การพัฒนาภาวะผู้นำ สมัยใหม่


956 ผู้ชม


การพัฒนาภาวะผู้นำ สมัยใหม่




ปัจจุบันองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็มีการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ และแน่นอนว่าย่อมมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างของสายงาน ปรับลดจำนวนพนักงาน ปรับหน้าที่ความรับผิดชอบงาน มีการตื่นตัวในเรื่องของการใช้เครื่องมือในการบริหารและวัดผลในหลาย ๆ แบบ มีการกำหนดแผนงานและเป้าหมายของการทำงานแต่ละฝ่ายงานไปจนถึงแต่ละบุคคล ไปจนถึงการใช้ระบบการจ่ายผลตอบแทนแบบ Pay for performance เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลกระทบต่อพนักงานในองค์กรทุกระดับ โดยเฉพาะในแง่ของความรู้สึกถึงความมั่นคงในอาชีพงานที่ทำอยู่ จนบางครั้งเกิดความไม่แน่ใจ เกิดความเครียด มีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขาดความร่วมมือ ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ย่อมส่งผลเสียหายต่อองค์กรเป็นอย่างยิ่ง ความจำเป็นของผู้บริหารหรือหัวหน้างานในทุกระดับ จึงมีบทบาทที่สำคัญที่จะนำทีมงานของตนเองไปสู่ความสำเร็จภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และนี่คือความท้าทายในอนาคตของผู้นำที่จะต้องเผชิญ..

......
วัตถุประสงค์ของบทความนี้

ผู้เขียนตั้งใจว่า จะให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงแนวคิดและบทบาทของหน้าที่ผู้นำ ได้พัฒนาด้านทักษะการสื่อสารกับ “คน” ในเรื่องของ

-  ทัศนคติเชิงบวก (Positive attitude)

-  การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Chang Management)

-  การจูงใจ (Motivation)

-  การบริหารทีม (Team Management)

-  การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management)

-  การสอนงาน (Coaching)

-  การมอบหมายงาน (Delegation)

-  และ การรับรู้ถึงผลย้อนกลับ (Feedback)

แต่การพัฒนาภาวะผู้นำของหัวหน้างานถ้าจะให้ได้ผลจริง ๆ จะต้องมีการทำ Workshop เพื่อละลายพฤติกรรม มี Role Play เพื่อให้พบกับสถานการณ์จำลอง ปรับทัศนคติและแนวทางปฏิบัติ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ถึง 3 วัน ดังนั้น บทความนี้จึงเป็นได้แค่เพียงเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เกิดแนวคิดและปัญญา กลับมามองตนเองหรือมองไปรอบ ๆ ตัว เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงบทบาทที่ควรจะเป็น และปรับปรุงตนเองให้อยู่ในจุดที่สมดุล ไม่ยึดติดกับแนวคิดและวิธีการเก่า ๆ เพราะความสำเร็จในอดีต มันอาจจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับอนาคต แม้จะอ่านมามากแค่ไหน แต่ก็ไม่มีอะไรดีกว่าที่ได้ลองลงมือปฏิบัติจริง ดังนั้น การสัมมนาเชิงปฏิบัติจึงมีความจำเป็นสำหรับหลักสูตร Leadership Development ที่ได้ผล

คำคม คำคน

Charles Handy: คุณไม่สามารถมองอนาคตว่า เป็นความต่อเนื่องจากอดีต เพราะว่าอนาคตจะแตกต่างออกไป และเราต้องเลิกเรียนรู้วิธีการที่เราจัดการในอดีตเพื่อจัดการกับอนาคต

Peter Senge: เราต้องยุติความพยายามที่จะคาดคะเนถึงสิ่งที่จะทำ ด้วยการดูในสิ่งที่เราทำมาแล้ว

Michael Hammer: ถ้าคุณคิดว่าคุณทำดีอยู่แล้ว คุณจะตายได้ ความสำเร็จในอดีตมิได้เป็นนัยสำคัญสำหรับความสำเร็จในอนาคต สูตรสำเร็จของเมื่อวานนี้เป็นแค่การรับประกันถึงความล้มเหลวในวันพรุ่งนี้

ผู้นำ คือ...

คำนิยามของคำว่า “ผู้นำ” ตามพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ให้ความหมายของผู้นำว่า เป็นนามหมายถึง “หัวหน้า”

รศ. ดร. วิโรจน์ สารรัตนะ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายถึง “ภาวะผู้นำ” ว่า “เป็นกระบวนการที่ผู้บริหารจะให้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของ ผู้อื่น มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุจุดหมายขององค์การ จากนิยามดังกล่าว มีคำถามว่าผู้บริหารจะทำให้ตนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนอื่นได้อย่างไร คำตอบก็คือ อำนาจ (power) (Bartol & others 1998) อำนาจนี้มีที่มาจากหลายแหล่งด้วยกัน แต่โดยทั่วไปมีมาจาก 6 แหล่งที่สำคัญดังนี้ คือ (French & Raven 1959 อ้างใน Bartol & others) 1) อำนาจตามกฎหมาย (legitimate power) เป็นอำนาจที่มีตามตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในสายการบังคับบัญชาขององค์การ ตามอำนาจหน้าที่ (authority) ของตำแหน่งนั้น 2) อำนาจในการให้รางวัล (reward power) เช่น การเลื่อนขั้นเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง การสนับสนุนการศึกษาหรือฝึกอบรม การยอมรับ เป็นต้น 3) อำนาจในการลงโทษ (coercive power) เมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การลดขั้นเงินเดือน การโยกย้ายงาน การให้ออกจากงาน เป็นต้น 4) อำนาจในความเป็นผู้เชี่ยวชาญ (expert power) อันเนื่องจากมีประสบการณ์ ความรู้ หรือทักษะเชิงเทคนิคที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา 5) อำนาจในการมีข้อมูลสารสนเทศ (information power) เนื่องจากได้ครอบครองและควบคุมข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญและจำเป็นต่อการปฏิบัติงานและการวางแผนขององค์การ 6) อำนาจเชิงอ้างอิง (referent power) เป็นผลจากความนิยมชมชอบ ความเคารพนับถือ และความเป็นมิตรจากบุคคลอื่น”

รศ. ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต สาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความหมายของผู้นำว่า “ในปัจจุบันคำว่าผู้นำอาจหมายถึงผู้ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชากับเพื่อนร่วมงานไปจนถึงลูกค้าและผู้รับบริการ ในขณะเดียวกันผู้บริหารมักจะมองที่ตำแหน่ง หรืออำนาจหน้าที่จะได้ยินคำว่าคนบางคนเป็นผู้บริหารแต่ไม่ได้เป็นผู้นำ คนบางคนเป็นผู้นำแต่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร หรือคนบางคนเป็นทั้งผู้บริหารและเป็นทั้งผู้นำหมายความว่า ผู้บริหารบางคนก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งทางด้านบริหารโดยไม่มีการยอมรับ ลูกน้องมีปัญหาก็ไม่ได้ถาม เพราะคิดว่าผู้บริหารท่านนี้ไม่ค่อยรู้จริง และเมื่อไปถามเพื่อนร่วมงานด้วยกัน เพื่อนร่วมงานก็กลายเป็นผู้นำ ซึ่งไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้บริหาร แต่เป็นการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน ความแตกต่างของผู้บริหารกับผู้นำคือด้านของการยอมรับผู้บริหารอาจจะได้การยอมรับในเชิงของตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ แต่ถ้ามองทางด้านผู้นำบ้างจะมีเรื่องของการยอมรับหรือในทางหลักการจะใช้คำว่ามี Power หรือมีอำนาจบารมี”

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ จาก คอลัมน์ "สู่ศตวรรษใหม่" หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ได้วิเคราะห์บทบาทเรื่องภาวะผู้นำไว้ว่า

-           มีรูปแบบหลายๆ อย่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียว

-           สามารถศึกษาดูได้ตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป

-           ภาวะผู้นำ จำเป็นทุกๆ ระดับ ไม่ใช่เน้นเฉพาะหัวหน้าเท่านั้น ลูกน้องก็จะต้องถูกสร้างให้มีภาวะผู้นำด้วย

Professor McShane เขียนไว้ว่า  การเป็นผู้นำทางธุรกิจที่ดี จะต้องเน้น 7 เรื่อง

  • Drive มีเป้าหมายแล้วไปให้ถึง
  • Leadership Motivation มีความอยากเป็นผู้นำ และเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีเพื่อ บรรลุเป้าหมายให้ได้
  • Integrity มีความยุติธรรม ถูกคือถูก ผิดคือผิด ไม่โอนเอียง ตามอำนาจโดยไม่ไปสู่เป้าหมาย
  • Self Confidence มั่นใจในตัวเองทุกๆ ด้าน ทั้งบุคลิก การแต่งกาย การพูด ความกล้าหาญ
  • Intelligence มีความเฉลียวฉลาด
  • Knowledge of Business รู้ธุรกิจจริงๆ
  • Emotional Intelligence มีการควบคุมอารมณ์ได้ดี

ความท้าทายของผู้นำในวันนี้

·        ลักษณะงานเปลี่ยนไปหลาย ๆ คนขาดทักษะและความรู้ในการทำงานแบบใหม่

·         การต่อต้านจากวัฒนธรรม วิธีปฏิบัติ แนวคิด แบบเดิม

·         ความเครียดของลูกน้อง ที่เกรงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง

·         ลูกน้องที่รับเข้ามาใหม่ ๆ มีการศึกษาสูงขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองสูง

·         ลูกน้องต้องการทำงานที่มีความท้าทายมากขึ้น

·         ลูกน้องต้องการมีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น

ทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude)

จากผลการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรื่อง “ปัจจัยที่คนประสบความสำเร็จในอาชีพงาน” พบว่า มีถึงร้อยละ 85 ที่มาจากทัศนคติ และร้อยละ 15 ที่เกิดจากความรู้และทักษะ จะเห็นว่าระดับการศึกษาสูงไม่ได้เป็นเครื่องมือรับประกันว่าจะประสบความสำเร็จ จากงานค้นคว้าของ รศ.พญ.ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ “เทคนิคการสร้าง 3Q เพื่อความสำเร็จ” ได้บอกไว้ว่า ผู้ที่ติดอันดับอภิมหาเศรษฐี 400 คนแรกของโลก ประมาณ 50% ไม่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา และจากการศึกษาจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำ 500 แห่ง พบว่ามีเพียง 25% ที่มี IQ สูงกว่าคนปกติ และมีถึง 75% มี IQ เท่ากับคนทั่ว ๆ ไป

หมายเหตุ: IQ = Intelligence Quotient

ใครสนใจอยากทดสอบระดับความฉลาดทางสติปัญญาของตนเอง ก็ลองไปทำบททดสอบได้ที่ https://www.iqtest.com/scoreexplain.html หรือ https://www.geocities.com/CapitolHill/1641/iqown.html

จากงานวิจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า ทัศนคติของบุคคลมีผลต่อความสำเร็จมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการพูดถึง EQ หรือระดับความฉลาดทางอารมณ์กันมาก และถ้าจะให้คน ๆ นั้นมี EQ ที่ดี จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาเรื่องของ EQ กันตั้งแต่ยังเด็ก

หมายเหตุ: EQ = Emotion Intelligence Quotient จากคำจำกัดความของ Freedman et al. ในหนังสือ Handle With Care: Emotional Intelligence Activity Book ที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1997/1998 ได้ให้ความหมายของ Emotion Intelligence ว่า “Emotional Intelligence is a way of recognizing, understanding, and choosing how we think, feel, and act. It shapes our interactions with others and our understanding of ourselves. It defines how and what we learn; it allows us to set priorities; it determines the majority of our daily actions. Research suggests it is responsible for as much as 80% of the "success" in our lives.”

Dr. Robert K. Cooper Executive EQ เขียนหนังสือ Emotional Intelligence in Leadership and Organizations ปี1996 หน้าที่ xiii อธิบายว่า “Emotional intelligence is the ability to sense, understand, and effectively apply the power and acumen of emotions as a source of human energy, information, connection, and influence.”

Three concentric circles

บุคลากรในองค์กร มีรูปแบบของความสามารถในการทำงานที่แตกต่างกัน (Human capacity paradox) โดยอาจแบ่งลักษณะของคนในองค์กรได้ 3 แบบ ได้แก่

  • Campers จะมีลักษณะที่ลองพยายามแก้ปัญหา หรือลองทำดู แต่เมื่อเจอทางตัน หรือว่าลำบากมาก ก็จะหยุดไม่ทำต่อ เปรียบเหมือนกับนักเดินทางที่ชอบตั้งแคมป์เมื่อเหนื่อย ไม่ชอบฟันฝ่าอุปสรรคมากนัก
  • Climbers เปรียบเหมือนนักไต่เขา ที่มีความมุ่งมั่น แสวงหาเป้าหมายที่ท้าทายใหม่ ๆ เมื่อเจออุปสรรคก็จะหาทางฝันฝ่าไปให้ถึงที่สุด
  • Quitters คนกลุ่มนี้จะไม่ยอมเสี่ยงกับเรื่องทุกเรื่อง มีความรับชอบมากกว่ารับผิด พร้อมที่จะปฏิเสธ แก้ตัว โยนงาน หรือโยนความผิดให้กับคนอื่นได้ตลอดเวลา

สถานการณ์ในการทำงานภายในองค์กร สามารถอธิบายด้วยภาพของวงกลมสามวงแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ส่วนที่เป็นสีเขียวเรียกว่า Comfort Zone หรือเป็นพื้นที่ที่สบาย ๆ คนส่วนใหญ่พอใจที่จะอยู่ในโซนนี้ ถ้าเป็นที่ทำงานก็คือไม่มีการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้หรือพัฒนาอะไรใหม่ ๆ มากนัก มีความมั่นคงไม่เสี่ยง แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะย้ายตนเองไปสู่ Stretch Zone หรือพื้นที่ที่มีความท้าทาย มีการแสดงหา การเรียนรู้ใหม่ การทำงานในรูปแบบใหม่ ไม่ชอบงานที่มีลักษณะจำเจ คนกลุ่มนี้เปรียบได้กับนักไต่เขา (Climbers) ที่มีความมุ่งมั่นพยายามไปให้ถึงที่สุด วิธีคิดของคนกลุ่ม Climbers เมื่อเจอปัญหา ก็จะพิจารณามองถึงปัญหาด้วยเหตุและผล รับว่าปัญหาที่มีอยู่นั้นตนเองต้องมีส่วนรับผิดชอบ ค้นหามูลเหตุของปัญหา และดำเนินการแก้ปัญหา สำหรับในโซนสีแดงคือ Panic Zone เป็นพื้นที่ที่ถ้ามีมากไปจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ เป็นเหตุการณ์หรืองานที่เกินกำลังความสามารถของมนุษย์ และถ้ามีบ่อย ๆ แม้แต่คนในกลุ่ม Climbers ก็อาจท้อถอยเพราะเห็นว่าไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้เช่นกัน หากในองค์กรใดมีบุคลากรที่ติดอยู่ใน Comfort Zone มาก ๆ ก็อาจเกิดปัญหาเรื่องการพัฒนาศักยภาพขององค์กรได้

แนวทางการพัฒนาทัศนคติเชิงบวก

ก่อนจะไปถึงรายละเอียดในเรื่องต่อ ๆ ไป ผมอยากให้เพื่อน ๆ ลองเสนอแนวทางการพัฒนาทัศนคติในเชิงบวก ว่าควรมีวิธีการอย่างไร ผมยกตัวอย่างให้ดูสัก 3 วิธี เพื่อเป็นแนวทางช่วยกัน post เสนอ

  • อโหสิกรรมให้หัวหน้า/ลูกน้องก่อนนอน
  • ร้องเพลงระหว่างอาบน้ำ
  • อ่านหนังสือธรรมะ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ

ที่มา : pdamobiz.com

อัพเดทล่าสุด