ลาออกจากงานอย่างไรให้ทุกคนจดจำ ?


837 ผู้ชม


ลาออกจากงานอย่างไรให้ทุกคนจดจำ ?




คอลัมน์ ถามมา-ตอบไป สไตล์คอนซัลท์
โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

ณ ตอนนี้หลายคนคงได้รับเงินโบนัสไปเรียบร้อยแล้ว และในขณะเดียวกัน หลายคนก็ยื่นใบลาออกจากงานแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเพื่อไปทำงานที่ใหม่ ไปสร้างครอบครัวใหม่ หรือเพราะทนปัญหาบางอย่างไม่ไหว ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไร ปัญหาที่ตามมา คือจะทำอย่างไร เพื่อให้การลาออกนี้เป็นการ ลาออกแบบจากกันด้วยดี
จากประสบการณ์ของหลาย ๆ คนที่ผมได้ฟังมา บางคนตั้งใจลาออกแบบเงียบ ๆ ไม่ให้ใครรู้ โดยจะรู้อีกที คือออกไปแล้ว
ไม่มีการบอกกล่าว ว่าลาออกเพราะอะไร ซึ่งทำให้คนที่เหลืออยู่ไปนั่งคิดและคาดเดากันเอาเองถึงเหตุผลการลาออก
ในขณะที่ยังมีคนอีกกลุ่ม (ซึ่งดูเหมือน จะคับแค้นใจมาก) ต้องการลาออกแบบ ยิ่งใหญ่ ประกาศให้ทุกคนในบริษัทได้รู้ พร้อมทั้งชี้นิ้วทั้งสิบนิ้วไปที่ต้นเหตุของการ ลาออก ซึ่งไม่ว่าจะลาออกด้วยวิธีใด ทั้งสองวิธีนี้ก็เป็นการลาออกที่ไม่ค่อยสวยเท่าไรนัก
วันก่อนมีคนโทร.มาสอบถามถึงวิธีการลาออกแบบสวย ๆ แบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำก็ไม่ขุ่น ปัญหาของเขาก็คือองค์กรเก่าก็ดีกับเขา ในขณะที่องค์กรใหม่ก็เป็นอะไรที่ท้าทายความสามารถ
ตอนที่ลาออกจากที่เก่า ผู้บริหารขององค์กรได้พยายามฉุดรั้งเขาไว้โดยการให้เงินเดือนและสวัสดิการเทียบเท่ากับองค์กรใหม่ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่เขาออก ความท้าทายต่างหากเป็นสิ่งที่เขาต้องการจะได้รับ แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไรกับผู้บริหาร เหล่านั้นดี ผมจึงให้คำแนะนำเขาไปว่า...
1.ชี้ให้ทุกคนเห็นว่า การลาออกนี้เป็นการตัดสินใจลาออกเพราะตัวเราเอง ไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่งในองค์กร อย่าลืมว่าการลาออกหมายถึงความตั้งใจของคนคนหนึ่ง ในการออกจากองค์กร ๆ หนึ่ง
ดังนั้น จงทำหน้าที่การลาออกให้สมบูรณ์ โดยการชี้ให้ทุกคนในองค์กรเห็นถึงเหตุผลของการลาออก โดยอาจจะชี้ให้เขาเห็นถึงความคาดหวังของคุณในอนาคต ซึ่งงานปัจจุบันไม่สามารถทำให้บรรลุความฝันนั้นได้
อย่าปล่อยให้เขาไปนั่งคิดหาเหตุผลการลาออกของคุณเอาเอง เพราะผลที่ออกมาอาจจะเป็นอะไรที่คุณไม่สามารถคาดเดาได้ และอาจจะไม่เป็นผลดีต่อตัวของคุณเองในอนาคต
แน่นอนว่า สำหรับคนที่โทร.มาปรึกษา ผมแนะนำให้เขาพูดไปตามความเป็นจริง บอกไปเลยว่า ที่เขาจากไปไม่เกี่ยวกับองค์กร หรือใครในองค์กรทั้งสิ้น แต่เป็นความท้าทายขององค์กรใหม่ ที่ทำให้เขาอยากไปมากกว่า
2.ชี้ให้เห็นว่า แม้ตัวคุณจะไปแล้ว แต่ไม่ได้เป็นการไปลับ ใจของคุณยังคงอยู่กับองค์กรและเพื่อน ๆ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ก่อนที่ตัวจะออกจากองค์กรนั้น ๆ อย่างเป็นทางการ จงบอกและแจ้งให้ผู้บริหาร หรือหัวหน้าของคุณได้ทราบว่า คุณพร้อมที่จะช่วยเหลือองค์กร ถ้าองค์กรต้องการ
ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ หรือรับงานมาทำเป็นแบบชั่วคราว (freelance)
แต่ถ้าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถทำได้ คุณยังสามารถติดต่อพูดคุยกับคนเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสังสรรค์ หรือการติดต่อทาง online อย่าลาออกแล้วออกเลย เพราะในวงการธุรกิจ ไม่ช้าไม่นาน คุณก็อาจจะวนกลับมาเจอกันอีกได้
ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเพื่อนร่วมงานใน ที่ใหม่ หรือนายลูกน้อง หรือแม้แต่กลายมาเป็นลูกค้า
สำหรับผู้ที่โทร.มาปรึกษา ผมแนะนำให้เขาเสนอตัวที่จะช่วยองค์กรเก่า ถ้าองค์กรต้องการผู้บริหาร สามารถโทร.มาสอบถามเขาเป็นการส่วนตัวได้ หรือถ้าต้องการให้เขาช่วยรับงานมาทำที่บ้านบางส่วน ก็ยินดี ผลที่ออกมา ปรากฏว่าผู้บริหารเหล่านั้นประทับใจในตัวเขา ถึงกับแซวว่า อย่าเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์หนีพวกเขาแล้วกัน
3.ยอมรับถึงผลกระทบของงานที่ผู้อื่นจะต้องดูแลแทน การขาดคน ไม่ว่าใครคนใดคนหนึ่งในทีมไป นั่นหมายถึงการเพิ่มงาน ให้กับคนที่เหลืออยู่ อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำ คือการมอบหมายงาน พร้อมทั้งให้แนวทางในการทำงานกับคนที่ต้องดูแลงานต่อจากคุณ (โดยเฉพาะถ้าเขาไม่รู้
อะไรเกี่ยวกับงานของคุณเลย) ในขณะเดียวกัน ก็อย่าแสดงออก หรือพูดมากจนเกินเกี่ยวกับงานของคุณจนทำให้เขา เข้าใจผิดคิดว่า คุณกำลังคิดว่า ถ้าองค์กรขาดคุณไป จะไม่มีใครทำอะไรได้ องค์กรจะล่มสลาย ซึ่งนั่นก็จะไม่เป็นผลดีกับ ตัวคุณเองเท่าไรนัก
ส่วนผู้ที่โทร.มาปรึกษากับผม ตอนนี้เขาได้ย้ายไปทำงานที่ใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก่อนที่เขาจะไป เขาได้สอนน้อง ๆ ในฝ่ายให้สามารถทำงานแทนเขา โดยเฉพาะงานที่มีกำหนดส่ง หรือเสร็จภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า
ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงพอที่ผู้บริหารจะหาพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนได้ เลยทำให้การลาออกครั้งนี้เป็นการจากกันที่สร้างความประทับใจเป็นยิ่งนัก
แล้วตอนนี้คุณตัดสินใจอย่างไรอยู่ ถ้าตัดสินใจที่จะอยู่ทำงานต่อไป ผมก็อวยพรให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ถ้าคุณตัดสินใจที่จะไป ผมก็ขอให้คุณลาจากที่เก่าได้อย่างสวยงามเช่นกันนะครับ
หน้า 29

วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4195  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด