5 สุดยอด "อัจฉริยะ" เปิดเคล็ดลับการใช้ประสิทธิภาพสมอง


1,585 ผู้ชม


5 สุดยอด "อัจฉริยะ" เปิดเคล็ดลับการใช้ประสิทธิภาพสมอง




5 สุดยอด "อัจฉริยะ" เปิดเคล็ดลับการใช้ประสิทธิภาพสมอง

ต้องยอมรับว่าสมองคือส่วนสำคัญที่สุดในร่างกายที่จะทำให้คนคนหนึ่งเป็น "อัจฉริยะ" หรือเป็น "ผู้ด้อยโอกาส" ในสังคม
ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ PEPTEiN สารอาหารบำรุงสมองของค่ายโอสถสภาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เชิญผู้ที่เป็นสุดยอดของการใช้สมองในด้านต่างๆ มาพูดคุยถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการใช้และพัฒนาสมองอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละคนได้ชี้ให้เห็นว่าสมองของทุกคนพัฒนาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
เริ่มต้นจาก "น้องกวิน สุรกิจบวร" แชมป์เหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกระดับนานาประเทศ ปี 2551 แชมป์เหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ปี 2551 ตัวแทนรูปแบบการทำงานของสมองด้านการเรียนรู้ ยอมรับว่าความยากของโจทย์ที่ต้องตีให้แตก ตอบให้ตรงในช่วงเวลาที่จำกัดนั้นกดดันมาก เพราะเป็นโจทย์ที่ซับซ้อน ซึ่งการฝึกทำโจทย์เก่ามากๆ จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์โจทย์ได้อย่างรู้จริง
"การแข่งขันคือการเฟ้นหาคนที่เก่งที่สุด ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวให้ดีทำให้เต็มที่ทุกครั้งที่มีโอกาส ผมเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ช่วยเพิ่มศักยภาพในการ วิเคราะห์โจทย์ต่างๆ"
น้องกวินกล่าวว่า ความจริงสมองของเรามีความสามารถใช้งานมากกว่าที่เรารู้ การเรียนต้องรู้ให้จริง จึงจะสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ที่สำคัญต้องเข้าใจการทำงานของสมองเพื่อจะได้ใช้สมองอย่างเต็มประสิทธิภาพ
คนต่อมาที่มาไขความลับในการใช้สมองด้านความจำ คือ "อ.เผ่าทอง ทองเจือ" นักวิชาการด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเป็นคนชอบศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ และสาเหตุที่ทำให้จำเรื่องราวต่างๆ ได้ดี เพราะใช้วิธีการจำเป็นภาพเป็นสไลด์ มากกว่าที่จะจำเป็นข้อความ ดังนั้นเวลามีคนถามถึงเรื่องอะไรก็จะนึกถึงภาพสไลด์พร้อมข้อความประกอบ โดยสมองจะถ่ายภาพหนังสือต่างๆ ไว้ ภาพประวัติศาสตร์ไทยทุกยุคทุกสมัยจึงรวมอยู่ในหัวสมองของอาจารย์
"อ.เผ่าทอง" ได้โชว์ศักยภาพการใช้สมองด้านความจำที่ทำให้หลายคนถึงกับอ้าปากค้างโดยการเล่าถึงประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา เริ่มต้นตั้งแต่อยุธยาเป็นเอกราชมา 417 ปี สภาพบ้านเมือง ภูมิประเทศเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี กษัตริย์พระองค์แรก ที่สถาปนา กรุงศรีอยุธยา คือพระเจ้าอู่ทอง แล้วกษัตริย์องค์สุดท้าย คือ พระเจ้าเอกทัศน์ กรุงแตกให้พม่าเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2310
"เวลาที่ผมคิดอะไรไม่ออก ผมต้องคิดให้ได้ ต่อให้ลืม ก็ต้องหาคำตอบ จะไม่ปล่อยทิ้งไป นั่นก็คือสิ่งที่ทำให้สามารถจำอะไรได้ตลอดเวลา เพราะความจำที่ต้องการอยู่ในสมองของเรานั่นเอง ต้องดึงออกมาให้ได้บ่อยๆ"
"อ.เผ่าทอง" บอกว่า ความจำที่มีอยู่ในตัววันนี้ไม่ใช่ความสามารถพิเศษอะไรแต่ ทุกสิ่งล้วนมาจากสมองที่รับใช้เราตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันอย่างไร
ด้าน "แทนคุณ จิตต์อิสระ" พิธีกรรายการแฟนพันธุ์แท้ รายการอัจฉริยะข้ามคืน มาเป็นตัวแทนรูปแบบการทำงานของสมองด้านความคิดสร้างสรรค์ เฉลยคำตอบในสิ่งที่ทำให้เขาดูแปลกและแตกต่างจากคนอื่นๆ ว่า ทั้งหมดมาจากการใช้สมอง
"แทนคุณ" แยกคำว่า สมอง ออกเป็น 5 ตัวอักษร
ตัวแรก ส.เสือ คือ สติ ต้องทบทวนว่าจะทำอะไรกันแน่
ตัวที่สอง ม.ม้า คือ ความมหัศจรรย์ของการมีสติหรือการได้ใช้ชีวิต
ตัวที่สาม อ.อ่าง คือ อิสระในการคิด
และตัวสุดท้าย ง.งู คือ ความงดงาม
ถ้าทุกคนใช้สมองเป็น จะรู้สึกว่าตัวเราไม่เหมือนใครจริงๆ แต่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นอย่างที่คนอื่นเขาอยากให้เราเป็น ดังนั้น ผมจึงมักจะตั้งโจทย์กับตัวเองเสมอว่า ต้องไม่เป็นเหมือนใคร ยกตัวอย่างสมัยเรียนหนังสือ เพื่อนๆ จะแห่เลือกเรียนคอมพิวเตอร์กัน แต่ผมตั้งสติกับตัวเองว่า จะไม่เรียนคอมพิวเตอร์ สุดท้ายก็เลือกเรียนวิชาที่ใช้คนที่เรียนคอมพิวเตอร์อีกทีหนึ่ง แล้วมาต่อทางด้านจิตวิทยา เพราะเชื่อสิ่งที่อยู่ในสมอง
"คนแต่ละคนมีคุณค่าแตกต่างกัน หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตรอดมาได้ก็เพราะสติ เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนไม่คล้องพระ แต่ศรัทธา เชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น นั่นคือธรรมะ ซึ่งผลของศรัทธาทำให้เราเห็นในสิ่งที่เราเชื่อ
สติ เป็นความมหัศจรรย์ของสมอง มีอิสระความงดงาม และความสร้างสรรค์ ฉะนั้นทุกคนต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน กล้าริเริ่ม กล้าต่อยอด กล้าพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าคนแต่ละคนมีดีเอ็นเอไม่เหมือนกัน 60 ล้านคนก็ 60 ล้านแบบ ต้องคิดให้อิสระ ยิ้มอย่างมีความสุข แล้วฝันว่าตัวเองจะเป็นอะไร แล้วพัฒนาตัวเองเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ" แทนคุณ บอกถึงแนวทางในการสร้างความแตกต่างให้ตัวเอง
มาถึงผู้หญิงคนเดียวของเวทีแห่งนี้ "ชนันภรณ์ รสจันทร์" มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปี 2548 นักบินหญิงรุ่นแรกประจำสายการบินไทยแอร์เอเชีย ตัวแทนรูปแบบการทำงานของสมองด้านสมาธิ พูดถึงการพัฒนาตัวเองว่า จริงๆ แล้วฝันอยากเป็นนักบินมาตั้งแต่เด็ก จึงเลือกเรียนสายวิศวกรรมที่จะสามารถใช้เป็นพื้นฐานของการเป็นนักบินได้ แต่ช่วงที่รอฝึกอบรมหลังจากสอบนักบินได้เกิดเหตุการณ์สึนามิ จึงเลือกที่จะเข้าไปประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สเพื่อเข้าไปช่วยผู้ประสบภัย ปรากฏว่าคว้ามงกุฎมาได้ หลังจากนั้นก็เข้ามาทำงานนักบินเต็มตัว
ชนันภรณ์เล่าว่า ธรรมชาติของการเป็นนักบิน นอกจากเรื่องความรู้ เทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องบินแล้วสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการทำการบิน นั่นคือ สมาธิ เพราะเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์จริง สมาธิเท่านั้นที่จะทำให้เรานำความรู้ที่สะสมอยู่ในสมองออกมาใช้ประโยชน์และสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้
สมาธิจะทำให้มีสติ และสติจะทำให้เกิดปัญญา และปัญญาจะทำให้เราทำอะไรได้เต็มที่ สมาธิที่ดี สติที่ดีทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คนสุดท้ายที่มาไขความลับการทำงานของสมองด้านการวิเคราะห์ตัดสินใจ "นาวาอากาศโทระวิน ถนอมสิงห์" ผู้บังคับฝูงบิน F-16 ที่ใหญ่ที่สุดของไทย กองบิน 1 จ.นครราชสีมา แชมป์อัจฉริยะข้ามคืนคนแรก ได้แบ่งการทำงานของสมองออกเป็น 5 ส่วนตามความรับผิดชอบที่สำคัญ
ส่วนที่หนึ่ง การบังคับเครื่องบิน F-16 เป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงมาก ความเร็วสูง นักบินต้องแข็งแรงทั้งร่างกายและสมอง ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือการตัดสินใจ ต้องมีมากกว่าปกติ เนื่องจากบางครั้งเครื่องบินอยู่เหนือพื้นดินแค่ 100-200 ฟุต แต่ต้องทำความเร็วกว่า 1,000-2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตัดสินใจต้อง "ถูก"
ส่วนที่สอง กรณีมีการรบเกิดขึ้น ต้องวิเคราะห์ตัดสินใจในการใช้อาวุธ เพราะถ้าพลาดก็คือยิงพวกเดียวกันเอง
ส่วนที่สาม การป้องกันตัวเอง ตรงนี้มีระบบที่ซับซ้อนให้ตัดสินใจมากมาย เช่น จะเข้าหรือจะออก หรือจะถอย
ส่วนที่สี่ การแยกเป้าหมายทางทหาร จากเป้าหมายพลเรือน เพราะปัจจุบันเป้าหมายไม่ได้เด่นชัด แต่เป็นจุดเล็กๆ ที่ต้องระวังผลกระทบข้างเคียง เพราะบางทีเป้าหมายอยู่ข้างโรงพยาบาล ข้างโรงเรียน ฉะนั้นจึงต้องวิเคราะห์และตัดสินใจ แยกเป้าหมายการรบออกจากชุมชนพลเรือน เพราะชีวิตพลเรือน คือ ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ต้องไม่มีการสูญเสียที่สูญเปล่า
ส่วนที่ห้า การดูแลฝูงบินฝ่ายเดียวกัน โดยปกตินักบินมีอีโก้สูงอยู่แล้ว ยิ่งเป็นนักบินรบด้วยแล้วต้องคูณ 3 คูณ 4 เข้าไปเลย การที่จะทำให้คนเรานี้อยู่ในกรอบต้องใช้ภาวะผู้นำที่สูงมาก จะทำอย่างไรให้คนเก่งเหล่านี้เป็นไปในสิ่งที่เราต้องการเป็นเรื่องที่ยาก
นักบิน F-16 ถึงแม้จะบินคนเดียวแต่ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเราแบกผู้โดยสารกว่า 60 ล้านคนไว้ด้วย ถ้าพลาดนั่นหมายถึงชีวิต ประชาชน อธิปไตยของประเทศ เพราะฉะนั้นพวกเราสะกด คำว่า "พลาด" ไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัดสินใจในเสียววินาทีต้องถูก แม้แต่การประมวลผลภายในเวลาเพียงเศษ 1 ส่วน 100 วินาที ก็ต้องถูกต้องเท่านั้น ซึ่งทุกอย่างมาจากสมอง คอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบมาดีที่สุดก็ยังไม่เก่งเท่ากับสมองคนในการตัดสินใจ
ฉะนั้นเราต้องรู้จักจดจำ สังเกต ประมวลภาพให้ได้คำตอบที่ถูกต้องที่สุด ทุกคนมีเวลาเท่ากันคือ 24 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับว่าใครจะเอาเวลาที่มีอยู่ไปใช้ในเรื่องอะไร ทำทุกอย่างในชีวิตให้เป็นเรื่องง่าย ทุกปัญหามีทางแก้ ต้องมองให้รอบด้านแล้ววิเคราะห์
จะเห็นว่าทั้ง 5 คนเลือกพัฒนาสมองในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการใช้ของแต่ละคนได้อย่างน่าทึ่ง วันนี้หลายคนคงต้องกลับไปดูตัวเองแล้วว่าได้ใช้สมองให้เป็นประโยชน์กับตัวคุณมากน้อยแค่ไหน
หน้า 35

ที่มา : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด