แนะ น.ศ.เตรียมตัวรับวิกฤต พัฒนาทักษะให้ตรงใจนายจ้าง !!


891 ผู้ชม


แนะ น.ศ.เตรียมตัวรับวิกฤต พัฒนาทักษะให้ตรงใจนายจ้าง !!




แนะ น.ศ.เตรียมตัวรับวิกฤต พัฒนาทักษะให้ตรงใจนายจ้าง !!

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นที่เป็นอยู่ ปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มปลดพนักงาน ฉะนั้นสำหรับนักศึกษาที่เรียนจบในวันนี้ เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะมีโอกาส ได้งานทำ หากไม่เตรียมพร้อมตัวเองก่อนกระโดดสู่ตลาดแรงงาน
"นักศึกษาที่เรียนจบสมัยนี้มีเยอะ องค์กรมีโอกาสเลือกได้มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ ฉะนั้นถ้าต้องการได้งานที่ดีทำ นักศึกษาต้องสร้างความแตกต่างให้กับตนเอง ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าแม้สถานศึกษาบอกว่าทุกคนควรจะเรียนและลงวิชาเลือกข้ามสายงานที่ตนเองเรียนในวิชาเลือกต่างๆ แต่เราจะเห็นว่าเด็กไทยส่วนใหญ่มักจะเลือกเรียนในวิชาง่ายๆ เพื่อดึงเกรด แต่ไม่ได้เรียนเพราะอยากรู้จริงๆ" ดร.จิราพร พฤษกษานุกูล ผู้อำนวยการ บริษัท อินดิโกคอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ชี้ให้เห็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น
ซึ่งดูเหมือนเป็นทัศนคติพื้นฐานของ นักศึกษาไทยที่ทำให้ เมื่อนักศึกษาที่จบการศึกษาและต้องก้าวสู่โลกของการทำงาน จะต้องเผชิญปัญหา ไม่มีงานทำ เพราะไม่สามารถพัฒนาทักษะที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรธุรกิจได้
น่าสนใจว่า อะไรคือสิ่งที่นักศึกษาและคนทำงานที่ต้องการความก้าวหน้าวันนี้ต้องปรับตัว !!
ทักษะที่นายจ้างต้องการ
หากดูแนวโน้มความต้องการขององค์กรธุรกิจในปัจจุบัน จะพบว่า วันนี้องค์กรธุรกิจล้วนแล้วแต่ต้องการพนักงานที่มีความสามารถรอบด้าน หรือที่เรียกว่า multiskill นอกจากนี้ยังต้องมีทักษะในการสื่อสารให้มีประสิทธิผล (effective communication) และความสามารถในการทำงานเป็นทีม ทั้งยังต้องสามารถแก้ปัญหา และมีความคิดสร้างสรรค์
ดร.จิราพรขยายความเรื่องนี้ว่า "ถ้าดูเทรนด์จากยุโรป อเมริกา มาถึงไทย สิ่งที่บูมมากวันนี้ธุรกิจมีความตื่นตัวที่ต้องการพนักงานที่มีความสามารถรอบด้าน สามารถทำงานข้ามสายงาน (interdispline) อย่างถ้าเรียนวิทยาศาสตร์ ก็ต้องเข้าเรียนการเงินด้วย หรือเรียนบัญชีก็ต้องเรียนรู้เรื่องการสื่อสารให้เกิดประสิทธิผล เพราะพบบ่อยว่าบางครั้งเราพบว่าคนทำงานบัญชีที่เก่งมากพอนายจะให้ขึ้นเป็นผู้บริหารก็เครียด ขอลาออก เพราะเขาไม่ได้ถูกฝึกมาให้จัดการกับลูกน้องหรือการสื่อสาร แบบนี้เราพบปัญหามากในองค์กรระดับกลาง ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่แม้จะมีการเตรียมเทรนคนขึ้นมาเป็นผู้บริหาร แต่ก็ยังเจอปัญหาคนไม่เหมาะกับงาน ดังนั้นถ้าจะมององค์กรในภาพกว้างเราก็ต้องบอกว่า การมีความสามารถรอบด้านจึงเป็นทักษะสำคัญ"
"ตอนนี้หลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นเครือซิเมนต์ไทย ไอบีเอ็ม ไมเนอร์ เวลาเขาสัมภาษณ์งานจะใช้กิจกรรม เพื่อสามารถเฝ้าสังเกต และดูพฤติกรรม ทัศนคติ นิสัย ว่ามีทักษะที่องค์กรต้องการหรือไม่" ดร.จิราพรกล่าว
ยุคทองของ gold collar
หากสแกนตลาดแรงงานในภาพรวมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม white collar พนักงานสนับสนุนทั่วไป blue collar พนักงานที่มีการใช้ทักษะแรงงาน และ gold collar พนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งความต้องการขึ้นอยู่กับลักษณะขององค์กร
อย่างกลุ่ม blue collar พนักงานที่มีการใช้ทักษะแรงงาน ซึ่งเรียนจบการศึกษาสายวิชาชีพ ระดับ ปวช. ปวส. ถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาก เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมเรียนต่อในระดับปริญญาตรี เพื่อทำงานในสายบริหารทำให้แรงงานกลุ่มนี้ขาดแคลนมากโดยเฉพาะงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการบุคลากรทำงานในภาคปฏิบัติจำนวนมาก
แต่ถ้ามองไปในอนาคต จะพบว่ากลุ่ม gold collar จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถปรับตัวเข้ากับธุรกิจได้
"ถ้าโฟกัสคนกลุ่มนี้ สิ่งที่องค์กรมองว่าความเชี่ยวชาญเหล่านี้จะสามารถเพิ่ม คุณค่าให้กับองค์กรได้ เพราะคำว่า gold collar มันข้ามไปถึงเรื่อง multiskill ที่นอกจากรู้ลึกแล้วต้องรู้รอบด้าน gold collar ของยุคนี้คือทนายความ เพราะตอนนี้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำงานในเมืองไทยจำนวนมาก และขาดทนายที่จะเข้าไปประจำในธุรกิจ เมื่อก่อนทนายจะเป็นเหมือนฝ่ายหลังที่เข้าไปดูแลหลังจากการทำงานจบ แต่ตอนนี้เข้ามาอยู่ส่วนหน้า เข้าไปดูตั้งแต่เราประสานงานว่าจะเสียเปรียบอย่างไร เพราะกฎหมายเมืองไทยมีมากขึ้น ใครมีลูกหลานเตรียมเรียนได้เลย รวมถึงสายงานที่เป็นงานอุตสาหกรรมคือวิศวกร ในธุรกิจไอที ปิโตรเคมี เชื้อเพลิง เหล็ก หรือนักวิเคราะห์ในธนาคาร ซึ่งเขาต้องการคนที่วิเคราะห์ได้ทั้งไมโคร (micro) และแมคโคร (macro) ทำได้ครบทุกอย่าง"
เคล็ดลับเลือกเรียนให้มีงานทำ
ดร.จิราพรยังยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ อย่างนักวิจัย ในสมัยก่อนนักวิจัยอาจจะรู้ลึกเพียงเรื่องที่ตัวเองต้องการวิจัย แต่ปัจจุบันนักวิจัยก็ต้องรู้จักเรื่องการค้า ธุรกิจด้วย ว่าการวิจัยผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นสามารถตอบโจทย์ด้านการตลาดได้ หรือไม่
เหมือนกรณีศึกษาสุดคลาสสิก เรื่อง งานวิจัยของสหรัฐอเมริกา ที่ทำงานวิจัยเรื่องปากกาที่ใช้ในอวกาศ ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะคิดค้นได้ ทั้งๆ ที่พอเป็นประเทศโลกที่ 3 แทนที่จะต้องเสียเวลาไปวิจัยเรื่องนั้น เขาสามารถใช้ดินสอทดแทนนี่เป็นตัวอย่างของการไม่มีทักษะที่รอบด้านซึ่งทำให้งานวิจัยสูญเปล่าและไม่เกิดประโยชน์
จากแนวโน้มที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ปัจจุบันสถาบันการศึกษามุ่งที่จะตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โดยมีการสร้างหลักสูตรในลักษณะบูรณาการ สาขาวิชาการต่างๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างมุมมองและวิธีคิดที่รอบด้านให้นักศึกษา
แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่า "การทำหลักสูตรลักษณะนี้เป็นเหมือนเรื่องนามธรรม แต่ไม่สามารถนำไปใช้จริงได้ ฉะนั้นทางออกที่แท้จริงอยากให้เด็กมองเห็นว่าแท้จริงแล้วเวลาเรียน เรียนไปเพื่ออะไร ถ้าสังเกตจะเห็นว่าทำไมเด็กที่เรียนจบจากต่างประเทศจะมีโอกาสได้งานที่ดีกว่า นั่นไม่ได้เพราะเขาเรียนเก่งกว่า แต่เป็นเพราะทักษะที่เขามีนั้นตรงกับความต้องการขององค์กร"
แต่นั่นไม่ใช่ข้อที่ควรจะทดท้อใจสำหรับคนที่จบจากสถาบันการศึกษาในประเทศ เพราะมีพนักงานในองค์กรที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่น้อยที่เรียนในประเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของนักศึกษา
ฉะนั้น ไม่สำคัญว่าเรียนที่ไหน หรือเรียนสาขาอะไร ขึ้นอยู่กับความตั้งใจและเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง
ดร.จิราพรบอกว่า "จะเรียนอะไรก็ตามขอให้เก่งจริง รับรองได้งานหมด การจะได้รับการจัดวางให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กรและถูกให้อยู่ในกลุ่ม gold collar นักศึกษาต้องเตรียมตัวตั้งแต่ตอนเรียน รู้จักมองทิศทางของโลกและเตรียมตัวก้าวสู่ทิศทางนั้น ต้องมี multiskill มีความรู้รอบตัว และเลือกสิ่งที่เหมาะกับตนเอง ยิ่งค้นหาตนเองได้เร็วเท่าไรก็จะประสบความสำเร็จได้เร็วเท่านั้น"
ทั้งหมดเป็นสิ่งที่นักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานควรตระหนัก เพื่อจะสามารถมีที่ยืนได้ท่ามกลางวิกฤต !!
หน้า 39

ที่มา : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด