สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อคัดเลือกพนักงาน


764 ผู้ชม


สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อคัดเลือกพนักงาน




        วิธีการหนึ่งในการคัดเลือกพนักงานคือการทดสอบ แบบทดสอบทางจิตวิทยา (Psychological Test) จึงเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่นำมาใช้โดยมุ่งหวังว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นจริงมีประโยชน์ ช่วยทำให้การตัดสินใจคัดเลือกบุคลากร เข้าทำงานมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงอยู่หลายประการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่หน่วยงานต้องการ


 ในที่นี้ขอนำเสนอสิ่งที่ควรคำนึงถึงบางประการดังนี้

ประการที่1 แบบทดสอบทางจิตวิทยา

          แบบทดสอบทางจิตวิทยาเป็นเครื่องมือหรือชุดของสิ่งเร้าที่นกไปใช้กระตุ้นให้บุคคลตอบสนองออกมาก็จะนำคำตอบที่ได้ไปแปลความหมาย แบบทดสอบทางจิตวิทยาสามารถวัดลักษณะต่างๆได้ เช่น สติปัญญาแรงจูงใจ ความสนใจ ความถนัด และ บุคลิกภาพ เป็นต้น
          การนำแบบทดสอบทางจิตวิทยาไปใช้จึงควรคำนึงถึงคุณภาพหรือคุณสมบัติของแบบทดสอบด้วย โดยแบบทดสอบที่ดีควรมีคุณสมบัติสำคัญดังนี้
            1. ความเที่ยงตรง (validity) เป็นคุณสมบัติของแบบทดสอบที่แสดงให้ทราบว่าแบบทดสอบนั้นๆ สามารถวัดในสิ่งที่ต้องการวัดได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน
            2. ความเชื่อถือได้ (Reliability) เป็นคุณสมบัติของแบบทดสอบที่แสดงให้ทราบว่าแบบทดสอบนั้นๆให้ผลการวัดที่คงที่หรือหม่ำเสมอ
            3. ความเป็นปรนัย (Objectivity) เป็นคุณสมบัติของแบบทดสอบที่มีความชัดเจนในเรื่องของข้อคำถาม ทุกคนอ่านแล้วมีความเข้าใจตรงกัน การตรวจให้คะแนนตรงกัน และการแปลความหมายคะแนนใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน
            4. อำนาจจำแนก (Discrimination) เป็นคุณสมบัติของแบบทดสอบที่สมามารถจำแนกบุคคลออกเป็นกลุ่มๆที่มีคุณลักษณะต่างกันๆกันตามเรื่องที่ทดสอบได้
            5. ความเป็นมาตรฐาน (Standardization) เป็นคุณสมบัติของแบบทดสอบที่มีเกณฑ์ปรกติหรือเกณฑ์มาตรฐาน (Norm)เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบหรือแปลผล
            6. ความยุติธรรม (Fairness) เป็นคุณสมบัติของแบบทดสอบที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างผู้เข้ารับการทดสอบด้วยกัน ดังนั้นก่อนที่จะนำแบบทดสอบทางจิตวิทยาไปใช้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบคุณภาพของแบบทดสอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าแบบทดสอบชุดนั้นมีคุณภาพดี ควรที่จะนำไปใช้

           นอกจากคุณภาพจากบททดสอบแล้ว คู่มือการใช้แบบทดสอบ (Test Manual) ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ทดสอบและผู้ใช้แบบทดสอบเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแบบทดสอบ และสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง โดยคู่มือการใช้แบบทดสอบการประกอบด้วย จุดมุ่งหมายของแบบทดสอบ วิธีสร้าง วิธีกำเนินการทดสอบ การตรวจสอบให้คะแนน การแปลความหมายคะแนน และ การนำผลการทดสอบไปใช้
           ในบางหน่วยงานอาจไม่มีแบบทดสอบมาตรฐานทางจิตวิทยา ถ้าให้สร้างขึ้นมาใหม่ก็ทำได้ยาก เพราะถ้าผู้สร้างไม่ได้เรียนหรือฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ในเรื่องการสร้างแบบทดสอบ ก็อาจมีการสร้างผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่ตรงตามความเป็นจริง หากหน่วยงานใดไม่สามารถสร้างแบบทดสอบทางจิตวิทยาขึ้นมาได้เองและได้นำแบบทดสอบที่ผู้อื่นสร้างไว้มาใช้ ก่อนอื่นขอให้มั่นใจว่าแบบทดสอบที่จะนำมาใช้นั้นมีคุณภาพที่ดีจริงๆ เหมาะสมกับกลุ่มบุคคลที่หน่วยงายนจะทดสอบแาเป็นไปได้ควรนำมาตรวจสอบคุณภาพใหม่ เพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

ประการที่ 2 ผู้ใช้แบบทดสอบ

            ผู้ใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแบบที่จะนำมาใช้ในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์การทดสอบไปใช้ รวมถึงความรู้ความเข้าใจในแต่ละตำแหน่งงานที่จะทำการคัดเลือก เพื่อที่จะได้เลือกใช้แบบทดสอบได้อย่างเหมาะสมตรงตามเป้าหมาย และนำไปใช้ได้จริงและใช้ได้อย่างถูกต้อง
            สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยใสการนำแบบทดสอบทางจิตวิทยาไปใช้คือ ผู้ใช้แบบทดสอบไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในแบบทดสอบและการทดสอบทางจิตวิทยาแย่างลึกซึ้ง แล้วนำไปใช้อย่างผิดๆด้วยเข้าใจว่าให้ผู้ถูกทดสอบตอบคำถามมา แล้วตรวจให้คะแนนไปก็ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงการทดสอบทางจิตวิทยามีหลักการและรายละเอียดที่ควรปฏิบัติหรือควรสังเกตุมากกว่านั้น หากผู้ใช้แบบทดสอบมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและผ่านการฝึกฝนหรือการฝึกอบรมนเรื่องการทดสอบทางจิตวิทยามาอย่างดีจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรู้จักและเข้าใจผู้ถูกทดสอบในเชิงลึกมากขึ้น อันจะเอื้อต่อการตัดสินใจเลือกผู้ถูกทดสอบได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
            นอกจากนี้ทัศนะของผู้ใช้แบบทดสอบที่มีต่อแบบทดสอบทางจิตวิทยาจัดว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะผู้ใช้แบบทดสอบบางคนไม่ยอมรับหรือเชื่อว่าแบบทดสอบทางจิตวิทยาจะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นจริงของผู้ถูกทดสอบได้จึงใช้แบบทดสอบเป็นเหมือนพิธีการที่ใช้ปฏิบัติกันมา แต่ไม่ได้จริงจังกับการทดสอบและผลของการทดสอบ การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เวลา และได้ข้อมูลอย่างหยาบ อันอาจเกิดผลกระทบต่อหน่วยงานได้ การเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อแบบทดสอบทางจิตวิทยาไปในทิศทางที่ดีขึ้นิาจเกิดขึ้นได้หากผู้ใช้แบบทดสอบมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการในเรื่องการทดสอบอย่างแท้จริง
           ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งคือ การแปลผลหรือการแปลความหมายของคะแนนผู้ใช้แบบทดสอบ จะต้องมีทักษะหรือประสบการณ์ในการแปลความหมายผลของการทดสอบได้อย่างถูกต้องเทียงธรรม และต้องแน่ใจว่าได้เปรียบเทียบผลการทดสอบกับเกณฑ์ปรกติที่เหมาะสมกับลักษณะของกลุ่มผู้ถูกสอบ
            ประเด็นสุดท้ายสำหรับผู้ใช้แบบทดสอบคือ จะต้องตระหนักถึงจรรยาบรรณและปฏิบัติตามจรรยาบรรณของการใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาอย่างเคร่งครัด ไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายในการใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาโดยรู้เท่าไม่ถึงการ หรือไม่รู้ตัว

ประการที่ 3 ผู้ถูกทดสอบ

           ผู้ถูกทดสอบจะเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้แบบทดสอบ เพื่อนำไปตัดสินใจดังนั้นผู้ใช้แบบทดสอบจึงคาดหวังว่าข้อมูลที่ได้จากผู้ถูกทดสอบจะเป็นข้อมูลที่เป็นจริงไม่มีการเสแสร้งแกล้งตอบหรือโกหกน้อยที่สุด การที่ผู้ถูกทดสอบจะให้ข้อมูลที่เป็นจริง ผู้ใช้แบบทดสอบต้องสร้างแบบทดสอบของความไว้วางใจ ความเป็นกันเองให้เกิดขึ้นเพื่อที่ผู้ที่ถูกทดสอบเห็นประโยชน์จากการทดสอบ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ผู้ถูกทดสอบตั้งใจตอบแบบทดสอบยิ่งขึ้น

ประการที่ 4 สภาพแวดล้อม

           สภาพแวดล้อมขณะทำการทดสอบก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสภาพแวดล้อมของการทดสอบไม่ดี เช่นมีเสียงดัง อากาศร้อน ผู้ถูกทดสอบสามารถแอบดูคำตอบจากผู้ทดสอบอื่นได้ แสงสว่างไม่เหมาะสม เป็นต้น จะมีผลต่อการขาดสอบและข้อมูลที่ได้ จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงด้วยในการทดสอบ

            กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า การใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อคัดเลือกพนักงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆหลายประการไม่ว่าจะเป็นตัวแบบทดสอบทางจิตวิทยา ผู้ใช้แบบทดสอบ ผู้ถูกทดสอบ และสภาพแวดล้อมในการทดสอบถึงอย่างไรก็ตามเพื่อให้การคัดเลือกพนักงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้  ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบทางจิตวิทยาจะเป็นเพียงข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่จะนำไปใช้ประกอบหรือเสริมกับข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้การตัดสินใจคัดเลือกบุคลากรมีความถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

            ท้ายที่สุดนี้ เป็นสิ่งที่คิดว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดในการใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อให้ได้พนักงานที่เหมาะสมตามที่หน่วยงานต้องการ


โดย อ. ถวัลย์   เนียมทรัพย์
      อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาจิตวิทยา
      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อัพเดทล่าสุด