ยุทธการไล่ล่าอนาคตของ HR


892 ผู้ชม


ยุทธการไล่ล่าอนาคตของ HR




Post Today - เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้รับเชิญจากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ให้เป็นผู้ร่วมอภิปรายในงาน HR Day 2006 ซึ่งมีหัวเรื่องของงานในปีนี้ว่า “When the Future Catches HR” (เมื่ออนาคตไล่ล่า HR) ทั้งนี้ ผู้เขียนได้รับคำขอให้ลงลึกในเรื่องว่าจะเตรียมกลยุทธ์ HR สำหรับปี 2007 ที่จะมาถึงอย่างไรดี

ชื่องานที่ว่า “เมื่ออนาคตไล่ล่า HR” นั้น คงจะสร้างความตื่นเต้นตกใจให้ชาว HR ทั้งหลายพอสมควร และคงจะทำให้ชาว HR ต้องรีบขวนขวายกระวีกระวาดสืบเสาะหาข้อมูลโดยด่วน ว่าปีหน้าฟ้าใหม่นี้อนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และชาว HR จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ควรจะจัดกิจกรรมอะไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งอาการตื่นตัวของชาว HR นี้น่าจะสมใจ PMAT ผู้จัดงาน HR Day เพราะคงจะคาดหวังให้ชาว HR มีความทันสมัยรวดเร็วเพื่อรับมือกับอนาคตของปีกุน ซึ่งนักโหราศาสตร์บางท่านเรียกว่าปีหมูซีดเซียวบ้าง หรือปีหมูไฟบ้าง ทำให้ชาวเราทั้งหลายคงรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กับอนาคตกันถ้วนหน้า

ผู้เขียนคิดว่า PMAT คงจะปลื้มใจพอสมควร เพราะงานในวันนั้นมีคน HR เข้าร่วมหลายร้อยคน เรียกว่าเต็มห้องสัมมนาแทบทุกห้องก็ว่าได้ แสดงว่าชาว HR มีความตื่นตัว (หรือตื่นกลัว?) กระหายจะรู้เรื่องอนาคตกันมาก

หัวเรื่อง หรือธีม (Theme) ของงานนั้น สามารถเรียกความสนใจของชาว HR ได้มาก ในขณะเดียวกันมันก็สร้างความกดดันด้วยว่า พวกเราชาว HR กำลังถูกไล่ล่าโดยอนาคต ฟังดูเหมือนว่าเรากำลังเป็นเหยื่อยังไงยังงั้นแหละ ในฐานะผู้อภิปรายซึ่งเป็นชาว HR เหมือนกัน โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนรู้สึกไม่ชอบที่ตนเองต้องเป็น “ผู้ถูกล่า” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “เหยื่อ” ซึ่งในแง่การบริหารแล้วสามารถตีความได้ว่า เรามีการทำงานแบบ “Re-active” คือเป็นฝ่ายรับแทนที่จะเป็นฝ่ายรุก หรือ “Pro-active” พอมีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้น ผู้เขียนจึงเตรียมข้อมูลเพื่อร่วมอภิปรายโดยใช้ท่าทีเชิงรุกแทน

“Catch the Future before It Catches You” หรือ “ไล่ล่าอนาคตก่อนที่มันจะไล่ล่าคุณ” จึงเป็นแนวทางที่ผู้เขียนนำเสนอต่อชาว HR เพื่อปลุกใจให้พวกเราลุกขึ้นมาล่าอนาคต ก่อนที่อนาคตจะมากดดันเราให้เป็นฝ่ายถูกกระทำ

แล้ว HR จะไล่ล่าอนาคตได้อย่างไร?

นั่นสิคะ! แค่ติดตามเหตุการณ์ปัจจุบัน เพื่อปรับกระบวนการทำงานในขณะปัจจุบันให้ทันท่วงทีก็แย่แล้ว นี่จะยังให้ไปล่าอนาคตอีก มันจะไม่มากไปหน่อยหรือ?

คำถามต่างๆ เหล่านี้ผุดขึ้นมากมายสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่พอเช้าตื่นมาชีวิตก็เต็มไปด้วยความเร่งรีบ โซเซลุกจากเตียงได้ก็รีบไปอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แต่งตัวยังไม่เสร็จดีก็รีบกระโจนขึ้นรถไปทำงาน บางคนก็ไปแต่งหน้าต่อในรถระหว่างรถติด ที่มีลูกเล็กก็แต่งตัวลูกในรถนั่นแหละ ทั้งๆ ที่ลูกยังไม่ลืมตาดีเลย พอถึงที่ทำงานก็ล่กๆ ทำงาน... ชีวิตมีแต่ความรีบ...รีบ... พอหมดวันก็รีบกลับบ้าน หลับยังไม่ทันเต็มตาก็ต้องลุกขึ้นมาอีกแล้ว... เป็นอย่างนี้แล้วยังจะสามารถไล่ล่าอนาคตได้อีกเรอะ! พูดเป็นเล่นไปได้...

เมื่อผู้เขียนอยู่บนเวทีอภิปราย และได้สังเกตมองดูสีหน้าของผู้เข้าฟังการอภิปรายบางท่าน ผู้เขียนก็รู้สึกได้ถึงคำถามที่กล่าวมาปรากฏอยู่ในสายตาและสีหน้าของหลายท่าน ผู้เขียนก็เคยมีความรู้สึกเช่นเดียวกันค่ะ ว่าแต่ละวันแค่ดำเนินชีวิตให้ทันกับเหตุการณ์ก็เหนื่อยพอสมควรแล้ว แต่ให้ถึงกับก้าวขึ้นไปอีกขั้นเพื่อล่าอนาคตนี้ ดูมันจะยากสุดเอื้อมไปหรือเปล่า

ภารกิจไล่ล่าอนาคตนี้ไม่ง่ายแน่นอน แต่ก็ไม่ยากเกินสติปัญญาความสามารถ หากมีการบริหารจัดการเวลาให้ดี ตัวผู้เขียนเองสามารถทำได้ในระดับหนึ่งที่ตนเองรู้สึกพอใจ จึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองให้ชาว HR ท่านอื่นบ้าง เพื่อจะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับสไตล์ของตนเอง

เริ่มป้อนข้อมูลให้ตนเองเสียแต่วันนี้

การจะไล่ล่าอนาคตนั้น หมายความว่าคุณต้องเป็นคนที่ทันข่าว ทันเหตุการณ์ จนถึงระดับที่สามารถคาดการณ์ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งระดับนี้ถือเป็นระดับ “เซียนพยากรณ์” ที่อยู่เหนือชั้นกว่าคนที่ติดตามข่าว หรือทันข่าวแบบธรรมด๊า...ธรรมดา (แต่สำหรับหลายคนแค่ทำตัวให้ “ทันข่าว” ก็หอบแฮกๆ เสียแล้ว)

เอาเลยค่ะ! เมื่อตัดสินใจว่าเราจะเป็น “นักล่า” แทนที่จะเป็น “ผู้ถูกล่า” อนาคต สิ่งสำคัญในลำดับแรกก็คือต้องป้อนข้อมูลเข้าไปในหน่วยความจำของเราให้มากที่สุด ทั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูลด้วยนะคะ ไม่ใช่สนใจแต่ปริมาณ คือข้อมูลอะไรก็ได้ ข้าพเจ้าป้อนเข้าสมองหมด สมองของเรามันก็มีเนื้อที่จำกัดเสียด้วย จึงต้องจัดลำดับความสำคัญว่าเราต้องการข้อมูลอะไรบ้าง ซึ่งพวกเราชาว HR อาจจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ท่วมตัวได้ดังนี้

1) ข้อมูลที่ “ต้องรู้” หรือต้องมีลำดับ 1 ในสายอาชีพ HR รักจะเป็น HR คนเก่งก็ต้องแน่นเปรี๊ยะด้วยความรู้และข้อมูลในหน้าที่งานของตน อันได้แก่ ความรู้ว่างาน HR ประกอบด้วยอะไรบ้าง มีลำดับขั้นตอน เป้าประสงค์ ข้อควรระวัง และเทคนิค รวมทั้งเทคโนโลยีอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้ในงานได้ ข้อแรกนี้ก็คือ “รู้เรา” ซึ่งหมายถึงรู้จักงานของตนเองก่อน

2) ข้อมูลที่ “ต้องรู้” หรือต้องมีลำดับ 2 ถัดจาก “รู้เรา” แล้ว ค่อยเขยิบไป “รู้เขา” คือ รู้ว่าองค์การมีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และกลยุทธ์เป็นอย่างไร CEO คาดหวังอะไรจาก HR บ้าง หน่วยงาน HR จะสามารถช่วยสนับสนุน หรือประสานงานกับหน่วยงานอื่น เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถบริหารพนักงานแล้วสร้างคุณค่า หรือผลสำเร็จให้แก่องค์การได้ การจะ “รู้เขา” นี้ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลพูดคุยสอบถามกับ CEO และผู้บริหารแผนกอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเรื่องเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์การ จะได้สามารถทำงานร่วมกัน และสนับสนุนกันอย่างกลมกลืนไร้รอยตะเข็บ

3) ข้อมูลที่ “ควรรู้” คือ ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของธุรกิจที่องค์การประกอบธุรกรรมอยู่ HR ควรขยันติดตามข่าวสารข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ค่าดัชนีต่างๆ เช่น หุ้น ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ ที่อาจมีผลกระทบต่อองค์การโดยรวม และต่องาน HR มนุษย์ทำงานหลายท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การตลาด การเงิน และ HR มักให้ความสนใจแต่เฉพาะข่าวหรือข้อมูลเฉพาะสาขางานที่ตนสนใจเท่านั้น กล่าวคือ นักการตลาดก็สนใจอ่านข่าวเฉพาะหน้าการตลาด นักการเงินก็ตามแต่หน้าข่าวการเงิน ซึ่งทำให้มุมมองคับแคบ อันที่จริงแล้วปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ล้วนมีผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่องานทุกสาขาทั้งสิ้น มนุษย์ทำงานทุกคนจึงควรปรับทัศนคติเสียใหม่ มองให้กว้างๆ ขึ้น แล้วจะเห็นว่าปัจจัยทั้งหลายล้วนมีพลวัต (Dynamic) หรือมีผลกระทบเกี่ยวเนื่องกันไม่มากก็น้อย

4) ข้อมูลที่ “น่ารู้” การให้ความสนใจในเหตุบ้านการเมืองในข้อที่ (3) ที่กล่าวมา เป็นเรื่องที่คนทุกคนในสังคมทุกระดับควรปฏิบัติให้เป็นนิสัย แต่ใช่ว่าจะสนใจแต่เรื่องหนักๆ ที่เกี่ยวกับงานเท่านั้น จะเป็นผู้รอบรู้ที่สมบูรณ์ ก็ควรให้ความสนใจข่าวอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนัง เพลง ละคร การปลูกต้นไม้ การแพทย์ ฯลฯ ข่าวสัพเพเหระพวกนี้มันทำให้คุณเป็นคนรอบด้าน ไม่ใช่เป็นคนเครียด ไม่มีมุมผ่อนคลายบ้างเลย เดี๋ยวเลยไม่รู้ว่าชาวบ้านร้านตลาด หรือลูกๆ วัยทีนวัยโจ๋ของคุณชอบฟังเพลงอะไร พานจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยไปเสียอีก คนที่จะเป็นนักล่าอนาคตควรรู้ทุกเรื่องค่ะ จะได้คุยกับคนได้ทุกวงการ ทุกเพศ ทุกวัย

ใช้ทุกช่องทางเพื่อป้อนข้อมูลให้ตนเอง

น่าหนักใจอยู่เหมือนกันนะคะ เมื่อได้พิจารณาถึงปริมาณและประเภทของข้อมูลที่นักล่าอนาคตจะต้องป้อนเข้าไปในหน่วยความจำของเรา ปัญหาที่มักได้รับบ่อยๆ คือ “ไม่มีเวลา!” อย่าว่าแต่จะอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ให้ครบทุกฉบับเลย แค่จะอ่านบันทึกงานยังทำไม่ทันเลย ผู้เขียนเองก็ประสบปัญหานี้เช่นกันค่ะ และเห็นใจคนที่มีงานหนัก แถมบางคนยังมีลูกต้องดูแล ซึ่งดูดเวลาออกไปมากโขอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะบางประการที่คุณๆ อาจลองนำไปใช้ดู เพื่อใช้เวลาน้อยลงในการติดตามข่าวสารต่างๆ

- ตื่นเช้ามาให้ใช้นาฬิกาปลุกที่เป็นวิทยุ ให้เปิดช่องข่าวรอไว้เลย เช้าๆ มักเป็นรายงานข่าวจากทางหน้าหนังสือพิมพ์ ถ้าคุณไม่มีเวลาอ่านข่าว ก็ฟังข่าวที่คนเขาอ่านให้ฟังแทน

- ระหว่างอาบน้ำ แปรงฟัน ทำธุระในห้องน้ำ แขวนวิทยุไว้สักเครื่อง (แบบใช้ถ่านก็ได้จะได้ไม่ต้องเสียบปลั๊ก...กลัวไฟดูดน่ะ!) แล้วก็ฟังข่าวต่อ

- ระหว่างนั่งรถไปทำงานก็เปิดวิทยุต่ออีก หรือถ้านั่งรถเมล์ไปทำงานก็เสียบหูฟังก็ยังได้ ข้อควรระวัง! อย่าฟังวิทยุระหว่างข้ามถนน ให้รอจนขึ้นนั่งรถเรียบร้อยแล้วนะคะ

- เข้าที่ทำงานถ้าพอมีเวลาก็หยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านข่าวเสียหน่อย หากตอนอยู่บ้านฟังแต่ข่าวชาวบ้าน ประเภทใครตีหัวสุนัข หรือมะนาวออกลูกมาเป็นมะกรูดแล้วคนไปขูดขอเลข...แบบนี้ต้องเปลี่ยนมาอ่านข่าวการเมืองหรือเศรษฐกิจแทน เพื่อความหลากหลาย

- บ่ายๆ เย็นๆ นั่งรถกลับบ้านก็ฟังเพลงบ้าง ฟังข่าวแทรกรายการเพลงบ้าง เป็นการปรับอารมณ์ ถ้าฟังแต่ข่าว...ข่าว...ข่าว เดี๋ยวจะกลายเป็นหนอนข่าวไปเสียก่อน

- กลับบ้านแล้วดูทีวี ก็เลือกรายการมีสาระ เช่น วิเคราะห์ข่าวต่างๆ หลังดูละครช่องโปรดจบแล้วก็ยังได้

- วันเสาร์–อาทิตย์ก็อ่านหนังสือพวกวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ทั้งไทยและเทศ จะได้ช่วยสรุปข่าวที่เราอาจติดตามไม่ทันในช่วงวันทำงานที่ผ่านมา แล้วก็ดูรายการหย่อนใจอื่นๆ ด้วย เช่น กีฬา แฟชั่น หนังเกาหลี เป็นต้น

- โอกาสอื่นๆ ก็ไปฟังสัมมนา อภิปราย บ้างเป็นครั้งคราว หรือเข้าสังคมพูดคุยกับผู้รู้ต่างๆ

ทำอย่างที่กล่าวมาเป็นประจำ ถ้ายังตกข่าวอีกก็ให้รู้ไป! แต่คาดว่าน่าจะพัฒนาตนเองเป็น “ผู้เกาะติดสถานการณ์” ชั้นดีได้แล้ว และไม่ช้าไม่นานก็พร้อมจะไล่ล่าอนาคตได้

มาเป็นผู้ล่าอนาคตกันเถอะนะคะ สนุกกว่าถูกล่าเป็นไหนๆ ...      


* หากท่านมีข้อเสนอแนะหรือคำถาม กรุณาติดต่อที่ : [email protected]

ข้อมูลและประสานงาน : คุณอารีย์ พงษ์ไชยโสภณ

 

ที่มา : โพสต์ ทูเดย์

อัพเดทล่าสุด