ใจร้อน หรือ ร้อนใจ ?
คอลัมน์ HR CORNER
โดย คม สุวรรณพิมล [email protected]
คำว่า "ใจ" มักจะใช้แทนสิ่งสำคัญของคนทุกๆ อย่าง ซึ่งใจเป็นสิ่งจำเป็นต่อ "คน" ทั้งในแง่ของ "การมีชีวิต" และ "การดำเนินชีวิต"
การมีชีวิตคือ "ใจ" ใช้แทน "หัวใจ" ซึ่งเป็นแก่นของชีวิตที่จะขาดไม่ได้ ส่วนการดำเนินชีวิตก็มักจะใช้คำว่า "ใจ" กับทุกอย่าง ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะมาจาก "หัว" ไม่ใช่ "หัวใจ" ก็ตาม แต่เนื่องจากมันมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต
ดังนั้นจึงต้องใช้คำว่า "ใจ" มาร่วมด้วย เช่น ใจกล้า ใจแข็ง ใจอ่อน ใจปลาซิว รวมถึงใจร้อน และร้อนใจด้วย
"ใจร้อน" และ "ร้อนใจ" ดูเผินๆ เหมือนจะมีความหมายละม้ายคล้ายกัน แต่แท้จริงแล้วแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทั้งสองคำนี้เป็น "ใจ" ที่จัดอยู่ในประเภทลบ ซึ่งใครมีก็ไม่น่าส่งผลดีต่อตนเองเท่าไรนัก แต่หลายๆ คนก็ชอบที่จะมีมันไว้ แต่บางคนก็ไม่ชอบแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามสถานการณ์ที่นำพาไป
ใครบ้างที่เป็น "คนใจร้อน" ? ผมว่าหลายคนอาจตอบว่าตนเองเป็นคนใจร้อนอย่างภาคภูมิใจ
แล้วเป็นคนใจร้อนมันดีอย่างไร ?
"ก็เป็นคนคำนึงถึงทุกสิ่งทุกอย่าง และสามารถทำทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน" ตัวแทนคนใจร้อนบางคนอาจตอบแบบนี้
คำตอบนี้ดูเผินๆ ก็น่าจะดีนะ เพราะ "ดูเหมือนคนมีประสิทธิภาพเลย" ซึ่งถ้ายึดตามนี้ "คนใจเย็น" ก็น่าจะเป็นคนไร้ประสิทธิภาพสิ ?
ถ้าตีความ "คนใจร้อน" ว่าเป็น "คนไม่ปล่อยวาง" ล่ะ คุณคิดว่าอย่างไร ? ตรงกับใจคุณหรือไม่ ?
ไม่ปล่อยวางในทุกเรื่อง โดยคนใจร้อนจะไม่สามารถแยกแยะได้ออกว่าเรื่องอะไรสำคัญและเรื่องอะไรไม่สำคัญ ดังนั้นเขาก็จะเอาทุกอย่างมากองรวมกันเป็นกองเดียว แล้วมองงานทุกอย่างว่าสำคัญเท่ากัน ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้ "ใจ" ของเขาก็จะร้อนรนไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง จะหยิบเรื่องนี้ก็กังวลเรื่องนั้น จะทำเรื่องนั้นก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง สับสนอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
นอกจาก "ไม่ปล่อยวาง" แล้ว คนใจร้อนยังมีอีกลักษณะหนึ่งคือ "คิดว่าตนเองเก่งคนเดียว" ซึ่งสังเกตจากการกระทำได้ง่ายๆ ว่าที่คนใจร้อนมักจะไม่ยอมปล่อยงานออกจากตัวเองเลย แม้ว่ามันเป็นงานไม่ว่ามันจะเป็นงานขนาดเท่าไร เพราะเขามักคิดว่า "คนอื่นทำไม่ได้" แต่ไม่ได้หมายความว่าคนใจร้อนจะเป็นคนทำอะไรคนเดียวเงียบๆ
ตรงกันข้ามคนใจร้อนเป็นคนที่ "สร้างความกดดัน" และ "ความหวาดวิตก" ให้กับคนอื่นอย่างมาก เนื่องจากเขาคิดว่าตนเองเก่งคนเดียว
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ "คนอื่น" ไม่เก่งบอกให้ทำก็ทำไม่ได้ดังใจ เกิดคำต่อว่าใน รูปแบบต่างๆ สารพัด ไม่เคยมีใครทำอะไรดีๆ ได้เลย
นอกจาก "งาน" ไม่เสร็จแล้วยังทำให้ "สัมพันธภาพ" และบรรยากาศการทำงานเสียไปอีกด้วย
ส่วน "คนร้อนใจ" กลับตรงข้ามโดย สิ้นเชิงเพราะเขามักมีปัญหาด้าน "ประมวลผล" มากกว่า คล้ายๆ กับมีข้อมูลอยู่ในหัวมากเกินไป ทั้งข้อมูลที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ประเภทคิดขึ้นเอง แต่โดยมากมักจะเป็นข้อมูลประเภทคิดไปเองเสียมากกว่า
ถ้าให้คำจำกัดความของ "คนร้อนใจ" น่าจะเป็นคนที่เอาข้อมูลมากมายมาบรรจุในหัว แล้วไม่สามารถจัดการกับข้อมูลนั้นได้ เกิดผลข้างเคียงขึ้นคือ "ความวิตกกังวล" ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวเองเต็มๆ เพียง "คนเดียว"
คือไม่รู้จะทำอย่างไร ดูขาดสติ ประสิทธิภาพการคิด การจัดการงานต่างๆ ต่ำลง ดูไม่น่าคบหาเท่าไร
ซึ่งทั้งหมดเกิดมาจากตนเองที่คิดว่าปัญหาของตนเองสำคัญที่สุด เลยพยายามสร้างจุดสนใจขึ้นมา แต่ในความคิดของคนอื่นๆ เขาอาจจะไม่คิดเห็นเช่นเดียวกันก็ได้
"ปัญหาของคนร้อนใจ อาจดูเล็กน้อยในสายตาของคนอื่น" ก็ได้
และนี่คือเหตุผลที่ทำให้คนร้อนใจขาดเสน่ห์และความน่าคบค้าสมาคม
ถ้านานๆ เป็นทีก็อาจไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ ก็น่าเบื่อเหมือนกัน
สาเหตุหลักของ "คนร้อนใจ" มาจากการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ต่างๆ มากเกินไป ไม่ปล่อยวาง คิดว่าเหตุการณ์นี้มันจะส่งผลกระทบต่ออีกเหตุการณ์หนึ่งเป็นลูกโซ่
คิดว่าถ้าเกิดอย่างนี้ขึ้นจะมีแต่ผลร้ายเพียงอย่างเดียว เช่น ถ้าต้องการให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนประถม มีชื่อเสียงที่คนส่วนใหญ่นิยมกัน ก่อนเข้าคุณพ่อคุณแม่ก็จะคิดว่าต้องเข้าให้ได้ไม่อย่างนั้นลูกจะไม่มีอนาคตที่ดี ร้อนรนอยู่ในใจ
ถ้าบังเอิญลูกสอบเข้าไม่ได้โลกก็เหมือนจะแตกอยู่ตรงหน้า ต�องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกเข้าให้ได้ เพราะคิดว่ามันคืออนาคตของลูก
เหตุการณ์ที่เล่ามานี้คือ เรื่องจริงๆ ที่หลายคนคงพบเจอ แต่ที่บอกว่า "ลูกไม่มีอนาคต" มันคือเรื่องจริงหรือคิดไปเอง ? แต่กลับกังวลกับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป
วิธีแก้ไขไม่ยากเลยสำหรับคนร้อนใจ แค่เพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้นคือ
ขั้นแรก ให้เขียนรายการต่างๆ ที่เลวร้ายที่อยู่ในหัวคุณออกมาให้หมดว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้าง
และเขียน "ผลเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น" ออกมาให้หมด
ขั้นต่อมา ดู "ผลเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น" ที่คุณเขียนมันออกมาแล้ว "ทำใจยอมรับมัน"
ขั้นสุดท้าย หาวิธีแก้ไขถ้ามันเกิด "ผลเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น" ว่ามีวิธีอะไรบ้าง
3 วิธีง่ายๆ แค่นี้คุณก็สามารถแก้ไขความร้อนใจของตัวเองได้
หลักการคือ ปกติเรื่องเลวร้ายที่คุณคิดแล้วไม่ได้เขียน มันจะวนอยู่ในหัวของตัวเอง เข้าทำนอง "ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว"
แต่เมื่อคุณเขียนมันออกมาจริงๆ จะพบว่าสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นมีอยู่ไม่กี่อย่างเอง ซึ่งมันทำให้หัวคุณโล่งขึ้น มีเมโมรี่เหลือเพียงพอให้ใช้ประมวลผลต่อ
แล้วพอคุณทำใจยอมรับมันเท่ากับว่า คุณได้ "ปล่อยวาง" แล้ว "ยิ่งไม่เครียด ยิ่งคิดได้"
สุดท้ายให้คุณหาทาง "แก้ไขผลเลวร้าย" คือคุณทำใจได้แล้ว หาทางแก้ไขถ้าเกิดผลร้ายแล้ว ต่อไป "จะกลัวอะไรอีก" ส่วนวิธีแก้ไขในข้อสุดท้าย อาจจะไม่ได้นำมาใช้จริง ก็เพราะว่าเรื่องที่คุณวิตกกังวลมันเป็นเรื่องที่ "คิดไปเอง" ซึ่งมันอาจจะไม่เกิดขึ้นในชีวิตจริงก็ได้
เราทุกคนเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ดังนั้น "อารมณ์และความรู้สึก" มัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีอะไรดีกว่ากันระหว่าง "ใจร้อนกับร้อนใจ" แต่เราสามารถที่จะควบคุมมันได้ เพียงอย่างเดียวคือ "รู้ตัว" ทุกครั้งที่คุณเริ่มจะมีอาการเช่นนี้ขึ้น เพราะถ้าคุณยังฝืนทำโดยไม่รู้ตัวต่อไปนาน ผลที่เกิดขึ้นคือ
คุณอาจมีชีวิตอยู่ แต่กลับรู้สึกว่าอยู่ในโลกนี้คนเดียวก็ได้ !
หน้า 30
โดย : matichon.co.th