แนวคิดเรื่อง sustainability หรือความยั่งยืน (1)


1,252 ผู้ชม


แนวคิดเรื่อง sustainability หรือความยั่งยืน (1)




คอลัมน์ HR Corner
โดย อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ เอพีเอ็ม กรุ๊ป
แนวคิดเรื่อง sustainability หรือความยั่งยืน นั้นไม่ใช่แนวคิดใหม่ หากแต่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในแง่มุมของสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม แต่อีกภาพหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ ทำอย่างไรองค์กรจึงจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนที่สุด
ทำไมเราถึงต้องมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนขององค์กร เพราะทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีใครที่เปิดกิจการแล้วจะมีความคิดว่า หากไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ล้มเหลวก็เลิกไป ทำอย่างไรก็ได้ แม้แต่ผู้บริหารมืออาชีพคงไม่ได้มาคิดแค่ว่าจะบริหารไปเรื่อยๆ พอจบก็ออกไป องค์กรจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะความตั้งใจของทุกคนคือจะทำอย่างไรว่าแม้เราจะไม่อยู่ องค์กรก็ยังยั่งยืนต่อไปได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารมืออาชีพ หรือเจ้าของธุรกิจ เจ้าของกิจการ เถ้าแก่ เองก็คิดเหมือนกัน แต่องค์กรเคยมานั่งสำรวจดูหรือไม่ว่าสิ่งที่เรากำลังนั่งทำอยู่ในทุกๆ วันนี้กำลังทำให้ความยั่งยืนในอนาคตขององค์กรถูกทำร้ายหรือเปล่า
ดังนั้น เพื่อให้ชัดเจนขึ้นเราควรที่จะมาทำความเข้าใจประเด็นสำคัญๆ เหล่านี้ก่อน โดยจะขอแบ่งออกเป็น 5 ประเด็นหลักๆ
ประเด็นแรก ตัวตนขององค์กร หรือ organizational identity ในภาพของการเป็นตัวตนขององค์กรสิ่งสำคัญมากๆ เลยคือวันนี้องค์กรมองไปไกลขนาดไหน ทุกๆ องค์กรมีวิสัยทัศน์ (vision) และ พันธกิจ (mission) กันทั้งนั้น แต่วิสัยทัศน์ตรงนั้นเราควรจะกลับไปทบทวนดูว่าในวิสัยทัศน์ที่องค์กรตั้งไว้นั้น เมื่อองค์กรไปถึงจุดตรงนั้นแล้วองค์กรเราจะมีความมั่นคง (sustainability) หรือไม่
ฉะนั้น ประเด็นที่สำคัญคือหลายๆ ครั้งที่องค์กรนั่งมอง นั่งคิดในเรื่องของวิสัยทัศน์ขององค์กร จะต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาว่าวิสัยทัศน์ตรงนี้จะอีก 3 ปี 5 ปี 8 ปี 10 ปี วิสัยทัศน์ยังจะมี ความชัดเจนอยู่ในเรื่องของการทำให้องค์กรมีความมั่นคงยั่งยืน (sustainability) ในอนาคตด้วยหรือไม่
เพราะบางวิสัยทัศน์อาจจะทำให้องค์กรมีเงินมหาศาล แต่การมีเงินอย่างเดียวก็ไม่แน่ใจว่าจะทำให้องค์กรมั่นคงยั่งยืนได้ ถ้าพนักงานในองค์กรปฏิบัติงานไปวันๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่าทำไปเพื่ออะไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่ได้มานั่งหาต่อไปว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นช่วยให้เกิดความมั่นคงใน อาชีพนั้นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ทำมี ประโยชน์อย่างไรที่จะทำให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
หรือบางทีหลายองค์กรแค่เขียนวิสัยทัศน์ (vision) และพันธกิจ (mission) ไปแต่ไม่รู้ว่าจะทำให้องค์กรมั่นคงยั่งยืนในอนาคต ตรงไหน
ตรงจุดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรจะต้องนำไปพิจารณา
ส่วนถัดมาในเรื่องความมั่นคง (sustain ability) ในแง่มุมของ "คน" ในองค์กรก็เช่นกัน หลายๆ ครั้งพนักงานอาจจะมองภารกิจที่กำลังปฏิบัติอยู่เป็นแค่ภารกิจที่ถูกมอบหมาย และถูกบอกว่าจะต้องทำอย่างนั้น ไม่ได้มองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่จะสร้างความมั่นคง (sustainability) ให้กับตัวเองในทิศทางใด
ดังนั้น เพื่อให้ภาพชัดเจนขึ้น ขอยกตัวอย่างพนักงานขาย 2 คนซึ่งสามารถปิดการขายได้ตรงเป้าทั้งคู่ พนักงานขายคนแรกอาจจะขายได้ตรงเป้าหมายที่วางไว้จริงๆ แต่เป็นการขายแบบเล็กๆ หลายๆ รายย่อย ไม่ได้เป็นลูกค้าที่จะซื้อยาวนาน ไม่มีการันตีว่าลูกค้ารายเล็กจะเป็นลูกค้าได้ตลอดไป เมื่อวันหนึ่งลูกค้ารายย่อยไม่มีกำลังซื้อก็อาจจะเจอปัญหายอดขายตกเป็นพนักงานขายที่ทำไม่ได้ตามเป้าจากที่เคยปิดได้เยอะๆ
สุดท้ายก็ไม่เกิดความมั่นคงในการงาน ส่วนพนักงานขายคนที่สองมีลูกค้าแค่ 2 รายใหญ่ๆ ขายอยู่แค่นั้น สามารถปิดยอดได้ตรงเป้าหมายเช่นกัน แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความมั่นคงเพราะหากเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งหรือลูกค้าเกิดปิดตัวลงไปจากที่เคยทำเป้าการขายได้ดีก็จะกลายเป็นทำได้ไม่ถึง เวลาที่พนักงานในองค์กรจะทำภารกิจอะไรต้องไม่ได้แค่ทำ
แต่ต้องมานั่งคิดวิเคราะห์ว่าภารกิจนั้นไปทำให้เกิดความยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งตรงจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก
หน้า 29

ที่มา : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด