P-PAC ถอดรหัสสมอง ค้นหาศักยภาพ สร้างสมดุล คน-งาน
มุมมองของ "ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อาจไม่แตกต่างจากซีอีโอองค์กรอื่น แต่สิ่งที่ต่างคือกุนซือเซเว่น
อีเลฟเว่นไม่ได้หยุดทุกอย่างไว้ที่ความคิด แต่พยายามค้นหาแนวทางในการทำให้ พนักงานทำงานอย่างมีความสุข
"ก่อศักดิ์" ย้อนให้ฟังถึงห้วงเวลา อันยิ่งใหญ่ว่า ในช่วงปลายปี 2550 ซีพี ออลล์ได้มีโอกาสเดินทางไปแข่งหมากล้อมอุดมศึกษาและเอเชี่ยนโกะทัวร์นาเมนต์ที่จังหวัดขอนแก่น ได้พบกับอาจารย์ เหลียนอี้ว์ซิง ผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งมีประสบการณ์ในการค้นคว้าวิจัยเรื่องลายผิววิทยากับศักยภาพของมนุษย์มา 10 กว่าปี สะสมฐานข้อมูลจากการวิจัยกรณีศึกษามากมาย หลังจากได้พูดคุยจึงสนใจบุกไปพิสูจน์ถึงสำนักงานที่ไต้หวัน
จากวันนั้นศาสตร์ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในสายตา "ก่อศักดิ์" ก็เริ่มเปลี่ยนไป มองประโยชน์ในลักษณะที่ เชื่อมโยงการฝึกอบรมพนักงาน การบริหารและการสื่อสารในองค์กรไปพร้อม ๆ กัน
หลังจากนั้นไม่นาน "ศูนย์วิเคราะห์ศักยภาพปัญญาธารา" หรือ "P-PAC" (Panyatara Potential Analysis Center) ก็ก่อกำเนิดขึ้นภายใต้ชายคาของ "ซีพี ออลล์" และพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนวันนี้ลูกค้าจองคิวขอรับบริการยาวเหยียด
หลายคนอาจสงสัยและตั้งคำถามในใจว่า การวิเคราะห์ด้วยลายนิ้วมือจะเหมือนกับหมอดูลายมือหรือเปล่า
คำตอบคือไม่ใช่ เพราะหมอดูจะดูลายมือจากเส้นที่เป็นร่องลึกลงไปในผิว แต่การวิเคราะห์ในศูนย์แห่งนี้จะเก็บข้อมูลจากลายนิ้วมือหรือลายผิวที่นูนขึ้นมาบนฝ่ามือและฝ่าเท้า ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "Dermatoglyphics" เป็นศาสตร์ที่ผ่านการค้นคว้าทางการแพทย์มากกว่า 100 ปี
ซีอีโอซีพี ออลล์บอกว่า กระบวนการ ตั้งศูนย์วิเคราะห์ศักยภาพ software และ hardware นั้นเตรียมไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากที่สุด คือการเตรียม humanware เพราะหัวใจสำคัญของการวิเคราะห์อยู่ที่นักวิเคราะห์ศักยภาพที่ต้องมีทักษะความรู้ มีบุคลิกที่เหมาะสมและยึดมั่นในจริยธรรม
จากอาสาสมัคร 30 กว่าคนในวันแรก ผ่านเข้าด่านสุดท้าย ยกระดับเป็นนักวิเคราะห์มืออาชีพ เข้ามาบุกเบิกโครงการเพียง 9 คนเท่านั้น
"จักษ์ ลีละเทพาวรรณ" ผู้จัดการ ศูนย์วิเคราะห์ศักยภาพปัญญาธารา เล่าว่า คุณก่อศักดิ์มองเห็นคุณค่าของคนจึงให้ความสำคัญในเรื่องการวิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพของบุคคล หลังจากที่พบว่าลายผิววิทยาเป็นการศึกษาความเชื่อมโยงของการทำงานของสมองและลายผิวมือที่มีงานวิจัยสนับสนุนมากมายและเป็นที่ยอมรับมากว่า 200 ปี จึงก่อตั้ง P-PAC ขึ้น
"ทุกคนเกิดมาจะมีความเก่งติดตัวมา 8 อย่าง แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งลายผิววิทยาไม่ได้บอกว่าคนคนนั้นเก่งหรือไม่เก่ง แต่บอกว่ามีศักยภาพในการพัฒนาด้านใดดีกว่ากัน เพราะต่อให้เขาเก่ง แต่ถ้าไม่ได้รับการพัฒนาให้ถูกทิศถูกทาง ศักยภาพตรงนั้นก็จะไม่มีโอกาสแสดงออกมาได้ แต่ถ้าเรารู้ว่าตัวเองโดดเด่นด้านใด รูปแบบและลักษณะการเรียนรู้เป็นอย่างไร ก็จะผลักดันตัวเองไปได้ตรงจุด"
"หลังจากที่เซเว่นอีเลฟเว่นขยายสาขาไปกว่า 10,000 สาขา คุณก่อศักดิ์ก็มาบอกว่า เราน่าจะทำอะไรให้กับคนในสังคมได้ มากขึ้น ทำให้คนทำงานมีความสุขมากขึ้น บางคนถูกพ่อแม่บังคับให้เรียนแพทย์ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ถนัด แต่ก็เรียนไป พอจบก็ไปทำงานด้านศิลปะ ลักษณะนี้ทำให้เกิดความเสียหาย ตรงนี้จะเป็นอาวุธให้กับลูก ๆ ในการต่อสู้กับความคิดของพ่อแม่"
"จักษ์" บอกต่อว่า ศูนย์ P-PAC เริ่มเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการแก่ พนักงานภายในและภายนอกองค์กรในช่วงต้นปี 2552 ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 1,500 ราย
ลายผิววิทยาแม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย แต่ด้วยความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ลูกค้าต่างบอกต่อ ศูนย์ P-PAC จึงได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี ในวันนี้ P-PAC ได้นำเรื่องลายผิววิทยามาประยุกต์กับ competency แล้วเปิดให้บริการอีกรูปแบบหนึ่ง ขายเป็นแพ็กเกจ เช่น องค์กรแห่งหนึ่งต้องการรับนักข่าว กำหนด competency ไว้ 5 ข้อ ทางศูนย์จะจัดการคัดเลือกให้ ตรงนี้จะช่วยให้การสรรหาคนตรงกับงาน ที่เรียกว่า Put the right man on the right job เพราะคุณก่อศักดิ์มักพูดเสมอว่า ถ้าคนได้ทำงานที่ตัวเองชอบ ตัวเองถนัด เขาก็จะรักในงานนั้นแล้วมีความสุข พลังในการทำงานก็มีสูง งานที่ออกมาก็มีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่าอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ การสร้างการยอมรับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในช่วงทดลองโครงการ ซีพี ออลล์จึงได้จัดตั้ง "ศูนย์อพยพ" ขึ้น เป็นโครงการสำหรับช่วยค้นหาศักยภาพในตัวของพนักงาน สำหรับ พนักงานบางคนที่อาจจะทำงานในสายงานที่ตนเองไม่ถนัดเลยทำงานได้แบบไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงร้องขอให้ผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วยงานส่งรายชื่อพนักงานใน หน่วยงานที่เห็นสมควรส่งเข้าศูนย์อพยพ
วันนี้พนักงานกลุ่มแรก 8 คนที่ถูกส่งเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพ ต่างขอบคุณองค์กรที่ทำให้เขารู้จักตนเอง และทำงานที่ใช่ ทำให้เขามีความสุขในชีวิตการทำงาน หลังจากเดินหลงทางมาเกือบค่อนชีวิต
ผู้จัดการศูนย์ P-PAC บอกต่อไปว่า ประโยชน์ของการวิเคราะห์ลายผิวมิได้จำกัดเฉพาะในงาน HR (human resource) เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถที่จะใช้บริการเพื่อค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น เพื่อวางแผนชีวิตของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
เรื่องของลายผิววิทยานอกจากจะสามารถนำมาใช้ในงานทรัพยากรบุคคลและการศึกษาแล้ว ยังสามารถใช้ในการตรวจสอบความผิดปกติของระบบประสาท เนื่องจากลายผิวบนฝ่ามือฝ่าเท้ามีความสัมพันธ์กับโครโมโซมและการพัฒนาของสมองในช่วงที่อยู่ในครรภ์ นอกจากนั้นในช่วงที่ผ่านมามีการศึกษาและยอมรับกันในทางการแพทย์ว่าลายผิววิทยาสามารถช่วยบ่งชี้โรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
"พรวิทย์ พัชรินทร์ตระกูล" ที่ปรึกษาศูนย์ P-PAC กล่าวว่า ในปัจจุบันเครื่องมือในการวัดศักยภาพคนนั้นมีมากมาย เรื่องของลายผิววิทยาก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละคนมีความโดดเด่นด้านไหน เพราะเส้นที่เป็นเส้นนูนจะเป็นเส้นที่อยู่ถาวรตั้งแต่เกิด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในโลกใบนี้ไม่มีใครที่มีเส้นซ้ำกันเลย ทางไต้หวันได้มีการเก็บตัวอย่างคนมากกว่า 4 แสนคน โดยเอาเรื่องของบุคลิกภาพมาผนวกเข้ากับความสามารถ แล้วผนึกเข้ากับเส้นที่ปรากฏคำนวณออกมาในรูปของสถิติ แล้วเขียนออกมาเป็นรายงาน
ประเด็นหลักที่จะได้รับทราบจากผลการ วิเคราะห์ศักยภาพ เรื่องแรกคือ ลักษณะความเป็นตัวตน เรื่องที่สอง บุคลิกภาพ เรื่องที่สาม ลักษณะงานที่เหมาะสม เรื่องที่สี่ ศักยภาพโดดเด่นที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เรื่องที่ห้า ลักษณะการเรียนรู้ เรื่องที่หก วิธีที่เหมาะสมในการเรียนรู้
เรื่องสุดท้ายคือ ข้อควรระวังหรือข้อแนะนำในการใช้ชีวิต เช่น สิ่งที่จะช่วย ส่งเสริมศักยภาพที่โดดเด่นให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยการเรียนรู้ การฝึกอบรมเฉพาะทาง
อาจารย์เหลียนได้เปรียบเทียบลักษณะบุคลิกภาพและพฤติกรรมหลักของมนุษย์ โดยใช้ลักษณะของนก 5 ประเภทเป็นตัวแทนบุคลิกหลัก ได้แก่
1.นกเหยี่ยว เน้นผลลัพธ์ ควบคุมเป้าหมาย ต้องการความชัดเจนตรงประเด็น
2.นกห่านป่า เน้นการทำตามมาตรฐาน มีความระมัดระวังเคารพกติกา ใส่ใจในคุณภาพและรายละเอียด
3.นกยูง เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ชอบแบ่งปันใส่ใจในภาพลักษณ์ มีชีวิตชีวา ชอบให้ความร่วมมือ
4.นกกระจอกเทศ เน้นการทำงานด้วยความอดทน ไม่ชอบบรรยากาศความขัดแย้ง มีความกลมเกลียวอ่อนโยน ให้ความร่วมมือกับทีม
5.นกแก้ว เน้นการปรับตัวและ การบูรณาการข้อมูล ชอบการเปลี่ยนแปลง หลีกเลี่ยงการตัดสินใจในทันที
นกทั้ง 5 ชนิดเป็นสัญลักษณ์แนวโน้มในการแสดงออกเชิงพฤติกรรม แบ่งเป็นการกำหนดเป้าหมาย จุดยืนและคุณค่าของ ตัวตน วิธีการทำงาน การวางแผนการตัดสินใจ และการผูกสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น นกยูงมักจะเป็นผู้ริเริ่มเข้าไปแนะนำตัวเอง นกกระจอกเทศจะหลบมุมในงานเลี้ยง หรือนกแก้วจะสนุกสนานอารมณ์ดี ฯลฯ
คนส่วนใหญ่จะมีนกตัวหลักและนกตัวรอง ประกอบ 1-4 ตัวเพิ่มความซับซ้อนในบุคลิกภาพ
การที่ผลวิเคราะห์ออกมาว่าเป็น ประเภทใด ก็ไม่ได้ความว่าคนคนนั้นจะมีคุณลักษณะเดียวในตัว เช่น ผลวิเคราะห์ออกมาว่าเป็น "เหยี่ยว" ก็ไม่ได้หมายความว่าเหนือกว่า "นกกระจอกเทศ" เพราะนกแต่ละประเภทนั้นเป็นเพียงตัวแทนบุคลิกของแต่ละคน ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ว่าคนคนนั้นเก่งกว่าคนนี้ แต่จะทำให้เรารู้ว่าเด็กคนนี้เราควรส่งเสริมไปในด้านไหน พนักงานคนนี้เหมาะกับงานในตำแหน่งไหน บางคนเหมาะกับการเป็นเซลส์ แต่บางคนเหมาะกับการทำงานบริหาร
วันนี้หากคุณยังค้นหาตัวเองไม่เจอ หรือไม่แน่ใจว่าเดินมาถูกทางหรือไม่ ลองแวะไปใช้บริการที่ศูนย์วิเคราะห์ศักยภาพปัญญธารา แล้วจะรู้ว่าความสำเร็จในชีวิตอยู่ใกล้แค่เอื้อม
หน้า 31
วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4178 ประชาชาติธุรกิจ