งานเพิ่ม เงินก็เพิ่ม หากคุณพบว่ามีช่องว่างทางเงินเดือนเกิดขึ้น และคิดว่าคุณน่าจะได้เงินเดือนมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สามารถทำได้คือการรอให้องค์กรเปิดช่องทางใหม่ๆ ให้คุณได้แสดงออกในศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง และทำใจไว้เลยว่าอาจจะต้องมีการเพิ่มขอบข่ายการทำงานในวงกว้างขึ้นกว่าเดิม หลังจากนั้นคุณจึงค่อยๆ ต่อรองขอขึ้นเงินเดือนในภายหลังก็ยังไม่สายเกินไปนัก ขอแนะนำให้คุณมุ่งตรงไปที่ความพยายามสร้าง คุณค่า ของตัวเองในแง่ของการทำงานต่อองค์กร และทำงานกับนายจ้างอย่างขยันหมั่นเพียรเสียก่อน มิใช่อยู่ดีๆ ก็พุ่งเป้าไปที่หัวหน้างานและก็บอกกับเขาว่าขอขึ้นเงินเดือนดื้อๆ ก็ไม่เหมาะสมนัก อีกกรณีหนึ่งที่สามารถขอขึ้นเงินเดือนได้ก็คือ ตอนที่คุณเปลี่ยนงานใหม่ ในที่นี้อาจหมายถึงเป็นองค์กรเดิม ทว่าเปลี่ยนไปสู่ตำแหน่งที่ใหญ่โตขึ้น และมีความรับผิดชอบมากขึ้นกว่าเดิม ก็ถือเป็นหนทางหนึ่งที่คุณสามารถต่อรองเงินเดือนกับเจ้านายได้ โดยในกระบวนการนี้ การต่อรองเงินเดือนน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่คุณรับข้อเสนอเรื่องงานใหม่จากบริษัทแล้ว กรณีที่คุณไปสมัครงานในองค์กรใหม่และต้องการเงินเดือนใหม่ที่มากกว่าเดิม ก่อนที่คุณจะตกปากรับคำเข้าทำงาน ก็ต้องมีการต่อรองเงินเดือนให้เสร็จเสียก่อน คุณต้องแสดงให้นายจ้างเห็นว่า คุณสมควรจะได้เงินเดือนตามที่คุณต้องการ ด้วยเหตุผลเรื่องประสบการณ์ทำงาน และความสามารถของคุณ กรณีที่คุณขอเงินเดือนในสัดส่วนที่สูงมากกว่ามาตรฐานเงินเดือนที่ทางบริษัทกำหนดไว้ คุณก็ต้องพยายามแสดงให้เขาเห็นว่า คุณจะพัฒนางานในบริษัทให้ดียิ่งๆ ขึ้นได้อย่างไรบ้าง คุณต้องพยายามแสดงให้เห็นว่าคุณโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ อย่างไร เพื่อบอกเป็นนัยว่า สมควรแล้วที่เขาจะให้เงินเดือนตามที่คุณขอไป และก็อย่าลืมว่า เงินเดือนเพิ่มย่อมหมายถึงงานและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นด้วย คุยกันแบบเปิดอก หนึ่งในวิธีการขอขึ้นเงินเดือนที่สามารถทำได้คือการพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาอย่างตรงไปตรงมา และคุยสนทนาแบบต่อตัว ไม่ควรใช้วิธีการโทรศัพท์ และไม่ควรเขียนจดหมายระบุเจตนารมณ์ การพูดคุยกันซึ่งๆ หน้า ทำให้รู้ว่าคุณมีจุดอ่อนอะไรบ้าง และจุดอ่อนที่ว่านั้น สามารถทำให้บริษัทได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหนกัน ซึ่งหัวหน้าอาจจะหยิบยกมาพูดกับคุณระหว่างที่สนทนากันนั่นเอง หากคุณต้องการคุยกับหัวหน้างานเรื่องการปรับเงินเดือน แต่ไม่อยากคุยตรงไปตรงมา ก็อาจใช้วิธีทางอ้อมก็ได้ เช่น บอกกับหัวหน้างานว่า คุณต้องการจะให้มีการพูดคุยกันเรื่องความรับผิดชอบ และขอบข่ายการทำงานของคุณให้ชัดเจน เพราะคุณเองต้องการชี้แจงว่าอุปสรรคจากการทำงานมีอะไรบ้าง และคุณได้หาทางแก้ไขไปมากน้อยแค่ไหน จากนั้นค่อยวกเข้าเรื่องขอขึ้นเงินเดือน แต่อย่าลืมว่า ต้องถึงเวลาที่เหมาะสมจริงๆ ถึงจะมีการเปิดใจคุยกันในเรื่องนี้ มิใช่แค่ทำงานที่บริษัทใหม่ได้เพียงไม่กี่เดือน คุณก็ปรี่เข้าไปขอเงินเดือนเพิ่มเสียแล้ว ก่อนตัดสินใจคุยเรื่องเงินเดือน คุณเองก็ต้องทำการบ้านมาให้ดีเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น หาข้อมูลเกี่ยวกับงานลักษณะเดียวกับที่คุณทำปัจจุบัน เปรียบเทียบเรื่องเงินเดือนคร่าวๆ ในตลาดงาน คนที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกับคุณในบริษัทอื่นได้เงินเดือนเท่าไร ฯลฯ ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้การขอเงินเดือนเพิ่มไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เช่น คุณได้รับเงินเดือนในสัดส่วนที่สูงอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับตำแหน่งเดียวกันในองค์กรอื่นๆ หรือแม้แต่ปัจจัยที่ว่าองค์กรที่คุณทำงานอยู่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก เช่น บางทีก็มีการเพิ่มคนคราวละมากๆ ในหลายตำแหน่งๆ แต่บางทีก็มีการลดคนเสียดื้อๆ สถานการณ์ที่ไม่นิ่งของบริษัท อาจทำให้การขอขึ้นเงินเดือนไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย ต่อรองเงินเดือนเวลาไหนดี ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการต่อรองเงินเดือน ควรเป็นช่วงเวลาที่ทางองค์กรกำลังประเมินผลงานของพนักงานพอดิบพอดี การต่อรองเงินเดือนควรจะกระทำให้เสร็จสิ้นก่อนที่องค์กรจะมีการจัดสรรงบประเมินในปีถัดไป อย่าลืมว่า ทุกอย่างที่คิดไว้จะไร้ความหมายทันที ถ้าหากว่าคุณไปต่อรองเงินเดือนหลังจากที่อนุมัติงบประมาณสำหรับปีหน้าไปเรียบร้อยแล้ว ขอแนะนำว่าการต่อรองเงินเดือนมีความเป็นไปได้มากทีเดียว หากคุณได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในโปรเจกต์ใหม่ๆ ของบริษัทในปีหน้า หรือไม่ก็ตอนที่เจ้านายถามคุณว่า มีงานพิเศษจะให้คุณทำเพิ่ม คราวนี้ก็ขึ้นอยู่ที่คุณแล้วว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธ ตอนที่คุณตอบรับนั่นเอง เป็นเวลาที่เหมาะสมจะพูดถึงเรื่องค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น การพูดคุยเรื่องเงินเดือนกับเจ้านาย อาจจะเริ่มต้นด้วยการชักแม่น้ำทั้ง 5 ด้วยการเกริ่นนำก่อนว่า ตอนนี้หน้าที่และขอบข่ายการทำงานของคุณเป็นอย่างไรบ้าง แม้ในความเป็นจริงหัวหน้าจะรู้แล้ว แต่ก็ควรจะกล่าวย้ำให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ที่สำคัญ ควรเตรียมการพูดมาอย่างกระชับ วิธีการพูดกับหัวหน้าให้คุณพูดในทำนองที่ว่า ตอนนี้คุณทำงานอะไรอยู่ ที่ผ่านมาการขึ้นเงินเดือนของคุณเป็นอย่างไรบ้าง และคุณมีทิศทางการทำงานในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง คุณได้วางแผนการทำงานอนาคตอะไรไว้บ้าง เพื่อที่ว่าหัวหน้างานจะได้เห็นว่าคุณก็เป็นพนักงานอีกคนหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล มีความคิดที่จะพัฒนางานให้ก้าวหน้าต่อไป ถ้าหัวหน้างานยอมเปิดโอกาสให้ อย่ารีรอที่จะบอกว่า ที่ผ่านมาคุณทำงานได้ดีแค่ไหน ทำเป้าของบริษัทด้วย แถมยังทำตามนโยบายขององค์กรได้ในระดับที่น่าพึงพอใจอีกด้วย แต่อย่าลำพองคิดว่าคุณถือไพ่เหนือกว่า เลยบีบคั้นเจ้านายขอตัวเลขการขึ้นเงินเดือนอย่างทันทีทันใด ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการขอขึ้นเงินเดือน อย่าเพิ่งฝันลมๆ แล้งๆ ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า หัวหน้างานเห็นชอบด้วยหรือไม่ในประเด็นที่ว่า คุณเป็นคนหนึ่งในฐานะผู้ช่วยสร้าง มูลค่า ให้กับองค์กรได้อย่างที่คุณรู้สึก อย่าให้เข้าข่ายว่า คุณคิดทุกอย่างเข้าข้างตัวเอง บางครั้งหัวหน้างานก็อยากขึ้นเงินเดือนให้คุณเหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากว่า งบประมาณของปีหน้ายังไม่ออกมา และผลประกอบการของบริษัทขาดทุน บริษัทบางแห่งเลยต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัด อีกประเด็นหนึ่งคือถ้าผลงานของคุณไปแตะตาผู้จัดการ หรือผู้บริหารระดับสูงของแผนก ซึ่งเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในองค์กรที่พอจะอนุมัติขึ้นเงินเดือนให้คุณได้ แบบนี้ก็ยิ่งเป็นเรื่องง่ายใหญ่ ในความเป็นจริงแล้วการที่คุณคิดว่า คุณก็กำลังสร้างคุณค่าของตัวเองให้กับองค์กรอยู่นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของนโยบายบริษัทด้วยว่า เขาให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นพิเศษในลำดับต้นๆ หรือบริษัทเห็นว่าเรื่องใดสำคัญเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องสะสางก่อน แต่คุณก็ไม่ได้ทำ คุณกลับไปสะสางเรื่องอื่นที่ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของบริษัท นอกจากนี้คุณต้องพิจารณาด้วยว่า ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่คุณทำอยู่นั้น หาง่ายหรือหายากในตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด การมองหาคนใหม่ๆ มาทำงานนี้แทนคุณนั้น มีความยากง่ายเพียงใด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบ ก่อนตัดสินใจขอขึ้นเงินเดือน สำหรับคนที่จะขอขึ้นเงินเดือน ก็ต้องแน่ใจก่อนว่าคุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่องค์กรวางไว้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แบบนี้ความปรารถนาที่จะได้เงินเดือนเพิ่มย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม |