การสรรหาพนักงาน


773 ผู้ชม


การสรรหาพนักงาน




            การสรรหาพนักงานดาวเด่นถือได้ว่าเป็นด่านแรกที่สำคัญ โดยจะต้องระบุให้ได้ว่าใครเป็นพนักงานดาวเด่นบ้างในองค์การ ทั้งนี้ลักษณะหรือรูปแบบการสรรหาพนักงานดาวเด่นนั้นจะมี 2 ลักษณะที่สำคัญได้แก่ การสรรหาพนักงานดาวเด่นจากภายนอกองค์การ และจากภายในองค์การ
            พบว่ารูปแบบการสรรหาพนักงานดาวเด่นทั้งสองแบบนี้จะมีความแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาคนจากภายในหรือภายนอกก็ตาม แนวโน้มการสรรหาคนต่อไปในอนาคตนั้นจะมุ่งเน้นไปที่พนักงานที่เป็นดาวเด่น เพื่อหาคนที่มีความสามารถตรงตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดขึ้น ทั้งนี้การที่องค์การจะเลือกใช้รูปแบบการสรรหาแบบใดนั้นจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการสรรหาของแต่ละองค์การที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้

1. การสรรหาพนักงานดาวเด่นจากภายนอกองค์การ
            การสรรหาพนักงานดาวเด่นจากภายนอกองค์การนั้นสามารถทำได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการหาเลือดใหม่ทั้งที่มีประสบการณ์แล้ว และยังไม่มีประสบการณ์เข้ามาทำงานกับองค์การ พบว่าข้อดีของการหาพนักงานใหม่นั้นจะทำให้องค์การได้รับความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางการทำงานใหม่ ๆ จากบุคลากรเหล่านั้น และหากองค์การมีระบบการบริหารจัดการความรู้ที่ดีเยี่ยม โดยการนำความรู้จากคนใหม่มาแบ่งปันให้กับพนักงานที่อยู่ในองค์การ ย่อมจะทำให้องค์การเหล่านั้นเกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะการเรียนรู้จะนำไปสู่การพัฒนา และการปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ

2. การสรรหาพนักงานดาวเด่นจากภายนอกองค์การ
            ถึงแม้ว่าการสรรหาพนักงานจากภายนอกจะเป็นการสร้างเลือดใหม่ สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นนั้น พบว่าจากการวิจัย The Best Employers ปี 2003   ผลปรากฏว่า The Best Employers จะมุ่งเน้นการสร้างพนักงานจากภายในองค์การมากกว่าการสรรหาคัดเลือกพนักงานจากภายนอกองค์การ (Build Talent not Buy)  ดังนั้นการเลื่อนตำแหน่งงานจะเน้นหาคนที่เหมาะสมจากภายในองค์การ  ข้อสรุปนี้ถูกสนับสนุนโดยผลการศึกษาของ Jim Collin (2001) ในรายงานวิจัยเกี่ยวกับ Good to Great พบว่า  CEO ประมาณ 10 คนในจำนวนทั้งหมด 11 คนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากภายในมากกว่าภายนอก จะเห็นได้ว่าข้อได้เปรียบจาการสรรหาคัดเลือกพนักงานดาวเด่นจากภายในองค์การ ย่อมจะทำให้องค์การหาวิธีการในการจูงใจและรักษาคนเก่ง คนดีเหล่านี้เอาไว้ ถือได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนที่ดีที่จะทำให้องค์การแสวงหาเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ ความสามารถของกลุ่มคนดังกล่าว เพราะหากสูญเสียคนเหล่านี้ไป ก็เท่ากับว่าองค์การสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ความรู้ และต้นแบบที่ดีไปให้กับองค์การอื่นที่อาจจะเป็นคู่แข่งทางธุรกิจได้
            และจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ CEO หลายท่าน ผลปรากฏว่า CEO ต่างพยายามสรรหาคัดเลือกพนักงานดาวเด่นที่มีผลการปฏิบัติงานและศักยภาพในการทำงานดีเลิศ (High Performance and High Potential) การระบุว่าใครควรจะเป็นพนักงานดาวเด่นบ้างนั้นจะไม่จำกัดเพียงแต่พนักงานในระดับบริหารเท่านั้น จากผลการศึกษาวิจัยในหนังสือ War for Talent กล่าวถึงแนวคิดของการสรรหาคัดเลือกพนักงานดาวเด่นไว้ว่า

กลยุทธ์การสรรหาแบบดั้งเดิม   

กลยุทธ์การสรรหาแบบใหม่

สร้างพนักงานดาวเด่นที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตน

สร้างพนักงานดาวเด่นในทุก ๆ ระดับตำแหน่งงาน

สรรหาคัดเลือกพนักงานดาวเด่น เมื่อมีตำแหน่งงานว่าง

สรรหาคัดเลือกพนักงานดาวเด่นอยู่ตลอดเวลา

ใช้แหล่งข้อมูลแบบเดิม ๆ เพียงไม่กี่แหล่ง

ใช้แหล่งข้อมูลจากแหล่งต่างๆ  ที่หลากหลาย

สรรหาพนักงานผ่านการโฆษณา

ค้นหาวิธีการเชิงรุกในการคัดเลือกพนักงานดาวเด่น

มีช่วงเงินเดือนที่เฉพาะเจาะจงและจะต้องอยู่ภายในกระบอกเงินเดือนที่กำหนดขึ้นของบริษัท

จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานดาวเด่น ไม่ได้ยึดถือช่วงเงินเดือนที่แน่นอนตามที่ระบุขึ้น

การสรรหาพนักงานเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของผู้สมัคร

การสรรหาพนักงานถือว่าเป็นกระบวนการของการขายและการตรวจสอบความเหมาะสมของผู้สมัคร

การจ้างเงินจะเกิดขึ้นเมื่อมีความต้องการจากหน่วยงาน

มีการคิดหากลยุทธ์ที่จะพัฒนาพนักงานดาวเด่นในแต่ละกลุ่ม

            ดังนั้นการสรรหาคัดเลือกพนักงานดาวเด่นจากภายนอกองค์การ รวมถึงการระบุว่าใครควรจะเป็นพนักงานดาวเด่นจากภายในองค์การนั้น ถือได้ว่าเป็นภารกิจที่สำคัญที่องค์การหลาย ๆ แห่งต่างเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการและเครื่องมือที่จะถูกนำมาใช้ในการค้นหาพนักงานดาวเด่นขององค์การ สงครามแย่งชิงตัวพนักงานดาวเด่นจึงเกิดขึ้น หรือที่เรียกกันว่า War for Talent
             War for Talent เกิดขึ้นเนื่องมาจากการปรับตัวขององค์การที่มีความต้องการที่จะเจริญเติบโต การสร้างตนเองให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน และความหวังที่จะอยู่รอดต่อไปในธุรกิจได้อย่างยั่งยืน มิใช่อยู่รอดได้เฉพาะปีนี้ หรือปีหน้าเท่านั้น แต่จะต้องเจริญเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดยั้ง และการที่องค์การจะเจริญเติบโตและพัฒนาต่อไปได้นั้นย่อมต้องอาศัยทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์  พบว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ได้แก่ การสรรหาพนักงาน การฝึกอบรมและพัฒนา การจูงใจรักษา และการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงาน
            พบว่าต้นทุนที่กล่าวถึงนั้นถือได้ว่าเป็นต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนด้านบุคลากร แต่ยังมีต้นทุนแอบแฝงที่ไม่สามารถคำนวณออกมาได้อย่างชัดเจน ต้นทุนเหล่านั้นได้แก่ เวลาที่สูญเสียไปกับกระบวนการด้านการบริหารและพัฒนาบุคลากร หากคำนวณเวลาที่สูญเสียไปคูณกับเวลาที่ใช้ไปกับพนักงานแต่ละคนอาจพบว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นนั้นจะมากมายมหาศาล และอาจจะมีมูลค่ามากกว่าต้นทุนที่ลงทุนไปกับเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ ที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้  ดังนั้นเพื่อมิให้องค์การเกิดการลงทุนที่สูญเปล่า หรือไร้ทิศทาง แนวโน้มของการบริหารบุคลากรสมัยใหม่ย่อมจะเน้นไปที่พนักงานดาวเด่นที่สร้างผลงานให้กับองค์การ และมีศักยภาพพร้อมที่จะเติบโตไปกับองค์การต่อไปได้
            ด้วยเหตุนี้จึงทำให้องค์การเริ่มตระหนักถึงการแข่งขันเพื่อสรรหาคัดเลือกพนักงานดาวเด่น โดยการระบุว่าพนักงานดาวเด่นในองค์การคือใคร และใครสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจเป็นพิเศษบ้าง  ทั้งนี้การสรรหาคัดเลือกพนักงานดาวเด่นนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านกระบวนการ และเครื่องมือที่น่าเชื่อถือได้ที่สามารถแบ่งแยกกลุ่มพนักงานที่มีอยู่ในองค์การว่าใครเป็นพนักงานดาวเด่น พนักงานที่มีผลการปฏิบัติปานกลาง และพนักงานคนใดที่อยู่ในผลการปฏิบัติงานและศักยภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดขึ้น

 

ที่มา : hrcenter.co.th

อัพเดทล่าสุด