อดทน...ภูมิคุ้มกันเบื้องต้น
คอลัมน์ สอนลูกอย่างไรให้เป็นนักบริหาร
โดย สุจินต์ จันทร์นวล [email protected]
ตั้งแต่ลูกเริ่มชีวิตการทำงาน เมื่อมีโอกาสมักจะถามไถ่ถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้ว่าสถานการณ์ของเขาเป็นอย่างไร ภาวะความรู้สึกเป็นอย่างไร ปีแรก ๆ ก็ดูเต็มไปด้วยไฟของคนหนุ่ม กระตือรือร้น กระปรี้กระเปร่า สนุกกับงานเต็มที่ ทุกอย่างไปได้สวย เจอกับนายที่ดี ทั้งสอน ทั้งเป็นโค้ช เป็นพี่เลี้ยง ให้โอกาส ปกป้องและสนับสนุน เขาเองก็ไม่ได้ทำให้นายผิดหวัง
จนกระทั่งนายเขาได้โปรโมตเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปอีก ต้องไปรับผิดชอบงานที่อื่น ผู้ช่วยของนายได้ขึ้นมารั้งตำแหน่งแทนในลักษณะรักษาการ ไม่ได้รับการ แต่งตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ก็เริ่มสังเกตความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของลูกได้ เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์กับรักษาการหัวหน้าคนใหม่ที่เคยไล่บี้เขาบ่อย ๆ ตอนที่นายเก่ายังอยู่ ซึ่งอดีตนายก็คอยปกป้องให้ทุกครั้ง
เขาเริ่มมีเรื่องในทางลบเกี่ยวกับว่าที่ ผู้จัดการคนนี้มาเล่าให้ฟังอยู่บ่อย ๆ ประเด็นก็มักจะเป็นแง่มุมการเปรียบเทียบกับอดีตนายที่เขาเคารพนับถือ และมักจะปนเปมากับความผิดหวังของเขา จนบางครั้งก็รู้สึกไม่เข้าใจในพฤติกรรมและการแสดงออกของอีกฝ่าย
บางจังหวะต่อหน้าผู้ใหญ่ในที่ประชุม ก็ดูเหมือนว่าเขาให้เครดิตลูกน้องคนนี้ ไม่ต่างจากนายคนเก่า แต่เมื่อพูดกันตามลำพังก็เป็นหนังคนละม้วน คือนอกจาก ไม่สนับสนุนแล้วยังมาในแนวดึงและกดไว้ด้วยคำสั่งและสไตล์สกัดดาวรุ่ง
แต่เหตุการณ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างเขากับรักษาการนายคนนี้ก็อยู่ในสายตาทุกคน แม้แต่แผนกอื่นที่อยู่ในฟลอร์เดียวกัน ก็เกิดอาการเห็นอกเห็นใจเขา พากันช่วยกันปลอบใจเขาถึงขนาดมีแผนกหนึ่งแสดงความจำนงอยากได้เขาไปร่วมงานด้วย จากผลงานของเขาที่โดดเด่น จากการให้โอกาสของอดีตนาย
มีการพูดทาบทามทั้งในแบบทีเล่นทีจริงเพื่อหยั่งว่าเขาจะอยากขอย้ายไปไหม ทั้งเป็นการส่วนตัวและการพูดเปรย ๆ ในที่ประชุม ต่อหน้าผู้บริหารระดับสูง ช่วงนั้นลูกก็เอาปัญหานี้มาปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรดี ก็ถามลูกไปว่า
"ลูกคิดว่าอย่างไรล่ะ เอาละ...สมมติว่าไม่มีพ่อจะถาม จะปรึกษาด้วย จะต้องคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง เรื่องนี้จะหาทางออกอย่างไร ?"
"ความจริงผมชอบงานที่ผมทำนะ และผมคิดว่าผมทำได้ดีด้วย มันยังมีอะไรอีกเยอะที่คิดไว้ว่าจะทำ แต่ยังไม่ได้ทำ อยากทำเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดของผมถูกต้อง ที่มันรบกวนใจและความรู้สึกก็คือคนคนเดียวนี่แหละมันทำให้ผมทำงานยาก ความเห็นและแนวคิดมันดูจะไม่ตรงกันเอาเสียเลย พยายามทำแบบที่พ่อสอนมันก็ไม่ค่อยจะเวิร์กเท่าไร น่ากลัวว่ายังต้องฝึกอีกเยอะ ความรู้สึกมันแย่นะ พยายามทำใจให้ยอมรับเขานะ แต่เขาก็ทำแย่ ๆ จนอย่าว่าแต่ผมเลย คนอื่น ๆ เขาก็รู้สึกแบบเดียวกับผมนั่นแหละ คือรับไม่ได้"
"เข้าตำรารักพี่เสียดายน้องล่ะสิ แล้วแผนกที่เขาคิดจะเอาเราไปล่ะ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาเป็นอย่างไร คนที่มาชักชวนน่ะเป็นใครระดับไหน"
"โอ้ย ผมเข้ากับพวกเขาได้ทุกระดับเลย ยิ่งกับรุ่นพี่ที่เป็นรองหัวหน้าที่นั่นยิ่งสนิทกันมาก คนที่ชวนก็มีทุกระดับเลยพ่อ ผู้จัดการก็เป็นคนออกปากเองด้วยว่าให้ไปอยู่กับพี่ ดีกว่า"
"เวลาที่พวกเขาถาม ลูกตอบพวกเขาว่าอย่างไรล่ะ ?"
"ผมก็ไม่ได้พูดอะไรมาก ก็แค่ทำท่าอยากไป แต่ก็บอกว่า แล้วใครจะทำหน้าที่ ที่ผมทำล่ะ น้อง ๆ ยังรับงานนี้ไม่ได้เลย ยอดขายในแถบนี้ยิ่งสู้แถบอื่นไม่ได้อยู่ด้วย"
"ก็ตอบได้ดีลูก เห็นไหมว่าบางครั้งการพูดความจริงน่ะมันไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย ไม่ต้องไปคิดอะไรมากด้วย เพียงแต่ใช้คำพูดให้เป็นเท่านั้น ทำได้ดีลูก เอาล่ะ... พ่อพอจะเดาออกว่า ความท้าทายของงานมันก็ยังแรงอยู่ในใจลูก มันมีแค่คนคนเดียวที่รบกวนสมาธิอยู่เท่านั้น ลองคิดอย่างนี้นะลูก
ไอ้การจะย้ายหรือไม่ย้าย ลูกไม่มีสิทธิที่จะทำได้ หรือหากมีสิทธิก็ไม่ควรทำเพราะผู้ใหญ่จะมองว่า แค่เจอหัวหน้าคนละสไตล์ก็ทำงานไม่ได้แล้ว น่าจะเปราะบางเกินไป ความอดทนไม่มี และการปรับตัวมีปัญหา คนที่เป็นแบบนี้จะให้ทำงานใหญ่ขึ้น หรือดันให้สูงขึ้นลำบากแน่ ดังนั้นจะย้ายหรือไม่ย้ายปล่อยให้พวกผู้ใหญ่เขาว่ากันเอง ส่วนเราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานของเราไปให้ดีที่สุด
วิธีที่จะปรับตัว ปรับความรู้สึกให้สามารถทำงานกับว่าที่นายคนนี้ให้ได้ มันอยู่ที่แนวคิดและใจของเราเอง พ่อจะเล่าอะไรให้ฟัง พ่อน่ะเจอกับสถานการณ์แบบนี้มาตลอดทางตั้งแต่เริ่มทำงานในทุกระดับ มีลูกน้องก็มีทั้งที่ชอบเราไม่ชอบเรา มีเพื่อนร่วมงานก็มีทั้งที่จริงใจและไม่จริงใจ มีนาย มีผู้ช่วยนาย มีรองนาย ก็มีทั้งที่ดีกับเรา หรือเกลียดขี้หน้าเรา
สถานการณ์ที่ลูกเจออยู่ขณะนี้ พ่อเคยเจอมาแล้ว บ่อยเสียด้วย ยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไรก็ยิ่งเจอ คนที่พร้อมจะหนุนเรากับคนที่จ้องจะโค่นเรา คิดดูว่ามันจะหนักหนาขนาดไหนเมื่อพ่อเป็นมือปืนรับจ้างเข้าไปคนเดียวในระดับสูง ซึ่งบางทีก็มีระดับสูงอยู่ตั้งหลายคน ล้วนแต่มีก๊กมีก๊วนของตัวเอง พ่อหลุดเดี่ยวเข้าไป มือเปล่า คิดดูว่าพ่อจะทำงานได้ยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหน แต่พ่อก็จะต้องทำงานให้สำเร็จให้ได้ คำว่าถอยไม่มีในพจนานุกรมของพ่อ มีแต่บุกและสู้ลูกเดียว
ไม่ต้องรอนานสักเท่าไร คนที่จะสกัดพ่อก็จะแสดงตัวออกมาเอง พ่อก็จัดวางแยกประเภทของคนคนนั้นไว้ในใจทันที โอเคนี่คือคนที่เราต้องระวัง ฉะนั้นก็จะตั้งการ์ดไว้อย่างรัดกุม เรียกว่าป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายเล่นงานพ่อได้ถนัดนัก นิด ๆ หน่อย ๆ พ่อก็ไม่ว่าจะเก็บอาการไว้ แต่หากแรงขึ้น ๆ จนเห็นว่าขืนไม่ทำอะไรพ่อก็จะเสียชื่อเสียเครดิต พ่อถึงจะตอบโต้ แต่จะเป็นการตอบโต้เพื่อป้องกันตัวเท่านั้น ไม่มีการโจมตีให้ย่อยยับกันไปข้าง
แต่ในการตอบโต้มันต้องมีศิลปะ มีแท็กติก คือทำให้คนอื่น ๆ เห็นว่าพ่อถูกรังแกก่อนนะ และพ่อก็อดทน จังหวะที่ตอบโต้มันจะตรงกับความรู้สึกคนอื่น ๆ ที่มองอยู่ว่ามันเป็นความจำเป็นที่จะต้องทำแล้ว หรือแปลว่าพ่อจะได้รับความเห็นใจจากคนดู และพ่อจะเป็นฝ่ายถูก เป็นพระเอกในสายตาคนดู ยิ่งมาตรการตอบโต้ของพ่อทำให้อีกฝ่ายหน้าหงายไปแบบหมดรูปได้ คนดูก็จะยิ่งชอบใจ
ถ้าเขาไม่ยุ่งกับพ่ออีก ทุกอย่างก็เป็นปกติ พ่อจะไม่เอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ ลืม ๆ มันเสีย รักษาสัมพันธภาพให้มันราบรื่น พยายามทำงานร่วมกันให้มีปัญหาน้อยที่สุด ส่วนในใจและความรู้สึกนั้น พ่อก็คิดว่า เอาล่ะ...ทีนี้จะมาไม้ไหนกับพ่ออีก จะคอยดู นึกสนุกด้วยซ้ำว่าคราวนี้ต้องมาให้ลึกซึ้งและมีชั้นเชิงกว่าเก่านะ คือคิดแบบนี้แล้วพ่อก็ไม่มีอะไรมารบกวนความรู้สึก คอยแต่นึกว่ามาไม้ไหนพ่อก็จะเอาชนะให้ได้ คนอื่นเขาเห็นว่ามันเป็นความกดดัน แต่พ่อกลับรู้สึกว่ามันน่าสนุกและท้าทาย"
"พ่อกำลังจะบอกว่า ผมต้องปรับเปลี่ยนความคิดใหม่กับคนคนนี้ พยายามรับมือเขาให้ได้ ในความรู้สึกอย่างพ่อคือเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย"
"ถูกต้องลูก จำไว้นะปัญหาแบบนี้คือ บททดสอบเบื้องต้นของคนที่คิดจะเอาดีทางสายบริหาร เพราะอุปสรรคแบบนี้ก็คืออุปสรรคพื้นฐานที่ทุกคนทำงานต้องเจอ คิดดูแล้วกันหากคนคนหนึ่งจะทำงานได้ก็เฉพาะต้องเจอนาย เจอหัวหน้าที่ตัวเองชอบ ถ้าไม่ชอบก็ทำไม่ได้ แปลว่าคนคนนั้นใช้อารมณ์ในการทำงาน ไม่ได้ใช้เหตุผล หรือเข้าถึงความเป็นจริงของสังคม เท่ากับเข้ากับคนยาก แฮนเดิลความแตกต่างของคนไม่เป็น มันจะไปทำอะไรได้
ในทางตรงกันข้าม มันจะต้องทำได้ เดินได้ในทุกสถานการณ์ มันต้องรู้จักปรับตัว ปรับความคิด ปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ ยอมรับเงื่อนไขที่หลีกเลี่ยง ไม่ได้ ความท้าทายคือต้องฝ่า ต้องเอาชนะให้ได้ ไม่ใช่การยอมแพ้หรือหนี
หากเราไม่ได้อยู่ในฐานะที่เลือกนายได้ ก็ต้องทำใจว่านายแบบไหนเราก็ต้องไปกับเขาให้ได้ เราปรับเปลี่ยนเขาไม่ได้ แต่เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเราให้ได้ นั่นคือคำตอบ"
"พ่อพูดฟังดูไม่ยากนะ แต่ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าผมจะทำได้สักแค่ไหน"
"ใจเย็น ๆ ลูก ตั้งใจให้ดี พ่อเชื่อว่าผู้ใหญ่และทุกคนในระดับบนเขากำลังมองลูกอยู่ว่าลูกจะทำตัวอย่างไรในเงื่อนไขสถานการณ์ขณะนี้ พ่อจะบอกให้ พ่อก็เคยทดสอบลูกน้องในสภาพนี้มาเหมือนกัน ดูซิว่าจะอดทน จะอึดขนาดไหน มันคือการทดสอบความแข็งแกร่งของจิตใจ และจะหาทางคลี่คลายอย่างไรถ้าลูกผ่านช่วงนี้ไปได้ รับรองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่สำหรับเส้นทางของลูก"
หน้า 31
วันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4198 ประชาชาติธุรกิจ