วิธีรับมือ เพื่อนร่วมงาน ขี้อิจฉา


968 ผู้ชม


วิธีรับมือ เพื่อนร่วมงาน ขี้อิจฉา




Marie Clare - ไม่อยากเชื่อเลยว่าตัวอิจฉาในละครจะออกมาเพ่นพ่านในชีวิตจริง เอ๊ะ...หรือเรื่องจริงต่างหากที่อิงนิยายถ้าใครกำลังเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ และคิดว่าฉันก็ไม่ใช่นางเอกที่ต้องถูกกลั่นแกล้ง ลองใช้วิธีเหล่านี้ดู

วิธีรับมือ เพื่อนร่วมงาน ขี้อิจฉาความอิจฉาเป็นหนึ่งในบรรดาความน่าอึดอัดใจอย่างหนึ่งของคนทำงานออฟฟิศที่คุณเองก็ต้องพบเจอ และคุณอาจต้องเว้นระยะห่างในการคบหาสมาคมกับคนขี้อิจฉาไว้บ้าง เพราะคนแบบนี้มักไม่ค่อยจะยินดีในความสำเร็จของคนอื่น แต่บางคนก็แค่ก่อความรำคาญใจให้เท่านั้น ในขณะที่บางคนจ้องคิดหาทางดิสเครดิตคุณด้วยวิธีต่างๆ

สำหรับคนธรรมดาทั่วไปการเกิดความอิจฉาไม่ใช่เรื่องแปลก บางครั้งเพื่อนร่วมงานที่เคยดีกับคุณก็อาจจะรู้สึกอิจฉาคุณมาตลอดได้เหมือนกัน โดยต้นสายปลายเหตุนั้นอาจมาจากที่เจ้านายมักจะชมคุณบ่อยแต่ไม่ยอมชมคนอื่นเลย คุณเป็นคนเก่งที่โดดเด่นกว่าคนอื่นจริงๆ หรือคุณได้เลื่อนตำแหน่งแทนที่จะเป็นเธอ คุณก็เลยตกเป็นเป้าความอิจฉาของเพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว ซึ่งบางครั้งอาจแสดงปฏิกิริยาที่ทำให้คุณรู้สึกอึดอัด เช่น แสดงท่าทีไม่ยอมรับ ตีตัวออกห่าง จิกกัด ฯลฯ ทั้งๆ ที่ลองคิดแบบไม่เข้าข้างตัวเองแล้วคุณก็สมควรได้รับตำแหน่งหรือคำชมนั้น เพราะเป็นผลจากการลงแรงทำงานอย่างตั้งใจจริงของคุณ

อย่างไรก็ตามคุณคงไม่อยากหวั่นไหว สะเทือนไปกับความอิจฉาของคนอื่น และถ้ามันเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย คุณก็เพียงแค่ทำใจแต่ถ้าออกจะมากเกินไป คุณก็ควรทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้สิ่งนี้มาบั่นทอนจิตใจและประสิทธิภาพในการทำงาน คำแนะนำที่หยิบมาฝากอาจช่วยคุณได้

ปฏิบัติการรับมือความอิจฉา

  1. ต้องมีส่วนร่วมในทีมเสมอ คุณทำงานดีและตั้งใจทำงานมากแค่ไหนก็ควรใส่ใจกับคนอื่นๆ รอบตัวด้วย เมื่อผลงานในทีมได้รับคำชมก็ควรจะเผื่อแผ่ความดีความชอบไปให้เพื่อนร่วมทีมอย่างทั่วถึง ดีกว่ายืดอกรับว่าเป็นผลงานของคุณคนเดียว แต่ถ้าคุณมีความสามารถโดดเด่นจริงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องซ่อนตัวเองมิดชิดเพียงเพื่อให้คนอื่นชอบคุณ
  2. มีน้ำใจให้ความช่วยเหลือเพื่อนๆ ในทีมด้วย ถึงแม้งานของคุณจะมีลักษณะลุยเดี่ยวโดยไม่ต้องร่วมมือกับใครมากนักก็ตาม สิ่งสำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ถ้าคุณกับเพื่อนร่วมงานปูพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นก็จะเบาบางลงไปยามเมื่อคุณต้องเผชิญหน้ากับมัน
  3. รับรู้เรื่องรอบตัวบ้าง สำหรับคุณบางคนแค่ทำงานให้ทันก็แทบไม่มีเวลาหายใจหายคอแล้ว อาจลืมใส่ใจกับคนรอบตัวว่าคนอื่นเขารู้สึกกับคุณอย่างไรเขายอมรับคุณแคไหน คุณเคยยินเขาพูดถึงคุณว่าอย่างไรบ้างไหม เปิดหูเปิดตารับรู้หน่อยเพื่อจะได้นำมาปรับปรุงตัวเอง ส่วนคำนินทาว่าร้ายจากคนที่ขี้อิจฉาตาร้อยอย่าไปสนใจฟังให้มากนัก รกสมองเปล่าๆ ถ้าหากไม่ใช่ความจริงแล้ว ในที่สุดคนอื่นก็จะรับรู้ไปเองว่าเรื่องเม้าธ์ไร้สาระเกิดจากความอิจฉาของคนคนนั้น ประเดี๋ยวก็ลืมกันไปเอง
  4. คุยกับหัวหน้าหรือฝ่ายบุคคลเลย คุณไม่จำเป็นต้องยอมตกเป็นเป้านิ่ง ถ้าเหตุการณ์บานปลายร้ายแรงนักควรให้หัวหน้าหรือเจ้านายรับรู้ไว้ด้วยว่าคุณเจอกับอะไรมาบ้าง ความจริงเพื่อนร่วมงานอาจจะอิจฉาเพราะเจ้านายของคุณเป็นต้นเหตุ เนื่องจากอาจโปรดปรานคุณหรือเลื่อนขั้นให้โดยไม่ดองไว้นานเหมือนกรณีของเพื่อนคุณ ทำให้แทนที่เพื่อนจะโกรธเจ้านายก็กลับมาอิจฉาคุณแทน แต่ถ้าจะเข้าไปคุยกับเจ้านายก็ควรจะใช้ศิลปะในการพูด อย่าฟูมฟายหรือใช้อารมณ์ และไม่ควรยกเรื่องกระจิบกระจอกไปคุยด้วย เพราะจะกลายเป็นว่าคุณขี้ฟ้องและคิดเล็กคิดน้อยจนเกินเหตุ
  5. หาหลักฐาน ถ้าอาการอิจฉาตาร้อนของคนอื่นเริ่มเลยเถิดมากจนเกินไปเสียแล้ว คุณต้องหาหลักฐานเก็บรวบรวมไว้ อาจเป็นคนที่รับฟังเรื่องเม้าธ์จากปากคนนั้น พูดว่าเสียดสี มีโน้ตหรืออีเมลที่ส่งถึงกันไหม เมื่อมีหลักฐานพร้อม การเข้าพบเจ้านายในกรณีที่ชักหนักข้อนี้ก็ดูสมควรด้วยเหตุและผลดีอยู่ แต่ถ้าในกรณีที่ยังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย การนำเสนอหลักฐานเต็มพิกัดก็อาจดูโอเว่อร์ไปสักหน่อย
  6. รายงานความเคลื่อนไหว คุณควรให้เจ้านายรับทราบเป็นระยะว่าคุณลงมือทำอะไรไปถึงไหนแล้วเพื่อป้องกันการใส่ร้ายป้ายสี เจ้านายจะได้เห็นสไตล์การทำงานและการแก้ปัญหาของคุณ หรืออาจแนะนำวิธีการแก้ปัญหาไประหว่างนั้นด้วย ถ้าพบเห็นช่องโหว่ เจ้านายอาจรู้สึกว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นถ้าคุณไม่เคยรายงานความเคลื่อนไหวเลย แต่ต้องมารับรู้จากคนคาบข่าวไปบอก จำไว้ว่าข้อเท็จจริงเดียวกันปัญหาเดียวกัน แต่ให้ความรู้สึกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้านายรับรู้ข้อมูลมาจากไหน
  7. รักษาความเป็นมืออาชีพไว้ ไม่ว่าทุกอย่างที่ทำมาจะได้ผลหรือไม่ คุณก็ควรจะต่อสู้ด้วยการรักษาการทำงานบบมืออาชีพไว้อย่างคงเส้นคงวา พยายามทำงานไห้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ต่อไป พยายามอย่างไปยุ่งเกี่ยวและหลีกเลี่ยงการทะเลาะกับคนคนนั้นหรือเผชิญหน้ากัน การทุ่มเทให้งานก็เป็นการตอกย้ำที่แสดงให้ใครๆ เห็นว่านี่คือเหตุผลโดยไม่มีความจำเป็นต้องสงสัยว่าทำไมคุณถึงประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งที่คุณได้รับนั้นไม่ได้มาฟรีๆ หรือมาจากการประจบเจ้านาย


 และท้ายที่สุด ถึงแม้ว่าคุณไม่อาจห้ามความอิจฉาของคนอื่นได้ แต่อย่าลืมว่าคุณสามารถปกป้องตัวเองไม่ให้รับผลร้ายจากมันได้ * พรดี จันทรเวชชสมาน

 

ที่มา : Bangkokpost.co.th

อัพเดทล่าสุด