กิตติวัฒน์ มโนสุทธิ "สิ่งสำคัญที่สุด ในช่วงวิกฤตต้องคิดบวก"


905 ผู้ชม


กิตติวัฒน์ มโนสุทธิ "สิ่งสำคัญที่สุด ในช่วงวิกฤตต้องคิดบวก"




คอลัมน์ Hr young Blood
โดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ [email protected]
กิตติวัฒน์ มโนสุทธิ "สิ่งสำคัญที่สุด ในช่วงวิกฤตต้องคิดบวก"

"เหรียญมี 2 ด้าน ถ้าคุณรู้สึกแย่แสดงว่าคุณอยู่ในจุดที่ต่ำที่สุดแล้ว จากจุดนี้มีแต่ จะขึ้น"
ประโยคสั้นๆ ที่ "กิตติวัฒน์ มโนสุทธิ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกกับพนักงานทุกคนในวันที่เขาก้าวเข้ามาเป็นผู้นำองค์กรที่กำลังจะล้มละลาย กระตุ้นให้ใจของมนุษย์เงินเดือนที่เคยห่อเหี่ยวรู้สึกพองโตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อฟื้นฟูองค์กรให้โลดแล่นบนถนนธุรกิจต่อไป
แต่การพูดอย่างเดียวนั้นคงไม่ทำให้พนักงานทุกคนเชื่อได้ ฉะนั้นจะต้องปฏิบัติให้ทุกคนเห็นด้วย
ความยิ่งใหญ่ของคอนเสิร์ต "เรน" และ "ดงบัง ชินกิ" ในรอบปีที่ผ่านมาถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถด้านการบริหารและการฟื้นฟูกำลังใจของพนักงานของผู้บริหารหนุ่มคนนี้ได้เป็นอย่างดี
แม้ว่า "กิตติวัฒน์" จะไม่เคยสัมผัสกับธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์มาก่อน แต่ด้วยประสบการณ์ที่เคยปลุกปั้นธุรกิจไอทีจนประสบความสำเร็จ ผนวกกับเป็นคนมองโลกในแง่บวก เขาจึงพาลูกทีมฝ่าคลื่นลูกใหญ่ที่ถาถ่มเข้าใส่ "อาร์ เค มีเดียฯ" ผู้ดำเนินธุรกิจวิทยุรายใหญ่จนหุ้นร่วงติดดินได้ภายช่วงสั้นๆ ด้วยการผ่าตัด แปลงโฉมธุรกิจจาก "อาร์ เค มีเดียฯ" สู่อาณาจักร "อดามัส อินคอร์ปอเรชั่น" ตัดทิ้งธุรกิจที่มีแววร่อแร่ แล้วแสวงหาธุรกิจใหม่ที่อนาคตสดใสเข้ามาดำเนินการแทน
"ช่วงแรกที่เข้ามาทุกอย่างอยู่ในสภาพที่แย่กว่าที่คิด สตางค์ไม่มี บริษัทขาดทุนเยอะ แต่ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก สิ่งแรกที่ทำคือกวาดบ้าน ดูรายละเอียดเรื่องคนที่เป็นคีย์หลักขององค์กรจะรักษาไว้อย่างไร จากนั้นดูว่าธุรกิจไหนที่จะเก็บ ธุรกิจไหนที่จะต้องทิ้ง และสุดท้ายจะเอาธุรกิจใหม่อะไรเข้ามา"
"กิตติวัฒน์" นึกถึงภาพอดีตแล้วเล่าว่า วันนั้นพนักงานก็งงๆ ว่า ผมเป็นใคร มาทำอะไร ก่อนจะดำเนินการใดๆ จึงต้องเรียกประชุมสตาฟที่มีอยู่ประมาณ 10 กว่าคนก่อนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ฉายภาพให้ทุกคนเห็นว่าสภาพองค์กรตอนนี้เป็นอย่างไร เอาความจริงขึ้นมาพูด แล้วบอกทุกคนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ต้องการอะไรจากพวกเขา ซึ่งนั้นไม่ยาก สิ่งที่ยากคือจะทำให้เหมือนกับที่พูดกับพนักงานได้อย่างไร
"สิ่งสำคัญที่สุด ณ วินาทีนั้น คือต้องคิดในเชิงบวก เพราะถ้าจมอยู่กับปัญหาทุกอย่างก็จบตั้งแต่วันแรก"
ภาพแรกที่แวบเข้ามาในห้วงความคิดของ "กิตติวัฒน์" ในวันนั้นคือการจัดคอนเสิร์ตเกาหลีซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่และยังไม่มีบริษัทใดเข้ามาทำอย่างจริงจัง
คอนเสิร์ตแรกเริ่มต้นขึ้นทันที โดย "เรน" นักร้องชื่อก้องของเกาหลี ชื่อของ "อดามัส" ก็ดังกึกก้องไปทั้งประเทศ เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกินคาด โปรเจ็กต์ดีๆ ก็หลั่งไหลเข้ามามากมาย
เมื่อพนักงานเห็นว่าทุกอย่างไม่ใช่แค่การปั่นหุ้น ความเชื่อมั่นของพนักงานก็พุ่งขึ้นมาทันที ทุกคนพร้อมจะทุ่มเททำงานเต็มที่ เพราะรู้แล้วว่า ไม้ท่อนนี้ใช่แน่ เกาะไปเถอะ เดี๋ยวก็ข้ามฝั่งไปได้เอง
ท่ามกลางวิกฤต แน่นอนว่าเสียงเรื่องการเลย์ออฟพนักงานย่อมดังกว่าการฟื้นฟูองค์กร
"หลังจากอธิบายให้พนักงานฟังว่าจะทำอะไรอย่างไรบ้าง บริษัทไหนที่ต้องขายทิ้ง บริษัทไหนที่ไม่ได้ขาย สิ่งสำคัญจะต้องยืนยันกับทุกคนว่าจะไม่มีเรื่องเลย์ออฟ พนักงานถ้าไม่มีใครทำอะไรผิดและนโยบายนี้ก็ใช้มาถึงปัจจุบัน"
เมื่องานเริ่มมากขึ้น กระบวนการเตรียมคนเพื่อรองรับธุรกิจใหม่จึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
"ผมไม่มีแบ็กกราวนด์เรื่องเอ็นเตอร์เทน เมนต์มาก่อน จึงต้องหาคนที่เป็นคีย์เข้ามาร่วมทีม แต่ด้วยสภาพบริษัทช่วงนั้นจึงไม่มีคนเก่งที่ไหนอยากมามือเป็นเท้าให้ สิ่งที่ทำได้ช่วงนั้นคือพลิกไปใช้พาร์ตเนอร์ที่มีประสบการณ์เข้ามาเสริมทัพแทน ทั้งเรื่องการจัดงาน การต้อนรับศิลปิน การประชาสัมพันธ์งานคอนเสิร์ต ทุกเรื่องต้องใช้มืออาชีพเข้ามาดูแลทั้งนั้น ซึ่งพอผ่านงานแรก อดามัสก็เริ่มมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมบันเทิง คนดีๆ ก็เริ่มสนใจเข้ามาร่วมงานกับอดามัส จนในที่สุดก็ได้ซีอีโอครบทั้ง 4 บริษัทย่อย"
และด้วยความที่เคยเป็นเจ้าของกิจการมาก่อน เคยทำงานแบบมืออาชีพ เมื่อเข้ามาเป็นมือปืนรับจ้างบริหารกิจการให้อดามัส "กิตติวัฒน์" จึงรู้ดีว่าคนที่จะทุ่มเททำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ได้นั้น ตัวเขาต้องมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกับเรา เพราะฉะนั้นจึงได้คัดคนที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และทำงานในลักษณะที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของบริษัทมากกว่าการเป็นลูกจ้างมืออาชีพมาร่วมทีม
"คนบางคนเป็นนักคิด คนบางคนเป็นนักทำ นักคิดจะพูดเก่ง พรีเซนต์งานเก่ง แต่เวลาลงมือทำจริงจะทำไม่ค่อยได้ แต่คนที่ทำงานเก่งจะหาค่อนข้างยาก ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าการทำงานยากกว่าการคิด คนที่ถูกคัดเลือกให้มานั่งแท่นซีอีโอของบริษัทย่อยในช่วงที่ผ่านจึงเน้นความเป็นนักปฏิบัติเป็นหลัก"
"กิตติวัฒน์" บอกว่า ช่วงของการรื้อถาง การจุดให้ติด เป็นเป็นที่ไม่ยาก แต่เมื่อจุดติดแล้วจะทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่งนั้นยิ่งยากกว่า หรือแค่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีอยู่แบบนั้นก็ยากแล้ว และนี่คือสิ่งที่ซีอีโอทุกคนจะต้องเข้ามาดำเนินการต่อจากสิ่งที่สร้างไว้
วันนี้ "กิตติวัฒน์" ได้พัฒนาองค์กรแห่งนี้ให้เป็นโฮลดิ้งคอมปะนีขยายการลงทุนไปยังบริษัทต่างๆ ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้บริษัทเหล่านี้สร้างผลตอบแทนกลับคืนมา แต่ปัญหามีอยู่ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้ทุกองค์กรเติบโตไปพร้อมๆ กัน
"ทุกคนจะต้องเห็นภาพเหมือนๆ กับที่ผมเห็น การสื่อสารจะต้องทำให้ทั่วถึงให้ทุกคนเข้าใจ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วธุรกิจก็เดินในลักษณะที่ต้องคอยสั่งทีละเรื่องๆ ดังนั้นการทำงานต่างๆ จึงต้องพยายามฝึกให้แต่ละคนคิดในสิ่งที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง ไม่ใช่ให้ความคิดมาจมอยู่ที่หัวหน้าอย่างเดียว"
"เวลาทำงาน ถ้าน้องเอาปัญหามาให้ จะไล่ทีละจุดว่าทำไม่ได้เพราะอะไร ลองช่องทางนี้ได้ไหม แล้วลองทำให้ดูเหมือนเป็นโค้ชให้กับทุกคน"
ความสำเร็จของ "กิตติวัฒน์ มโนสุทธิ" ในวันนี้จึงไม่ใช่เพียงแต่ทำให้องค์กรแห่งนี้เติบโตก้าวไกล แต่เขาได้ปลูกเมล็ดพันธุ์ความคิดเชิงบวกในตัวพนักงานที่จะทำให้ทุกคนพัฒนาเป็นฐานกำลังที่สำคัญขององค์กรและสังคมต่อไป
หน้า 30

 

ที่มา : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด