ตายคางาน


738 ผู้ชม


ตายคางาน




เมื่อต้นเดือนนี้ ซีเอ็นเอ็นและสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง ได้เสนอข่าวพนักงานของร้านอาหารที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งมีสาขาทั่วประเทศได้เสียชีวิตระหว่างทำงานที่สาขาในจังหวัดไซตะมะ โดยเส้นโลหิตในสมองแตก ทั้งๆ ที่เขามีอายุเพียง 32 ปี ในข่าวระบุว่าเขาเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานมากเกินไป

กรณีดังกล่าวภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “คาโรชิ” ซึ่งแปลตามตรงคือ “การตายเพราะทำงานมากเกินไป” สาเหตุของการตายส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก เพราะความเครียดจากการทำงาน

เมื่อ พ.ศ. 2512 มีรายงานเรื่องแรกเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนงานวัย 29 ปี ซึ่งทำงานที่บริษัทหนังสือพิมพ์รายใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น แต่ยังไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างจนกระทั่งสิบกว่าปีต่อมา ในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ที่มีผู้บริหารระดับสูงในแวดวงธุรกิจของญี่ปุ่นหลายคนเสียชีวิตกะทันหัน โดยไม่มีวี่แววเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยมาก่อน ซึ่งก่อให้เกิดความสนใจของสื่อมวลชนสาขาต่างๆ ปรากฏการณ์นั้นได้รับการขนานนามอย่างเป็นทางการกว่า “คาโรชิ” ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นจึงได้เผยแพร่สถิติของผู้เสียชีวิตจากอาการดังกล่าวสู่สาธารณชน

ปีนี้ “คาโรชิ” กลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อวิศวกรคนสำคัญคนหนึ่งของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เสียชีวิตกระทันหันขณะกำลังทำงานในปี 2549 โดยมีอายุ 45 ปีเนื่องจากทำงานล่วงเวลาเดือนละมากกว่า 80 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลานาน ครอบครัวของเขาได้รับเงินชดเชยจำนวนมากเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบันการฟ้องร้องเกี่ยวกับการตายเพราะทำงานมากเกินไปของญาติผู้เสียชีวิต ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น แต่การจะได้รับเงินชดเชยนั้นจะต้องให้หน่วยงานของกระทรวงแรงงานรับรองว่า การเสียชีวิตดังกล่าวเป็นผลมาจากการทำงานมากเกินไปเสียก่อน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานดังเช่น กรณีของวิศวกรบริษัทรถยนต์

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า คนญี่ปุ่นนั้นขยันทำงานมากและบางครั้งก็เต็มใจทำงานล่วงเวลาฟรี โดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซาเช่นนี้ ทั้งผู้บริหารและพนักงานบริษัทต่างพากันทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้องค์กรของตนผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัทต่างๆ ก็พยายามหาวิธีการคลายเครียดให้แก่พนักงาน เพื่อป้องกันปัญหา “คาโรชิ” เช่น กิจกรรมสันทนาการ การให้ผลัดเปลี่ยนกันหยุดพักผ่อนติดต่อกันหลายวัน การตรวจสุขภาพ ฯลฯ

ลองมาย้อนดูคนไทยเราเองบ้าง นอกจากปัญหาเรื่องงานแล้ว ความวุ่นวายทางการเมืองยังทำให้ความเครียดเพิ่มสูงมากขึ้นในขณะนี้ ดังผลการสำรวจที่ได้เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เมื่อต้นเดือนนี้ วิธีการที่ดีที่สุดคือ “ปล่อยวาง” และ “คิดในแง่บวก” จะทำให้ความกดดันต่างๆ รอบตัวมีผลกระทบต่อเราน้อยลง

“ปล่อยวาง” หมายถึง การทิ้งปัญหาเรื่องงานไว้ที่บริษัท โดยไม่นำไปหมกมุ่นครุ่นคิดต่อที่บ้าน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเครียดจนนอนไม่หลับอันเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เพราะการนอนหลับที่สมบูรณ์นั้นต้องมีทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ ระยะเวลาการนอนแต่ละวันไม่ควรต่ำกว่า 6 ชั่วโมงและจะต้องเป็นการนอนหลับสนิทด้วย ถ้าไม่มีการฝันใดๆ ทั้งฝันดีและร้ายจะยิ่งทำให้การนอนมีคุณภาพมากขึ้น

“คิดในแง่บวก” คือมองว่าปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ด้วยตนเอง ก็ควรจะปรึกษาหารือเพื่อนร่วมงานเพื่อขอความคิดเห็น ต้องไม่ลืมว่า “หลายหัวดีกว่าหัวเดียว”

มนุษย์ไม่สามารถทำงานตลอดเวลาได้ เพราะต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอ เช่นเดียวกับเครื่องจักร ซึ่งแม้จะมีประสิทธิภาพเพียงใดก็ต้องมีการพักเครื่องบ้าง สัญญาณเตือนภัยของความเครียด เช่น การปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มึนงง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร นอนหลับยาก เป็นต้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ การเอาจริงเอาจังกับการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องมีการบริหารเวลาอย่างเหมาะสม และจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของงาน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ต้องแลกกับชีวิตด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

++++++++++++

ปนัดดา เจณณวาสิน จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโททุนรัฐบาลญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ เริ่มทำงานที่บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ที่แรกและที่เดียวมาเกือบ 30 ปี ด้วยความสามารถที่มีรอบด้านจึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นบอร์ดบริหารหญิงคนแรกของ อีซูซุ เวิลด์ไวด์

อ่านข้อมูลย้อนหลังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับCEOที่

https://newsroom.bangkokbiznews.com/Panatda

ที่มา : bangkokbiznews.com

อัพเดทล่าสุด