เรียนอย่างไร ? จึงจะมีงานทำ


663 ผู้ชม


เรียนอย่างไร ? จึงจะมีงานทำ




เพราะเหตุใดบัณฑิตใหม่จึงตกงาน ทั้ง ๆ ที่ความต้องการของตลาดนั้นมหาศาลโดยเฉพาะภาคการผลิต
สัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.ส่งศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยภายหลังเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นว่า จากสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในขณะนี้ ยอมรับว่าทำให้ภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทเริ่มขาดแคลนแรงงาน เพราะแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเมื่อปีที่แล้วพบทางเลือกใหม่หลังกลับสู่ภาคการ เกษตร ขณะที่แรงงานที่จบใหม่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมน้อยลง
แม้ว่ารองอธิบดีกรมการจัดหางาน จะยืนยันว่าสถานการณ์ในปัจจุบันแรงงานยังไม่ขาดแคลนมากถึง 4-5 แสนคนตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยออกมาระบุ เพราะเชื่อว่าตัวเลขนี้อาจเป็นความต้องการแรงงานในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของแรงงานไทย ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ซึ่งอีกไม่นานแรงงานกลุ่มนี้จะเข้าสู่วัยเกษียณอายุ ซึ่งตามปกติแล้วจะมีแรงงานใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่เป็นที่น่ากังวลว่าแรงงานช่วงอายุ 25-39 ปีมีปริมาณน้อยมาก และคาดว่าจะลดลงทุกปีซึ่งเป็นผลจากการคุมกำเนิดที่ได้ผล และในปี 2552 ที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มดังกล่าวหายไปจากระบบกว่า 200,000 คน
ซึ่งจากผลวิจัยแนวโน้มความต้องการแรงงานในปี 2553-2557 โดยกองวิจัยตลาดแรงงาน พบว่าความต้องการแรงงานไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในภาคการผลิตทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีความต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 38 ล้านคน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากกำลังแรงงานทดแทนที่มีอยู่ไม่สามารถทดแทนกำลังแรงงานของ ผู้สูงอายุที่กำลังจะเกษียณอายุได้
เรียนอย่างไร ? จึงจะมีงานทำ


หากสถานการณ์แรงงานไทยยังไม่ดีขึ้น ภาคการผลิตทั้งหมดโดยเฉพาะอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวโดยเพิ่มการใช้เทคโนโลยีการผลิตแทนแรงงานคนให้มากขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้คนน้อย แต่มีการใช้เทคโนโลยีสูง ไม่เช่นนั้นสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขยาก ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี
ด้าน นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวยอดการส่งออกย่อมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานในการผลิตมากขึ้น ในขณะที่จำนวนแรงงานยังคงเท่าเดิมและมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ทำให้สถานการณ์แรงงานระดับล่างอยู่ในภาวะตึงตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาใช้แรงงานต่างด้าวแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลน
เกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้างแรงงาน ในแต่ละปีสถาบันอุดมศึกษาไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง จะผลิตบัณฑิตออกมาปีละเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรีประมาณ 1,000,000 คน แต่บัณฑิตใหม่เหล่านี้ต้องประสบกับปัญหาการหางานทำหรือการว่างงานเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และนายจ้าง ว่าทำอย่างไร ? นักเรียนนักศึกษาที่กำลังตัดสินใจว่าจะเรียนอะไร ? หรือเรียนอย่างไร ? แล้วมีงานทำในยุคของการแข่งขันสูง "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจึงได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจำนวน 2,157 คน (น.ร./น.ศ. 1,029 คน 47.71% ผู้ปกครอง 621 คน 28.79% ครู/อาจารย์ 383 คน 17.76% และนายจ้าง 124 คน 5.74%) ระหว่างวันที่ 14-18 มกราคม 2553 สรุปผลได้ดังนี้
เหตุผลของผู้สำเร็จการศึกษาในการเลือกหางานทำในเรื่องของการใช้ความรู้ความสามารถตรงกับที่เรียนมา มีอิสระ ในการทำงาน ภาพรวมให้ความสำคัญสูงสุดถึง 34.51%
รองลงมาเป็นเรื่องของชื่อเสียง ความมั่นคง ความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ไปทำงานด้วยจะต้องเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ร้อยละ 26.88%
เรื่องของเงินเดือน โบนัส สวัสดิการ โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพตามมาเป็นอันดับสาม 23.96%
ที่บอกว่าเป็นความต้องการของครอบครัว และเลือกเพราะใกล้บ้าน เดินทางสะดวก มีจำนวน 9.49% และ 5.16% ตามลำดับ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ "ผู้สำเร็จการศึกษา" ไม่มีงานทำ (ไปสมัครแล้วไม่ได้รับเลือก) อันดับแรก 25.35% มาจากการที่นายจ้างหรือหน่วยงานยังยึดติดอยู่กับสถาบันการศึกษาที่จบ ประกอบกับบุคลิกลักษณะของผู้หางานไม่ตรงกับที่องค์กรต้องการ
สาเหตุที่ 2 เนื่องมาจากนักศึกษาไม่สามารถทำงานได้ตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ ร้อยละ 21.27%
สาเหตุที่ 3 เป็นเพราะนักศึกษาส่วนใหญ่เก่งทฤษฎีแต่ไม่เก่งปฏิบัติ 20.00%
สาเหตุที่ 4 อ่อนภาษาอังกฤษ และสื่อ IT ขาดความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเลข วิเคราะห์ระบบ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 19.55%
สาเหตุที่ 5 สาขาที่จบมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด 13.83%
ในส่วนของสาขาวิชาที่คิดว่าสามารถหางานได้ง่ายหรือเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนักศึกษา ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ นายจ้างเห็นตรงกันว่าเป็นแพทย์/พยาบาล 27.55%
รองลงมาเป็นคอมพิวเตอร์ 25.62% ตามด้วยบัญชี/การตลาด 18.56% บริหาร/การจัดการ 16.70% นิติศาสตร์/รัฐศาสตร์ 11.54%
เมื่อถามต่อว่า "เรียนอย่างไร ?" จึงจะมีงานทำ
23.52% ระบุว่าต้องเก่งทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เมื่อจบแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงานได้จริง
22.92% รู้ว่าตัวเองรักหรือชอบอะไร วางแผนล่วงหน้าดูสถานการณ์ปัจจุบัน ติดตามข่าวตลาด
20.34% ดูความต้องการของตลาดว่าต้องการนักศึกษาที่จบสาขาใด และเลือกเรียนตามนั้น
19.51% บอกว่าต้องตั้งใจเรียน ทำคะแนนให้ดี มีความสามารถโดดเด่นอยู่ในเกณฑ์ที่ตลาดต้องการ
13.71% เห็นว่าระหว่างเรียนต้องทำกิจกรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างทักษะการทำงานร่วมกันหรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
วันนี้คงถึงเวลาแล้วที่นายจ้างผู้ใช้ประโยชน์จากแรงงานไทยจะต้องมานั่ง จับเข่าคุยกับผู้ผลิตบัณฑิตเพื่อปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการพัฒนาประเทศไทยยังไปคนละทิศละทาง ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุด ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยยังไปไม่ถึงฝัน
หน้า 30

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4179  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด