https://lentera.uin-alauddin.ac.id/question/gratis-terlengkap/https://old-elearning.uad.ac.id/gampang-menang/https://fk.ilearn.unand.ac.id/demo/https://elearning.uika-bogor.ac.id/tanpa-potongan/https://e-learning.iainponorogo.ac.id/thai/https://organisasi.palembang.go.id/userfiles/images/https://lms.binawan.ac.id/terbaik/https://disperkim.purwakartakab.go.id/storage/https://pakbejo.jatengprov.go.id/assets/https://zonalapor.fis.unp.ac.id/-/slot-terbaik/https://sepasi.tubankab.go.id/2024tte/storage/http://ti.lab.gunadarma.ac.id/jobe/runguard/https://satudata.kemenpora.go.id/uploads/terbaru/
มองมุมใหม่:สมการแห่งความสำเร็จ MUSLIMTHAIPOST

 

มองมุมใหม่:สมการแห่งความสำเร็จ


761 ผู้ชม


มองมุมใหม่:สมการแห่งความสำเร็จ




มองมุมใหม่:สมการแห่งความสำเร็จ

 

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสไปซื้อหนังสือเล่มหนึ่งมาจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ ชื่อ A Passion for Success ซึ่งเขียนโดย Kazuo Inamori ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จท่านหนึ่งในญี่ปุ่น และในหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือที่เล่าถึงหลักคิดและแนวทางในการดำรงตนและการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหนังสือประเภทนี้เราก็จะพบว่ามาจากฝั่งตะวันตกเสียมาก นานๆ ที ถึงจะมีหนังสือในลักษณะดังกล่าวมาจากทางฝั่งเอเชียให้เราได้อ่านกัน

แนวคิดหลักที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ที่ผู้เขียนนำมาจากประสบการณ์จริงก็คือ เรื่องของสูตรหรือแนวทางในการประสบความสำเร็จครับ ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ชัดเจนและสามารถเข้าใจได้ง่ายดี โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เขาได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ความสำเร็จในชีวิตคนเรานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสามประการครับ ได้แก่ ความสามารถ (Ability) ความพยายาม (Effort) และทัศนคติ (Attitude) โดยปัจจัยทั้งสามประการนั้นสามารถนำมาเข้าเป็นสมการง่ายๆ ได้ดังนี้ครับ ความสำเร็จของชีวิต = ความสามารถ x ความพยายาม x ทัศนคติ

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเริ่มคัดค้านว่า เราไม่สามารถนำปัจจัยที่ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จมาเข้าสมการได้ แต่ถ้ามองดูดีๆ แล้วจะพบว่าสมการข้างต้นเป็นตัวชี้ให้เห็นเลยนะครับว่า ทำไมคนที่มีความสามารถปานกลาง ไม่ได้ฉลาดเฉลียว หรือ มีพรสวรรค์ตั้งแต่กำเนิดถึงสามารถประสบความสำเร็จได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่ฉลาด เรียนเก่ง สมองดี จำนวนมากกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าคนที่สมองปานกลางแต่มีความพยายามและความมุ่งมั่นที่สูง

ผมเชื่อว่าทุกคนย่อมอยากจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนเองทำทั้งสิ้นครับ เพียงแต่การจะประสบความสำเร็จได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งสามประการ โดยปัจจัยแรกคือ เรื่องของความสามารถหรือ Ability นั้นก็คงจะทราบกันอยู่แล้วครับ ว่าได้แก่ พวกความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความฉลาดที่หลายๆ ครั้งมักจะติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด (เรียกว่าทำบุญเมื่อชาติที่แล้วมาดี) ส่วนปัจจัยประการที่สองคือเรื่องของความพยายาม (Effort) ก็เป็นเรื่องของความตั้งใจ ความมุ่งมั่น การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ และปัจจัยประการสุดท้ายคือทัศนคติ (Attitude) ก็เป็นเรื่องของทัศนคติ ค่านิยม ปรัชญาในการดำรงชีวิตและการทำงานของเราทุกคน

ท่านผู้อ่านลองเดาดูซิครับว่าในปัจจัยทั้งสามประการนั้น ผู้ที่คิดสมการนี้ขึ้นมามองว่าปัจจัยตัวไหนที่มีความสำคัญที่สุด? เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านจะนึกถึงเรื่องของความสามารถ กับ ความพยายาม เพราะเป็นสิ่งที่เราพบเห็นอยู่บ่อยๆ แต่ผู้เขียนหนังสือเรื่อง A Passion for Success เขาให้ความสำคัญกับปัจจัยประการสุดท้าย ในเรื่องของทัศนคติมากที่สุดครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติและค่านิยมของบุคคลในการดำรงตนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิดเชิงบวก (Positive Thinking) ความตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำสิ่งใด

ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูซิครับว่าถ้ามีคนที่ฉลาด ปราดเปรื่อง มีความสามารถ รวมทั้งมีความตั้งใจและความพยายามในการทำงานที่สูง แต่เป็นผู้ที่คิดไม่ดี ชอบคดโกง คนประเภทนี้จะเป็นบุคคลอันตรายมากเพียงใด

สมการข้างต้นและการให้ความสำคัญกับเรื่องของทัศนคติเป็นเสมือนเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นภาพเหมือนกันนะครับว่า ทำไมคนบางคนดูแล้วน่าจะประสบความสำเร็จ กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่บางคนที่สมัยเรียนหนังสือดูเรียบๆ เฉยๆ กลับประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ท่านผู้อ่านลองมองย้อนกลับไปดูเพื่อนๆ สมัยเรียนหนังสือซิครับ เพื่อนบางคนเป็นเด็กประเภทหัวดี เป็นที่หนึ่งของห้องตลอด เรียนเก่งในทุกวิชา กีฬาก็เก่ง ดนตรีก็เก่ง แต่พอโตขึ้นมาแล้วความสำเร็จและความก้าวหน้าในชีวิตกลับไม่รุ่งโรจน์เหมือนที่คนอื่นคาดหวังไว้ บุคคลเหล่านี้ไม่ถึงกับไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้พุ่งเป็นพลุดังความสามารถที่มีอยู่

ในขณะเดียวกันเพื่อนบางคนสมัยเรียน เป็นคนที่เรียนหนังสือดีกว่าปานกลางหน่อย แล้วก็ไม่ได้ดูโดดเด่นอะไรในสายตาของเพื่อนฝูงเลย แต่เมื่อเติบโตและทำงานแล้วกลับประสบความสำเร็จมากกว่าเพื่อนที่เรียนเก่ง ซึ่งเมื่อนำสมการความสำเร็จข้างต้นมาพิจารณาแล้วก็พอจะอธิบายได้เลยครับว่า ทำไมคนที่มีความสามารถปานกลาง แต่มีทัศนคติและค่านิยมในการดำรงชีวิตที่ดี ยอมรับในสิ่งที่ตนเองด้อย และมีความพยายามอย่างมากเพื่อทดแทนในสิ่งที่ตนเองด้อยนั้น สามารถประสบความสำเร็จเหนือกว่าพวกที่เก่ง มีความสามารถโดดเด่น แต่ไม่คุ้นชินกับการใช้ความพยายามที่มาก (เนื่องจากคิดว่าตัวเองหัวดีอยู่แล้ว เอาตัวรอดได้เสมอ)

ผมว่าท่านผู้อ่านอาจจะลองนำสมการความสำเร็จนี้ไปใช้รวมทั้งไปสอนลูกหลานหรือลูกน้องได้เลยนะครับ ถึงแม้เราจะไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของสมการนี้ตามหลักคณิตศาสตร์ แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องชี้ให้คนธรรมดาทั่วๆ ไปเห็นว่าการจะประสบความสำเร็จได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมองดี ความสามารถเด่น เพียงอย่างเดียว ความพยายามและทัศนคติก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เราประสบความสำเร็จ

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา : bangkokbiznews.com

อัพเดทล่าสุด