ลดภาระลูกน้องยุคน้ำมันแพง


764 ผู้ชม


ลดภาระลูกน้องยุคน้ำมันแพง




เรื่องของราคาน้ำมันแพงเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ (และการเมือง) สืบเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนบัดนี้ปัญหาก็มิได้คลี่คลายไปเลย ราคาน้ำมันทั้งดีเซลและเบนซินก็ขึ้นเอาๆ แม้ว่าบางปั๊มจะมีแก๊สโซฮอลล์ให้เติมก็ใช่ว่าราคาจะถูกกว่ากันมากมาย สรุปแล้วก็คือค่าครองชีพของเราทุกคนสูงขึ้น ไฟฟ้า น้ำประปา ค่าโดยสารรถประจำทาง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ล้วนพร้อมใจกันขึ้นราคากันทั้งนั้น ทำให้ทุกคนเกิดความเครียด และโรคเครียดนี้ก็เป็นโรคที่รักษายากเสียด้วย ...

ไม่ใช่ว่าคนไทยเท่านั้นที่หน้าดำคร่ำเครียดเผชิญกับเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบครีมหน้าขาวยังเอาไว้ไม่อยู่ ฝรั่งผิวขาวชาวมะกันก็หน้าเครียดหน้าดำกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นเช่นกัน แต่การที่จะมานั่งเครียดโดยไม่หาทางแก้ไขก็คงจะไม่เกิดประโยชน์อันใด จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาว HR จับมือกับผู้บริหารและพนักงานหาหนทางลดความฝืดเคืองกันน่าจะเป็นทางออกที่สร้างสรรค์กว่า

ผู้เขียนได้ไปอ่านพบการสำรวจเรื่อง "Executives Acting to Reduce The Impact of Higher Gas Price" (ผู้บริหารมีการปฏิบัติที่ลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างไร) ที่จัดโดยบริษัท Robert Half International Inc. (เป็นบริษัทจัดหาพนักงานด้านบัญชี การเงิน และ IT ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา) โดยงานสำรวจชิ้นนี้มีความน่าสนใจตรงที่เขาได้ไปสอบถามผู้บริหารระดับสูงจำนวน 150 คน จากบริษัทชั้นนำของสหรัฐ จำนวน 1,000 แห่ง ว่าได้ใช้นโยบายหรือแนวทางปฏิบัติอะไรบ้างในการรับมือกับปัญหาราคาน้ำมันแพง นอกจากจะสอบถามผู้บริหารระดับสูงแล้ว ยังได้สำรวจข้อมูลจากพนักงานจำนวน 591 คนอีกด้วย

คิดว่าข้อมูลจากงานสำรวจชิ้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนบ้านเราในแง่ของการคิดหาแนวทางที่จะแก้ปัญหาหรือผ่อนภาระที่ทั้งองค์กรและลูกจ้างต้องแบกรับเรื่องน้ำมันแพงอันมีผลกระทบทำให้ค่าครองชีพในทุกๆ ด้านสูงขึ้น แนวคิดบางอย่างอาจจะใช้ได้เฉพาะในสภาพแวดล้อมของสหรัฐ แต่บางอย่างก็น่าจะนำมาปรับใช้ได้ในบ้านเรา นอกจากนี้ผู้เขียนจะได้นำเสนอแนวคิดของตนเองในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำมันแพงร่วมไปด้วย

ผลการสำรวจว่าผู้บริหารชาวอเมริกันมีวิธีปฏิบัติในการลดผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงอย่างไร โดย Robert Half International Inc.

ลำดับแรก : เพิ่มมาตรการเข้มงวดขึ้นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพนักงาน วิธีการนี้มีบริษัทนิยมใช้มากถึง 47% ของผู้บริหารที่ได้รับการสำรวจ

ลำดับที่ 2 : อนุญาตหรือมีนโยบายให้พนักงานเป็นพนักงานแบบ "Telecommuter" มากขึ้น คำว่า Telecommuter นี้หมายถึงการที่พนักงานบางคนในบางแผนกของบริษัท เช่น แผนกการขาย การให้คำปรึกษา ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้าออฟฟิศมาทำงานทุกวัน เพราะโดยหน้าที่การงานของพวกเขาทำให้มักต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานนอกสถานที่ หรือพวกที่ปรึกษาบางคนต้องไปประจำอยู่ที่สำนักงานของลูกค้าเป็นแรมเดือนก็มี พนักงานพวกนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีห้องทำงานเป็นสัดส่วนเหมือนอย่างพนักงานแผนกอื่นๆ ที่ต้องนั่งประจำออฟฟิศ เช่น แผนกต้อนรับลูกค้า หรือฝ่ายผลิต เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการประหยัดค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ประหยัดน้ำมัน และค่าเดินทางของพนักงานที่ต้องเดินทางจากบ้านมายังออฟฟิศ บริษัทหลายแห่งจึงมีนโยบายให้พนักงานทำตัวเป็น Telecommuter หรืออาจเรียกว่า "Mobile Worker" ก็ได้ กล่าวคือพนักงานพวกนี้จะไม่มีห้องทำงานเป็นเรื่องเป็นราวที่บริษัท แต่พวกเขาจะมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่บริษัทจัดให้ อันได้แก่ คอมพิวเตอร์ Laptop โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ (กรณีเป็นช่าง) ทำให้เขามีความพร้อมที่จะทำงานนอกสถานที่และไปพบลูกค้าตามสถานที่ต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว โดยการติดต่อมายังสำนักงานหรือหัวหน้าจะเป็นไปโดยผ่านการสื่อสารทางมือถือหรืออินเทอร์เน็ต นานๆ ทีจึงจะเข้าสำนักงานเสียที ซึ่งนโยบายเรื่อง Telecommuter นี้ พบว่ามีความแพร่หลายมากขึ้นในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และในการสำรวจครั้งนี้พบว่า 37% ของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการใช้นโยบายนี้ในการลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ

ลำดับที่ 3 : ส่งเสริมให้พนักงานใช้วิธี "Carpooling" หรือหาเพื่อนร่วมทางในการใช้รถ โดยแทนที่จะขับรถแล้วมีตัวเองนั่งเพียงคนเดียวซึ่งไม่คุ้มค่าน้ำมัน ก็ให้หาเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ หรือเพื่อนบ้านที่มีเส้นทางการเดินทางเหมือนๆ กันหรือใกล้เคียงกันให้มานั่งรถคันเดียวกัน เพื่อช่วยกันจ่ายค่าน้ำมัน โดยผลัดกันคนละวัน เช่น วันนี้ฉันนั่งรถไปกับเธอ พรุ่งนี้เธอนั่งรถไปกับฉัน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้คนในครอบครัวเดียวกันพยายามใช้รถไปไหนมาไหนด้วยกัน แทนที่จะขับรถกันคนละคัน ปรากฏว่านโยบายนี้มีผู้บริหารใช้ถึง 35%

ลำดับที่ 4 : อนุญาตให้พนักงานย้ายที่ทำงานไปทำงานในสาขาของบริษัทที่ใกล้บ้าน สำหรับบริษัทที่มีหลายสาขาคงสามารถนำนโยบายนี้ไปใช้ได้ เป็นแนวคิดแบบโซนนิ่ง (Zoning) คือต้องมีการสำรวจว่าพนักงานแต่ละแผนก แต่ละระดับชั้นมีนิวาสถานอยู่ที่ใด และทางบริษัทมีสาขาอยู่ที่ไหนบ้าง จะทำการจัดโยกย้ายพนักงานที่สมัครใจให้ไปทำงานในสาขาใกล้บ้านของตน สำหรับวิธีการนี้มีผู้บริหารใช้ถึง 31% ค่ะ

ลำดับที่ 5 : อนุมัติค่าเดินทางสำหรับพนักงานที่ใช้บริการขนส่งมวลชน ผู้บริหารของบริษัทบางแห่งสนับสนุนให้พนักงานเลิกหรือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยอนุมัติให้ค่าเดินทางสำหรับพนักงานที่ไม่ใช้รถยนต์ แต่ใช้บริการขนส่งมวลชนแทน ทั้งนี้มีบริษัทเป็นจำนวน 14% ที่ใช้นโยบายนี้ อย่างไรก็ตามไม่มีรายละเอียดว่าทางบริษัทช่วยค่าเดินทางไป-กลับจากบ้านถึงสำนักงานบางส่วนหรือทั้งหมด

ลำดับที่ 6 : จัดรถขนส่งพนักงานจากบ้านถึงสำนักงาน นโยบายนี้นับว่าใจดีมาก แต่ค่าใช้จ่ายคงไปตกอยู่ที่บริษัท อย่างไรก็ตามถ้าบริษัทไม่มีนโยบายขึ้นเงินเดือน แต่อยากช่วยลดภาระค่าครองชีพของพนักงาน ก็สามารถจะกระทำได้ นโยบายนี้มีบริษัทจำนวน 8% ที่เข้าร่วมในการสำรวจใช้อยู่ค่ะ

ลำดับที่ 7 : ช่วยค่าน้ำมันพนักงาน มีอยู่ 6% ของบริษัทที่ได้รับการสำรวจช่วยออกค่าน้ำมันให้พนักงาน

ลำดับที่ 8 : ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเพื่อลดภาระค่าน้ำมันแพง มีเพียง 4% ของบริษัทที่ได้รับการสำรวจใช้นโยบายนี้

ลำดับที่ 9 : ใช้ระบบ Teleconference ในการประชุม เพื่อที่พนักงานจะได้ไม่ต้องเดินทางจากที่ต่างๆ มาประชุม เป็นการประหยัดทั้งค่าน้ำมันและเวลาในการเดินทาง แต่มีเพียง 1% ของบริษัทที่ได้รับการสำรวจรายงานว่าใช้วิธีนี้ในการต่อสู้กับราคาน้ำมันแพง

เป็นอย่างไรบ้างคะ -- อ่านมาถึงตอนนี้คาดว่าแนวคิดแนวปฏิบัติของผู้บริหารฝั่งอเมริกาคงจะนำมาใช้ในบ้านเราได้หลายประการเลยทีเดียว ความจริงแล้วรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ในบ้านเราทั้งภาครัฐและเอกชนก็ช่วยกันออกมารณรงค์ให้ช่วยประหยัดน้ำมันและพลังงาน โดยมีโฆษณาให้ข้อมูลเรื่องการใช้รถยนต์ การใช้เครื่องไฟฟ้า การใช้เครื่องปรับอากาศให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าคนไทยเราบางส่วนยังไม่ตื่นตัวและให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ผู้เขียนคิดว่าปัญหาเรื่องการใช้พลังงานนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของจิตสำนึกและความรับผิดชอบที่ประชาชนแต่ละคนมีต่อตนเอง ต่อสังคม ประเทศชาติ และโลกโดยส่วนรวม การแก้ปัญหาจึงต้องทำกันโดยมุ่งที่จิตสำนึกเป็นสำคัญ นอกจากนี้การให้การศึกษาและข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งการมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้พนักงานก็เป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารจัดการและฝ่าย HR สามารถกระทำได้หลายวิธีด้วยกัน โดยผู้เขียนจะนำเสนอเรื่องนี้ต่อในสัปดาห์หน้าว่า ชาว HR อย่างเราจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำมันแพงได้อย่างไร สำหรับสัปดาห์นี้ขอเพียงจุดประกายให้ผู้บริหารนำไปคิดเป็นการบ้านว่าบริษัทคนไทยเราจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อเทียบกับบริษัทในสหรัฐอเมริกา คนไทยเราต้องไม่แพ้ฝรั่ง...จริงไหมคะ?

 

ที่มา : www.jobjob.co.th

อัพเดทล่าสุด