึดถือหลักการแห่งความรู้ความสามารถเฉพาะบุคคล ความเป็นกลาง และความยุติธรรม

การสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ คือการจัดหากำลังคนที่มีความรู้ความสามารถอันเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่การงานให้กับส่วนราชการต่างๆ ซึ่งสำนักงาน ก.พ. มีบทบาทสำคัญ 2 ประการ คือ

  • ประการแรก สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ และกฎ ระเบียบ เพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปปฏิบัติในการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ และรับทุนรัฐบาล โดยวิธีการสอบแข่งขันและการคัดเลือก
  • ประการที่สอง สำนักงาน ก.พ. มีบทบาทในการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการให้กับส่วนราชการต่างๆ โดยการจัดการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ การจัดสอบเพื่อรับทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ตามความต้องการของส่วนราชการต่างๆ

นับตั้งแต่ได้รับมอบหมายภารกิจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล่วงมาถึงปัจจุบัน สำนักงาน ก.พ. ยังคงทำหน้าที่ในการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ โดยยึดถือกระแสพระราชดำรัสในครั้งนั้นเป็นแนวหลักที่ชัดเจนในการดำรงบทบาท แต่ก็ได้มีการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการตามความเหมาะสมแห่งยุคสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรหาบุคลากรสำหรับวงการข้าราชการพลเรือน

การสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งของสำนักงาน ก.พ. ในการจัดหากำลังคนที่มีความรู้ความสามารถอันเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่การงานให้กับส่วนราชการต่างๆ นั้น มีหลักหรือปรัชญาของการสรรหา คือ "การยึดถือระบบคุณธรรม อันได้แก่ความเสมอภาค มาตรฐาน ยุติธรรม โปร่งใส และความสามารถ โดยคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และถูกหลักวิชาการเพื่อให้ได้ทั้งคนเก่งและคนดี"

หลักความเสมอภาค

คือการที่กลุ่มเป้าหมาย(ผู้ที่มีคุณสมบัติและพื้นความรู้ตามที่กำหนด) ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน หรือได้รับการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะกัน ตั้งแต่การเข้าถึงข้อมูลโอกาสในงานจนถึงขั้นการได้รับเลือกเข้ามาทำงาน

หลักความยุติธรรม

คือไม่มีอคติในการประเมินเพื่อคัดเลือกผู้แข่งขันในทุกขั้นตอนของกระบวนการ มีการปฏิบัติต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงฐานะ ตระกูล ภูมิลำเนา เพศ ศาสนา และสถาบันการศึกษา รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ทางการได้ยิน ทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว

หลักความมีมาตรฐาน

ได้แก่ "มีประสิทธิภาพ" คือความรวดเร็วในการดำเนินการ และการตรงต่อเวลาที่นัดหมาย

มีคุณภาพ

คือมีหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติในการดำเนินการ และมีความถูกต้องของผลการดำเนินการ "มีความทั่วถึง ต่อเนื่อง และสะดวกสบาย"

ในการที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสอบ และ "มีความพร้อมในการให้บริการและตอบสนองความต้องการ" ต่อกลุ่มเป้าหมาย

หลักความสามารถ

คือคนดีที่มีความสามารถเท่านั้นที่จะเข้ามาทำงานได้ เวลาจะรับคนเข้าทำงานก็ยึดหลักว่าหาคนดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงต้องมีการสอบแข่งขัน เวลาบรรจุก็ต้องบรรจุคนที่ได้ที่หนึ่งก่อน เพราะถือว่าเป็นผู้มีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น

ผู้เขียน วิลาศ สิงหวิสัย ประธาน อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการประเมินบุคคลฯ สำนักงาน ก.พ.

อัพเดทล่าสุด