ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร (12)


1,576 ผู้ชม


ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร (12)




ขอนำประเด็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร มาปุจฉา - วิสัชนา เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานทางด้านภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างทำของที่อยู่ในข่ายที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ อย่างไร

วิสัชนา กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่ผู้รับจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งในอัตราร้อยละ 5.0 ของยอดเงินค่าจ้างที่จ่าย จะต้องปรากฏว่า

1. ผู้รับจ้างจะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย

2. การประกอบกิจการในประเทศไทยของผู้รับจ้างตาม (1) จะต้องมิใช่กรณีที่ผู้รับจ้างมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย และในกรณีที่ผู้รับจ้างมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ถือได้ว่าผู้รับจ้างมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย คือ

(1) มีสำนักงานในประเทศไทยที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง

(2) มีการประกอบธุรกิจอย่างอื่น นอกจากการรับจ้างทำของในประเทศไทยเป็นประจำ เช่น การซื้อขายสินค้า

(3) มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อลูกจ้างในประเทศไทยตามมาตรา 65 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่ง กรณีผู้รับจ้างได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตนั้น แม้ผู้รับจ้างจะต้องจดทะเบียนการค้าในการประกอบกิจการดังกล่าว ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้รับจ้างมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นจ่ายเงินล่วงหน้าในส่วนที่เป็นค่าจ้างทำของให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ผู้จ่ายเงินได้ต้องคำนวณหัก ณ เงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา เมื่อจ่ายเงินล่วงหน้า ให้ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินล่วงหน้า และเมื่อมีการจ่ายค่างวดงานแต่ละงวดให้แก่ผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินค่างวดงานหลังหักเงินจ่ายล่วงหน้าในแต่ละงวดออกแล้ว

สำหรับผู้รับจ้างต้องนำเงินจ่ายล่วงหน้ามารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเกิดขึ้นในขณะได้รับชำระเงินดังกล่าว

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหักเงินประกันตามสัญญาอย่างไร

วิสัชนา เงินประกันผลงานที่ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ว่าจ้างตามจำนวนที่ตกลงในสัญญา

โดยยินยอมให้ผู้ว่าจ้างหักเงินดังกล่าวจากเงินค่าจ้างในแต่ละงวด เพื่อเป็นประกันผลงานนั้น เมื่อผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละงวดให้ผู้รับจ้าง โดยหักเงินประกันผลงานดังกล่าว กรณีจึงถือเป็นรายได้ของผู้รับจ้างเต็มจำนวนมูลค่าของงานที่แล้วเสร็จในแต่ละงวดที่ผู้จ่ายเงินได้ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามปกติ และเมื่อผู้ว่าจ้างจ่ายคืนเงินประกันผลให้แก่ผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอีก

ผู้รับจ้างต้องนำเงินประกันผลงานที่ถูกผู้ว่าจ้างหักจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเกิดขึ้นในขณะที่ได้รับเงินค่าจ้างแต่ละงวด เมื่อมีการจ่ายเงินประกันผลงานคืนให้ ผู้รับจ้างไม่ต้องนำเงินประกันผลงานดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก

ปุจฉา บริษัทฯ ให้บริการซ่อมแซมสินค้าให้ลูกค้า ได้ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี โดยแยกเป็นค่าอะไหล่ ค่าแรง ค่าขนส่ง และให้เเก่ลูกค้า ในกรณีเช่นนี้ บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าขนส่งและต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่

วิสัชนา ตามกรณีดังกล่าวค่าขนส่งมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดจากการให้บริการรวมทั้งค่าขนส่ง มารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทฯ ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร จากมูลค่าทั้งหมดจากการให้บริการรวมทั้งค่าขนส่งดังกล่าวด้วย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.905 ลงวันที่ 17 มกราคม 2537)

ปุจฉา บริษัทฯ ได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่อู่ซ่อมรถยนต์ เมื่อไปรับรถภายหลังซ่อมเสร็จ บริษัทฯ ได้รับใบเสร็จ 2 ฉบับเป็นค่าของฉบับหนึ่งและค่าแรงอีกฉบับหนึ่ง โดยเป็นใบเสร็จของสองบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ในสถานที่เดียวกัน เมื่อบริษัทฯ จะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากค่าแรงและค่าของรวมกัน แต่อู่ซ่อมรถไม่ยินยอม เช่นนี้ บริษัทฯ ต้องปฏิบัติอย่างไร

วิสัชนา ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว อู่รับซ่อมรถยนต์เป็นผู้จัดหาของ (อะไหล่) เพื่อใช้สำหรับการซ่อมรถยนต์ ดังนั้นรายรับของอู่ซ่อมรถยนต์จะต้องรวมทั้งค่าของและค่าแรงด้วย เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าซ่อมรถยนต์จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 8(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ที่จ่ายทั้งสิ้น (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/1083 ลงวันที่ 20 มกราคม 2536)

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด