สิงคโปร์ โหมนำเข้าแรงงานหัวกะทิ เร่งสร้าง "Talent Capital" ดัน ศก


865 ผู้ชม


สิงคโปร์ โหมนำเข้าแรงงานหัวกะทิ เร่งสร้าง "Talent Capital" ดัน ศก




สิงคโปร์ โหมนำเข้าแรงงานหัวกะทิ เร่งสร้าง "Talent Capital" ดัน ศก

ต้องยอมรับว่า ประเทศเล็กๆที่มีประชากรเพียงประมาณ 5 ล้านคนอย่าง สิงคโปร์ แต่กลับสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
เว็บไซต์ atimes.com รายงานว่า รัฐบาลสิงคโปร์พยายามทุกๆ ทางเพื่อ จะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเอาไว้ ซึ่งก็รวมถึงการสร้าง ความเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เพื่อรองรับ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้าแรงงาน มากความสามารถจากต่างชาติ
แต่ทว่าแนวทางดังกล่าวก็นำมาซึ่งความเสี่ยงทางการเมือง เนื่องจากประชาชน ชาวสิงคโปร์แท้ๆ ไม่เห็นด้วยกับการ ไหลบ่าเข้ามาของชาวต่างชาติที่เข้ามาแย่งงานดีๆ รายได้สูงๆ ในบ้านของตัวเอง
ปัจจุบัน ประชากรทุกๆ 1 ใน 5 ที่อาศัยในสิงคโปร์เป็นชาวต่างชาติ และทุกๆ 6 ใน 10 ของงานใหม่ในปีที่แล้ว ตกเป็นของผู้ที่โอนสัญชาติมาเป็นสิงคโปร์ ขณะที่ตัวเลขของชาวต่างชาติที่ขอยื่น เป็นพลเมืองสิงคโปร์ในปี 2550 อยู่ที่ 14,000 ราย เนื่องจากรัฐบาลลอดช่อง ได้ปูพรมแดงให้กับชาวต่างชาติที่มีการศึกษาดี มีความทะเยอทะยาน และอยากร่ำรวยเพื่อให้เข้ามาทำงาน และอาศัยในสิงคโปร์อย่างถาวร
การที่รัฐบาลสิงคโปร์พยายามนำเข้าบุคลากรระดับหัวกะทิ ก็เพราะต้องการสร้าง "ทุนความสามารถ" (talent capital) ให้รองรับกับความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม การวิจัยที่ทันสมัย การตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม (niche) และทุนนิยมเทคโนโลยี ซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาว และเป็นความสำเร็จของชาติ
น่าสนใจว่า สิงคโปร์ถือเป็นผู้เล่นสำคัญในธุรกิจการเงินโลก โดยกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth funds) ของสิงคโปร์ได้ใช้เงินที่มีอยู่มหาศาลเข้าไปกว้านซื้อหุ้นในสถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของธุรกิจการเงินโลก
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังตั้งเป้าที่จะเป็นฮับด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ไบโอเมดิคัล และอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก
ซึ่งแน่นอนว่า การจะผลักดันให้สิงคโปร์เติบโตอย่างยั่งยืน และได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมไฮเอนด์ดังกล่าวจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรมนุษย์ แต่แนวโน้มด้านประชากรของสิงคโปร์กลับไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศมากนัก
เพราะแรงงานชาวสิงคโปร์มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากสิงคโปร์กำลังประสบภาวะอัตราการเกิดของทารกต่ำ แม้อัตราการเกิดของทารกในปีที่แล้วจะอยู่ที่ 1.29 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 1.24 ในปี 2547 จากการกระตุ้นให้คู่แต่งงานมีบุตรมากขึ้น แต่สิงคโปร์ก็ยังไม่พ้นปัญหาอัตราการขยายตัวของประชากรที่ลดลง
ภาครัฐจึงพยายามเสาะหาวิธีรับมือกับเรื่องดังกล่าว โดยได้เพิ่มความพยายาม มากขึ้นในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความสามารถเข้ามาเติมเต็มความต้องการของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ ชาวสิงคโปร์มีลูกเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันอัตราการตอบรับของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2549 มีชาวต่างชาติที่ได้รับสิทธิเป็นพลเมืองของสิงคโปร์อยู่ที่ 13,200 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่ 7,000 คน
แต่เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มสร้างความกังวลให้กับคนสิงคโปร์แท้ๆ โดยจาก ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในปีที่แล้วพบว่า คนสิงคโปร์ 9 ใน 10 กังวลว่าจะสูญเสียหน้าที่การงานให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ จากต่างประเทศ และไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเอาอกเอาใจให้ชาวต่างชาติเข้ามา ทำมาหากินในบ้านเพิ่มขึ้น ขณะที่อีก 43% เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับแรงงานต่างชาติมากกว่าประชาชนของตัวเอง
นอกจากนี้ การหลั่งไหลเข้ามาของ ชาวต่างชาติยังเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ พุ่งพรวดประมาณ 31.2% ในช่วงต้นปี ถึงกลางปี 2550 ส่วนบริษัทนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ 2 รายให้ข้อมูล สอดคล้องกันว่า ในช่วงไตรมาสแรกของ ปี 2550 ราคาอพาร์ตเมนต์ใน 3 ทำเลทองเพิ่มขึ้นกว่า 10%
อย่างไรก็ตาม แม้กระแสความไม่พอใจในหมู่ชาวสิงคโปร์จะขยายวงมากขึ้น แต่ "หม่า โบ ตัน" จากกระทรวงพัฒนา แห่งชาติประเมินว่า สิงคโปร์จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานอีกราว 1.5 ล้านคนในอีก 50 ปีข้างหน้า เพื่อให้จำนวนประชากรอยู่ที่ 6.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอ ต่อการสร้างความยั่งยืนและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ด้าน mangalorean.com ระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์พยายามกระตุ้นอัตรา การเกิด ทั้งการให้สิทธิพิเศษด้านภาษี และมาตรการอื่นๆ ซึ่งมีมูลค่าราว 1.1 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งสร้างบรรยากาศเป็นมิตรต่อครอบครัว (family-friendly) ให้เกิดขึ้นในสังคมสิงคโปร์ เพราะหากปล่อยเช่นนี้อาจจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต
มาตรการกระตุ้นอัตราการเกิด อาทิ ครอบครัวสามารถขอคืนภาษีสำหรับเด็กได้ราว 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 2,875 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทั้งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี และได้รับเงินสดค่า "เบบี้ โบนัส" สำหรับลูกคนแรกและคนที่ 2 เป็น 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มจากเดิม 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
ขณะที่ 25% ของจำนวนประชากร ในสิงคโปร์ที่มีราว 4.6 ล้านคนเป็นชาวต่างชาติ และรัฐบาลพยายามจะกระตุ้นให้คนเหล่านี้เข้ามายังสิงคโปร์มากขึ้น
หน้า 15

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด