งานใหม่ คนใหม่ จะเข้ากันได้อย่างไร ?


615 ผู้ชม


งานใหม่ คนใหม่ จะเข้ากันได้อย่างไร ?




คอลัมน์ ถามมา-ตอบไปสไตล์คอนซัลท์
โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา [email protected]

หลังจากผ่านฤดูกาลของการย้ายงานมาได้พักหนึ่ง ตอนนี้เป็นฤดูกาลของการปรับตัวของคนที่ได้งานใหม่ "คุณเด็กใหม่" เขียนอีเมล์มาถามผมเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัว เธอเล่าว่า เธอได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานโครงการหนึ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่ายเพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ
แต่ด้วยความเป็นเด็กใหม่ เธอไม่รู้จะทำอย่างไรให้ฝ่ายอื่น ๆ ยอมให้ความร่วมมือกับโครงการนี้
เธอเล่าว่าตอนแรกพยายามที่จะเข้าไปขอความช่วยเหลือแบบตรง ๆ แต่หลายคนไม่ยอมให้ความร่วมมือ คือพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธออกมา แต่ก็ไม่ทำงานให้เช่นกัน โดยอ้างว่างานยุ่งมาก
อย่างที่เรารู้กันดีว่า การเข้าหาคนเพื่อขอความร่วมมือในการทำงานนั้น ขึ้นอยู่กับดวงและฝีมือ ที่บอกว่าดวงเพราะบางครั้งเราอาจจะเจอคนดี เขาก็จะช่วยเราอย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ และที่บอกว่าฝีมือเพราะขึ้นกับวิธีการที่เราเข้าไปขอความช่วยเหลือจากเขาเหล่านั้น
ซึ่งวิธีการขอความช่วยเหลือมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ถ้าจะเอาแบบเห็นผลเร็วและง่ายก็คือการใช้วิธีบังคับ เช่น การบอกถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวของเขาถ้าไม่ให้ความ ร่วมมือ หรือการขออำนาจจากคนที่เหนือกว่าในการสั่งการโดยตรงไปที่คนที่ไม่ให้ความร่วมมือ เป็นต้น
แต่การใช้วิธีการเหล่านั้นดูเหมือนจะทำให้ได้งานก็จริง แต่อาจจะไม่ได้ความสัมพันธ์อย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นหลายคนจึงหันมาใช้วิธีการที่นุ่มนวลกว่า ซึ่งวิธีการ เหล่านี้มันเหมือนศิลปะการโน้มน้าวใจคนอย่างหนึ่ง ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าช่วย
ซึ่งผมมีคำแนะนำในเรื่องนี้แบบง่ายอยู่ 2 อย่างคือ
1.สร้างวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยน-การทำดีกับใครสักคนหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตเขาจะทำดีกับเราตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปช่วยเพื่อนร่วมงานในการทำงานบางอย่างของเขา หรือการสนับสนุนไอเดียที่ดีของเพื่อนร่วมงานในที่ประชุม
แต่การทำดีเหล่านี้ควรจะทำด้วยความจริงใจ อย่าทำดีพร้อมสีหน้าที่ดูถูกเหยียดหยามเขา เพราะการทำความดีด้วยความจริงใจจะเป็นการสร้างเครือข่ายและวัฒนธรรมของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
วิธีการเดียวกันนี้ยังสามารถช่วยในเรื่องของการทำให้ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานดีขึ้นได้
ในทางกลับกัน การขอความช่วยเหลือก็สามารถช่วยได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า หลังจากจบการประชุมที่มีการโต้แย้งกันอย่างรุนแรง และฝ่ายเขาเป็นฝ่ายชนะ เขารีบตามเพื่อนอีกคนหนึ่งที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามไป ไปส่งเขาที่โต๊ะทำงานพร้อมกับขอความช่วยเหลือในเรื่องของคำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือที่เขาควรอ่านเพื่อใช้ในการทำวิทยานิพนธ์
ผลที่ตามมาคือ การให้ยืมหนังสือและ คำแนะนำต่าง ๆ และในโอกาสถัดมาตอนที่เพื่อนผมคนนี้ไปคืนหนังสือ เขาก็ได้หาหนังสือดี ๆ ไปให้เขาคนนั้นอ่านเช่นกัน
จะสังเกตได้ว่า แม้ในตอนต้นจะเริ่มกันมาไม่ดีเท่าไรนัก เขาคนนั้นแพ้ในการโต้เถียงกันในที่ประชุม ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องรู้สึกแย่มากกับเพื่อนของผมคนนี้ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าพวกเขาสองคนเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ
2.หาข้อดีของฝ่ายตรงข้าม-ถ้าคุณต้องการจะเป็นเพื่อนกับใครสักคน หรือพยายามจะเป็นเพื่อนกับใครสักคนที่คุณไม่ค่อยชอบหน้าเท่าไรนัก ลองเริ่มจากการค้นหาข้อดีของเขาดูก่อน หาสิ่งที่คุณชอบเกี่ยวกับตัวเขา
ถ้าแม้ว่าเขาจะทำตัวได้แย่มากในที่ทำงาน แต่อย่างน้อยเขาต้องมีจุดที่คุณชอบได้บ้าง อาจจะเป็นในเรื่องของความสนใจส่วนตัวที่เขาและคุณมีเหมือนกัน เพราะประสบการณ์ของเขาอาจทำให้คุณรู้สึกทึ่ง หรืออาจจะเป็นเรื่องอื่น ๆ ก็เป็นได้
เมื่อคุณหาข้อดีของเขาได้แล้ว ลองคุยกับเขา ชมเชยเขาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น เพราะการที่คุณแสดงให้เขาเห็นว่าคุณชอบบางสิ่งบางอย่างในตัวเขา จะทำให้อุปสรรคที่ขวางกั้นนระหว่างคุณและเขา ค่อย ๆ ลดลง และพังทลายลงในที่สุด
เราต้องเข้าใจว่า คนโดยส่วนมากมักจะรู้สึกปลอดภัย เปิดเผย และเชื่อใจคนที่เขารู้สึกว่าชอบในตัวเขา
ซึ่ง 2 วิธีการนี้เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้ในการสร้างความสัมพันธ์ และการขอความร่วมมือ ผมหวังว่า "คุณเด็กใหม่" จะลองนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติดู เผื่อบางทีอาจได้เพื่อนร่วมงานใหม่ตรึม
หน้า 25

วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4197  ประชาชาติธุรกิจ


อัพเดทล่าสุด