ปล่อยวางแล้วจะสำเร็จได้อย่างไร ?
ปล่อยวางแล้วจะสำเร็จได้อย่างไร ?
คอลัมน์ HR Corner
โดย คม สุวรรณพิมล [email protected]
"คนจะสำเร็จได้ต้องมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นที่ชัดเจน เข้มแข็ง"
คนทั่วไปก็คงรับรู้ถึงความจริงในข้อนี้ดี แต่ทางพุทธศาสนากลับบอกให้เราปล่อยวาง อย่ายึดติดสิ่งใดๆ ดังนั้นเราก็ไม่อาจมีความฝันและความมุ่งมั่นได้ ถ้าอย่างนั้นเมื่อเราปล่อยวางเมื่อใด เราก็ไม่สามารถเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้เลยซิ ?
คำถามนี้คงจะดังก้องอยู่ในหัวใครบางคนว่าเราควรทำตัวอย่างไรดี
สำหรับคนที่มีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ ก็คงบอกกับตัวเองว่า "ไร้สาระ การปล่อยวางมันจะเป็นตัวฉุดเราเสียมากกว่า" คนเราต้องมองไปข้างหน้ามองสิ่งที่ท้าทาย ใหญ่ขึ้น แล้วหลักการปล่อยวางก็ไม่น่าจะใช้ได้ในชีวิตจริง
แต่กับบางคนที่ล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จ ก็คงบอกว่า "ใช่ๆ เราต้องปล่อยวาง อย่าไปยึดติดกับอะไรทั้งนั้น" เราจะได้สบายใจไม่เครียดกับชีวิตตนเอง
แล้วใครถูกกันล่ะ ?
ดูเหมือนความหมายของคำว่า "ปล่อยวาง" จะถูกตีความตามประเพณีปฏิบัติตามหลักของกฎหมายไทยทุกวันนี้ คือ ตีความ "เข้าข้างตนเอง" ไว้ก่อน แต่ความหมายที่แท้จริงของมันคืออะไรกันแน่ ?
สรุปแล้วการปล่อยวางมันเหมาะกับใครกันแน่ ? แล้วเราจะประสบความสำเร็จได้ไหม ถ้าเราปล่อยวาง ?
การปล่อยวางจะทำให้ความฝัน อันยิ่งใหญ่ของเราสูญสลายไป
หรือไม่ ? หรือการปล่อยวางเหมาะสำหรับใครบางคนที่ไม่มีอะไรจะทำ คนแก่ คนล้มเหลว เท่านั้นหรือ และเอามาเป็นหลัก ยึด ถือมิให้จิตใจมันห่อเหี่ยวไปมากกว่าที่เป็นอยู่
ถ้าจะให้ตีความหมายที่แท้จริงของการปล่อยวางก็คือ การ "ไม่ยึดติด" แต่ไม่ใช่การละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ดังนั้นทุกคนก็สามารถใช้ชีวิตแบบปล่อยวางได้ ไม่ว่าคุณกำลังอยู่ในช่วง "ขาขึ้น" หรือ "ขาลง" ก็ตาม
ถ้าคุณมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ มีงานทำที่มั่นคง แต่คุณไม่ปล่อยวางจะเกิดอะไรขึ้น ?
ชีวิตของคุณก็คงเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง คุณคงไม่กล้ามอบหมายงานที่สำคัญและไม่สำคัญให้ใคร เพราะคุณคิดว่า "คุณคือคนที่เก่งที่สุด" ยึดติดกับความเก่งของตัวเอง หรือบางครั้งคุณทำทุกอย่างด้วยความใจร้อน เพราะคิดว่าโลกนี้มันจะเดินไม่ได้ถ้าไม่มีคุณ หรือแม้กระทั่งเมื่อมีการผิดพลาดเกิดขึ้น คุณคงจะทำใจที่จะยอมรับว่าตนเองผิดได้ยาก และพยายามโทษคนอื่นซึ่งทำให้สัมพันธภาพระหว่างคุณกับคนอื่นเริ่มเสื่อมสลายลง
แต่สำหรับคนที่ล้มเหลว ถ้าคุณตีความว่าการปล่อยวางคือการไม่ทำอะไร ทำใจรับสภาพเท่านั้น แสดงว่าคุณก็ตีความหมายผิดในลักษณะเกินไป เพราะการปล่อยวางคือการปล่อยให้ใจไม่ยึดติดกับความสำเร็จหรือความรุ่งโรจน์ในอดีต แต่ให้คิดถึงว่าปัจจุบันคุณ "เป็นอย่างที่เป็น" แต่ไม่ได้ให้ละทิ้ง "ไฟ" ของการต่อสู้ หรือละทิ้ง "ความหวัง"
"ตราบใดที่คุณสิ้นหวัง ก็อย่าหวังว่าจะสิ้นทุกข์
แต่เมื่อใดที่คุณมีความหวัง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงแค่อดีตเท่านั้น"
การปล่อยวางก็ไม่ต่างกับการปล่อยใจของคุณล่องลอยไปกับกระแสลมของความจริง ความจริงที่คุณมิอาจต้านทานและปฏิเสธได้ ทั้งวัฏจักรของชีวิต การเกิด แก่ ดับสูญ การขึ้นและการลง แต่เมื่อใดที่คุณฝืนกระแสลมแห่งความจริง ซึ่งคุณไม่มีทางที่จะต้านทานธรรมชาตินี้ได้ ชีวิตของคุณก็จะมิอาจอยู่ได้อย่างมีความสุข และที่สำคัญคุณก็มิอาจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนและถาวรได้
ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ ง่ายนิดเดียวแค่เพียงคุณ
"ปล่อยใจให้สบายกับชีวิต แต่จดจ่อทุกการกระทำของตนเอง"
หน้า 25
ที่มา : matichon.co.th