คนทำงานต้องสร้างคุณค่าเพิ่ม (จบ)


601 ผู้ชม


คนทำงานต้องสร้างคุณค่าเพิ่ม (จบ)




คอลัมน์ หนึ่งคิดหนึ่งทำ
โดย สันติ โยนกพันธ์, ชนายุส ตินารักษ์

การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน เป็นแก่นแท้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน อาภรณ์เปลือกนอกห่อหุ้มมีหลากหลายผลประโยชน์ อาจเป็นทั้งทางกายภาพ ทางจิตวิญญาณ จับต้องได้ หรือจับต้องไม่ได้แต่สัมผัสและรู้สึกได้
คุณค่าคือสร้างมูลค่าเพิ่ม
"ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน" แม้ว่าจะมีวาทกรรมเย้ยหยันกันบ้างว่า "ค่าของคนอยู่ที่เป็นคนของใคร" หรือ Know how ไม่ก้าวหน้าเท่า Know who แต่ต้องไม่ลืมว่า การ Know who ก็เป็น Know how ที่สำคัญประการหนึ่ง
"นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ยากประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้"
ในกรณีมนุษย์เงินเดือน แน่นอนว่าย่อมมีการวัดผลงานเพื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือน ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจประสบผลสำเร็จได้เป็นผลจากการทำงานร่วมกันในกระบวนการผลิตและการบริการ
"งาน" ที่ผ่านมือพนักงานแต่ละคน มีส่วนในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นเสมอ ไม่ว่าเป็นประโยชน์ใช้สอยหรือคุณค่าทางจิตใจ ความหมายและคุณค่าของ พนักงานแต่ละคนขึ้นอยู่กับว่า สามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด
ทักษะ ความชำนาญ ความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ การทำงานตรงทันตามเวลา ได้คุณภาพตามต้องการในกระบวนการทำงานของแต่ละองค์กรธุรกิจ เป็นเนื้อแท้ที่บ่งชี้คุณภาพ คุณสมบัติของพนักงาน รวมทั้งใช้ประเมินผล ตอบแทน การทำงานในรูปของเงินเดือน สวัสดิการ โบนัส เงินรางวัล และผลตอบแทนอื่น ๆ ทั้งต่อลูกค้า-ผู้จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการ ย่อมต้องการประโยชน์ใช้สอยเช่นกัน
นั่นคือเงินที่จ่ายไปได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ มีคุณค่าเพียงพอไม่ว่าเป็นประโยชน์ใช้สอยหรือคุณค่าทางจิตใจ การแลกเปลี่ยนเช่นนี้เป็นเนื้อหาจริงแท้ แม้ว่ามีเปลือกหุ้มรูปแบบใดก็ตาม
พนักงาน-คนที่ทำงาน
คนเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรกลในการผลิตสินค้าและบริการก้าวหน้าทันสมัยเพียงใด การบริหารจัดการคนจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายนอก และเงื่อนไขภายในของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง (employee) หรือเป็นสินทรัพย์ (asset) เป็นทรัพยากร (resource) ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้พนักงานเป็นคนที่ทำงานได้ตามที่องค์กรธุรกิจและ สภาพแวดล้อมแห่งการแข่งขันต้องการ
ในวาทกรรมต่อมาเปรียบเทียบ พนักงานบริษัทเป็นลูกค้าภายใน "inside consumer" ที่แสดงบทบาทสำคัญในการติดต่อสร้างธุรกิจสัมพันธ์กับลูกค้าภายนอก "outside consumer" การเปรียบเทียบพนักงานเป็นลูกค้าภายใน เป็นนัยที่ต้องการแสดงว่าผู้ประกอบการและฝ่ายบริหารระดับสูงต้องการดูแล" ลูกค้าภายใน "อย่างดี เพื่อหวังผลการขายสินค้าและบริการต่อลูกค้าภายนอกให้ดี เพราะหมายถึงรายได้และผลกำไรขององค์กร
วาทกรรม "ลูกค้าภายใน" หมายความถึงแง่มุมการบริหารจัดการที่มุ่งหวังให้ พนักงานสร้างผลลัพธ์ในการทำงานที่ดี ทั้งนี้อยู่ในธรรมชาติหรือสัจธรรมของธุรกิจที่คุณภาพการทำงานของพนักงานกับผลตอบแทนที่พึงได้นั้นต้องสมดุลกัน แม้ว่าเปรียบเทียบเป็น "ลูกค้าภายใน" แล้วก็ตาม
กระบวนการทำงานกับความสามารถส่วนบุคคล
การบริหารงานบุคคล, การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีภาระหน้าที่สำคัญคือ ทำให้ความสามารถส่วนบุคคลของพนักงานในองค์กรกับกระบวนการทำงานสอดประสานกันมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด กระบวนการทำงานรองรับการทำงานร่วมกันของบุคคลและฝ่ายต่าง ๆ ในองค์กร
ประเด็นที่ดูเหมือนเรียบง่ายนี้มีความแตกต่างสลับซับซ้อนตามประเภทของธุรกิจ ขนาดของกิจการ และความแตกต่าง หลากหลายของเจ้าของ ผู้บริหาร จนถึงพนักงานทุกชีวิต ที่สำคัญคือสภาพแวดล้อมของการแข่งขัน
ในแง่การบริหารจัดการองค์กรต้องสร้างกระบวนการทำงานที่ไม่พึ่งพา หรือขึ้นต่อกับความสามารถส่วนบุคคลของใครคนใดคนหนึ่ง ขณะที่ในความเป็นจริงองค์กรธุรกิจมีฤทธิ์มีเดชขึ้นมาได้เพราะเป็นผลรวมของความสามารถส่วนบุคคลที่หลากหลาย
เป็นเรื่องที่น่าหนักใจอย่างยิ่งว่า ในปัจจุบันหลายองค์กรธุรกิจเผชิญหน้ากับปัญหาพนักงานไม่มีความสามารถเพียงพอ และอีกหลายธุรกิจเผชิญกับปัญหาบัณฑิตจบใหม่ไม่มีขีดความสามารถเท่าที่ควรเมื่อจบการศึกษาจากสาขาวิชาของตนเอง ซัพพลายบุคลากรของเมืองไทยมีปัญหาเรื่องนี้ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่องค์กรธุรกิจมีความยากลำบากในการเข้าไปบริหารจัดการต้นทางหรือระบบการศึกษา แม้ว่ามีลู่ทางอยู่ก็ตาม
ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การยกระดับความสามารถของบุคลากรปัจจุบันให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของ ผู้บริหาร และกล่าวอย่างที่สุดแล้วตรงกับความต้องการของเงื่อนไขการแข่งขันของธุรกิจนั้น ๆ
ในขณะที่การเร่งรัดพัฒนาคุณภาพบุคลากรทุกระดับเป็นความเร่งด่วน วาทกรรม รวมทั้งนิยามใหม่ ๆ ข้อมูลความรู้สารพัดเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ก็แพร่หลายอย่างไม่มีขีดจำกัด ไม่ว่าพนักงาน ผู้บริหาร หรือ ผู้ประกอบการก็สามารถเข้าถึงและศึกษาเรียนรู้ได้ หรือกระทั่งเป็นกระแสกลายเป็นมาตรฐานทางสังคม
จนบางครั้งอาจลืมไปว่า คุณสมบัติ พื้นฐานของคนทำงานคือการสร้างคุณค่า เพิ่มหน้าที่ของการบริหารงานบุคคลคือการทำให้พนักงานองค์กรมีศักยภาพใน การสร้างมูลค่าเพิ่ม คุณค่าเพิ่ม ตัว พนักงานเองก็ต้องตระหนักรู้ ยอมรับกติกานี้เช่นกัน
เรื่องเหล่านี้บริหารจัดการให้ดีที่สุดอย่างไรนั้น ต้องใช้รูปแบบวิธีการที่แต่ละองค์กรเลือกสรรว่าเหมาะสมกับตนเองเป็นสำคัญ
หน้า 29

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4185  ประชาชาติธุรกิจ


อัพเดทล่าสุด