ทำไมไม่ให้เรารู้เงินเดือนลูกน้อง
คำถาม
ดิฉันได้ย้ายมาจากบริษัทอื่น มาอยู่กับริษัทปัจจุบันในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด เท่าที่ผ่านมาดิฉันจะทราบเงินเดือนของลูกน้องที่ดูแลทุกคน และดิฉันก็เชื่อว่า ถ้าเราไม่ทราบเงินเดือนของผู้ใต้บังคับบัญชา ก็อาจเป็นไปได้ว่า ใช้คนเงินเดือนน้อยกว่า ทำงานยากและหนักกว่า คนที่ได้รับเงินเดือนมากกว่า ซึ่งเป็นการยากที่จะสร้างแรงจูงใจในการทำงานแก่ผู้บังคับบัญชา แต่พอมาที่นี่ เขากลับไม่ให้หัวหน้ารู้เงินเดือนลูกน้องเลย เพราะถือว่าเป็นสิทธิเฉพาะของผู้บริหาร และฝ่ายบุคคลที่จะดูแลเอง ดิฉันเองไม่เห็นด้วย แต่เนื่องจากเป็นคนใหม่ก็ยังอยากดูๆไปก่อน ก็เลยอยากขอความเห็นจากคุณดิลกว่า หลังจากผ่านทดลองงานแล้วดิฉันควรเข้าไปคุยเสนอผู้ใหญ่หรือไม่ว่าขอรู้ข้อมูลเงินเดือนลูกน้องเพื่อประโยชน์ต่อการบริหาร และอยากทราบว่าคุณดิลกคิดว่าอย่างไรกับเรื่องนี้ คิดว่าอย่างไหนดีกว่ากันระหว่างระบบที่ให้หัวหน้ารู้กับระบบที่ไม่ให้หัวหน้ารู้- สีทนได้
คำตอบ
เรื่องที่คุณสีเขียนถามมา ถึงตอนท้ายคุณสีจะถามผมเพียง 2 ข้อคือ การเข้าไปขอรับทราบเงินเดือน กับเรื่องที่ว่ารู้หรือไม่รู้เงินเดือนลูกน้องจะดีกว่ากัน แต่เมื่อดูจากคำถามทั้งหมดที่ถามมา ผมเห็นว่ามีบางเรื่องที่ผมอยากจะให้ความเห็นเพิ่มเติมกับมุมมองของคุณสี เพื่อจะได้เห็นภาพทั้งหมดที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเรื่องที่ผมอยากจะให้ความเห็นคือเรื่องที่คุณสีบอกว่า การไม่รู้เงินเดือน อาจจะทำให้เราใช้คนเงินเดือนน้อยมากกว่าคนเงินเดือนมาก ตรงนี้ผมมองว่า เรากำลังปนกันระหว่างคนที่มีความสามารถสูง กับ คนที่เงินเดือนสูง ที่ผมบอกว่าปนกันเพราะว่า การที่คนในองค์กรได้เงินเดือนสูง บางครั้งไม่ได้แปลว่าคนนั้นมีความสามารถสูงเสมอไป เพราะเหตุผลของการได้เงินเดือนสูงอาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น ระบบการขึ้นงินเดือนไม่สะท้อนผลงานแท้จริง หรืออาจให้ความสำคัญกับอาวุโสมาก หรือโครงสร้างเงินเดือนไม่มีการกำหนดเพดานอย่างเหมาะสม แต่ในขณะที่คนมีความสามารถสูง เราจะมองจากสองด้านหลัก คือ ด้านที่เป็นศักยภาพ กับด้านที่เป็นผลการทำงาน โดยด้านศักยภาพเราจะมองที่ความสามารถในการรับงานที่ยากขึ้น ที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน เป็นการมองไปในอนาคต ในขณะที่ด้านผลการทำงานจะมองไปที่ผลการปฏิบัติงานที่ได้เกิดขึ้นแล้วว่า ทำได้ดีกว่าที่คาดหวังได้มากน้อยเพียงใด อย่างที่เราเรียกกันว่า Talent นะครับ ซึ่งหนึ่งวิธีการในการดูแลกลุ่ม Talent ก็คือ การมอบหมายงานที่ยากกว่าคนอื่นเพื่อเกิดการเรียนรู้และท้าทายอะไรใหม่ๆ เห็นไหมครับว่า เราไม่ได้มองการมอบหมายงานไปที่เงินเดือนเลย ผมอยากให้คุณสีทนได้ปรับมุมมองตรงนี้ใหม่นะครับ
ทีนี้กลับไปเรื่องที่ถามผมมา ผมไปที่ข้อแรกก่อนว่า ควรไปขอหรือไม่ ผมคิดว่าสิ่งที่เราจะเริ่มต้นถามควรเริ่มจากการถามเหตุผล ความจำเป็นว่าทำไมองค์กรที่เราเพิ่งเข้าไป จึงไม่ให้หัวหน้าทราบเงินเดือนลูกน้อง ผมอยากให้ฟังเขาก่อนว่า มันมีที่ไปที่มาอย่างไร เพราะแต่ละที่อาจจะมีปูมหลังที่ไม่เหมือนกัน ลองฟังเหตุผลที่เขามีอยู่ คุณสีอาจจะไม่คิดจะขอทราบเงินเดือนก็ได้ครับ
ถ้าจะให้ผมบอกว่า รู้หรือไม่รู้ดีกว่ากัน ผมคงฟันธงไม่ได้ แต่คงบอกได้ว่า ปัจจัยที่จะเปิดเรื่องเงินเดือนให้หัวหน้ารู้นั้น ประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ เช่น
ระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนชัดเจน เป็นระบบมากน้อยเพียงใด ถ้าชัดเจน เป็นที่เข้าใจ และเป็นที่ยอมรับ การเปิดเรื่องเงินเดือนก็เป็นผลดีในการบริหารของหัวหน้า
ความพร้อมของคนในองค์กร โดยเฉพาะความเป็นผู้ใหญ่ของหัวหน้า จะต้องนิ่ง ไม่มีอาการอิจฉา หรือตาโตกับลูกน้องบางคน และจะต้องสามารถเก็บความลับได้ดี ถ้าภาพรมของหัวหน้ายังไม่ได้อย่างที่ผมว่าไป การให้รู้เงินเดือนอาจเป็นผลลบมากกว่าบวก
วัฒนธรรมขององค์กรมองเป็นเรื่องธรรมดาหรือไม่ รวมถึงธรรมชาติของลูกน้องยอมรับได้หรือไม่ หากองค์กรมองเรื่องนี้เป็นชั้นความลับสุดยอด การรู้เงินเดือลูกน้องยังเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในสายตาผู้บริหาร ก็เป็นการยากที่จะให้หัวหน้ารู้เงินเดือนลูกน้อง
ที่มา : โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์