การค้นพบตนเอง และ การพัฒนาตนเอง
ถึงแม้คำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะย้ำว่า ตนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ และตนนั้นไม่มี แต่ในสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีกิเลส มีความต้องการ และมีความทะเยอทะยานมนุษย์ก็ยังยึดถือ ตน เป็นที่ตั้งตลอดมา มีสุภาษิตเขียนว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ซึ่งจริงๆแล้วอาจจะขัดกับคำสอนของพระพุทธองค์ข้างต้นก็ได้ แต่ทั้งนี้เมื่อเราต่างก็ยังไม่ได้บรรลุโสดาบัน หรือสำเร็จเป็น พระอรหันต์ เราก็ยังคงเวียนว่าย ตายเกิดในวัฏสังสาร ของการเป็นปุถุชนธรรมดา หลายคนไปศึกษาอบรม ไปดูงาน ไปสัมมนา จนกระทั่งมีความรอบรู้ทางวิชาการ และเทคนิคต่างๆ จนเจนจบ เหมือนนักดาบที่เรียนเพลงรบครบกระบวนยุทธแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นหรือนักดาบผู้นั้น จะสามารถรบชนะศัตรูได้ ทั้งนี้เพราะศัตรูของเรานั้นมีอยู่ถึง 2 ประการ
1. ศัตรูภายนอก หมายถึง ความยากลำบากในการปฏิบัติงาน ความลำเค็ญของสถานการณ์และความผันแปรของสิ่งแวดล้อม
2. ศัตรูภายใน หมายถึง อารมณ์ ความต้องการ และความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเอง ทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่า ความพ่ายแพ้ที่น่าอัปยศที่สุดคือ การพ่ายแพ้ต่อตนเอง แต่ปุถุชนธรรมดาต้องพ่ายแพ้ต่อตนเองทุกวัน และวันละหลายครั้งด้วย เช่นอยากกินมะยมดอง ทั้งๆที่ไม่มีประโยชน์ หยุดดื่มเหล้าไม่ได้ ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นโรคตับแข็งนั่งเหม่อลอย ทั้งๆที่รู้ว่าไม่ได้อะไรเลย ถ้าเราจะเรียนรู้ตนเองอย่างแท้จริง มีคนแนะนำว่า ควรจะไปนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อทำจิตใจให้บริสุทธิ์ นัยตามองเห็นธรรม ฟังดูก็ง่ายแต่ที่จริงแล้วถ้าเราต่างก็ทำให้นัยตามมองเห็นธรรมได้หมด โลกทุกวันนี้คงไม่น่าอยู่ เพราะทุกคนคงจะเข้าใจซึ่งกันและกัน พูดอะไรต่างก็เข้าใจกัน ปัญหาก็จะไม่มี ข้อขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้นและจะไม่มีข้อขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น และจะไม่มีใครพูด กิเลสมนุษย์ไซร้ยากแท้หยั่งถึง
กิเลส (NEEDS) คือ ความต้องการที่ปุถุชนทุกคนมีเหมือนกันทั้งนั้น นักปราชญ์ชาวอเมริกันเขียนเอาไว้ว่า กิเลสของคนเรามี 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับที่มีความจำเป็นที่สุดจนถึงระดับที่หรูหราที่สุด ได้แก่
1. ความต้องการทางร่างกาย ได้แก่ ความต้องการปัจจัยทั้งสี่ในการดำรงชีพ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ เพื่อการดำรงชีพ และเพื่อการดำรงชีพ และเพื่อให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงอยู่ได้ต่อไป
2. ความต้องการด้านความปลอดภัย หลังจากที่คนเราได้ปัจจัยทั้งสี่ที่พึงประสงค์แล้ว ก็จะเริ่มนึกถึงความปลอดภัย ซึ่งหมายถึงความปลอดภัยจากการถูกทำร้าย การบาดเจ็บหรือความตายสัญชาตญาณความกลัวภัย จะทำให้คนพยายามป้องกันตัวเองให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆ
3. ความต้องการทางสังคม เมื่อคนเรามีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย ก็จะคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ทั้งนี้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการรวมกลุ่ม มีการคบค้าสมาคมกันความต้องการทางด้านนี้จะไม่บังเกิดขึ้น ถ้าคนเราจะเอาชีวิตรอดไปวันหนึ่งๆ
4. ความต้องการทางเกียรติยศชื่อเสียง หมายถึง การได้รับการยกย่องนับถือและยอมรับในเกียรติยศ ตำแหน่งหน้าที่และบทบาทของตนในสังคม
5. ความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อชีวิตของเรามีพร้อม ไม่ว่าจะทั้งทางร่างกาย ความปลอดภัย สังคม และเกียรติยศแล้ว คนเราก็มักจะคิดฝากผลงานของตนให้ปรากฏ ทั้งนี้เพราะว่า มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด ความอิ่มในความต้องการของคนเรานั้นไม่มี
- มนุษย์ - มีลักษณะที่เป็นของตัวเอง มีคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ ซึ่งทุกคนจะต้องมี ได้แก่
1. มีการแสดงออก อันเรียกว่าพฤติกรรม หมายถึง การแสดงอากัปกิริยาต่างๆ การเคลื่อนไหว การตอบโต้สิ่งเร้า
2. ความรู้สึกนึกคิด ทุกคนรู้จักเจ็บ รู้จักจำ รู้จักโกรธ รู้จักเกลียด และมีอารมณ์ด้วยกันทุกคน คนที่ไม่มีอารมณ์ คือคนที่ตายแล้ว
3. มีศักดิ์ศรี ทุกคนมีศักดิ์ศรีที่เกิดมาเป็นคน อันเป็นเอกลักษณ์ของสัตว์โลกชนิดหนึ่ง สัญชาตญาณของความเป็นคน จะทำให้คนคิดทรนง หยิ่ง และเป็นตัวของตัวเองเสมอยกเว้นจะถูกสิ่งแวดล้อมบีบบังคับ ให้แปรเปลี่ยนไปเท่านั้น
4. มีความแตกต่างซึ่งกันและกัน ความจริงที่ไม่ตายข้อหนึ่งที่มีอยู่ว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่เหมือนกันทุกประการ ทำให้เป็นที่มั่นใจได้ว่า คนเราไม่เหมือนกัน ความแตกต่างของคนเราเป็นไปได้ทั้งทางร่างกาย ทางอารมณ์ ทางสังคม และทางจิตใจ ฉะนั้น สิ่งที่เราเป็น คนอื่นอาจจะไม่เป็น สิ่งที่เราคิด คนอื่นอาจไม่คิด การทึกทักเอาว่าคนนั้นน่าจะเป็นอย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนั้น จึงเป็นความคิดที่มีโอกาสผิดครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย
ตน (SELF) ตัวคนเรานั้นมักจะก้มลงมองตนเองเป็นใหญ่ จะสังเกตเห็นได้ว่า เวลาชี้ไปที่คนอื่น ใช้นิ้วเดียวชี้ แต่อีก 4 นิ้วชี้ที่ตัวเอง เพราะธรรมชาติของคนเรานั้นไม่มีใครไม่เห็นแก่ตนเอง แต่สิ่งที่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขได้ทุกวันนี้ ก็เพราะการเห็นแก่ตนเองในสังคมนั้น เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย ตัวของเราเองที่เกิดมานี้ เป็นตัวของตัวเองได้ 3 ตัว คือ
1. ตัวที่ตนเองเป็น (REAL SELF) คือ ความเป็นตัวเราจริงๆ ที่ยืนอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมของโลก ห้อมล้อมด้วยสังคม และความผันแปรอันเป็นธรรมชาติของโลก
2. ตัวที่เราคิดว่าเราเป็น (PERCEIVED SELF) คือ ภาพของตัวเองที่ตนมีความรู้สึก อาจจะหรูหรากว่าตัวจริง หรือต่ำต้อยกว่าตัวจริงได้ และความรู้สึกที่ตัวเองเป็นผู้เปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะตามสภาพที่ตัวเราเป็นอยู่ในขณะนั้น คนที่มองเห็นตัวเองต่ำกว่าความเป็นตัวตนจริง เรียกว่าดูถูกตนเอง และคนที่มองเห็นตัวเองสูงกว่าความเป็นตัวตนจริงเรียกว่า เห่อตัวเอง
3. ตัวที่เราอยากจะเป็น (IDEAL SELF) คือ ภาพคนในจินตนาการที่เราอยากจะเป็นและขวนขวายที่จะเป็น ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นแรงผลักให้เป็นคนทะเยอทะยานไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตนตั้งไว้ ถ้าเป็นไปได้ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะรู้สึกคับข้องใจ อึดอัดใจ กระวนกระวายและเป็นทุกข์
บุคคลใดค้นพบตัวเอง คือบุคคลที่ทำให้ตัวเราที่คิดว่าเป็น (Perceived Self) ขยับเข้ามาทับกับตัวเราที่เป็นตัวเราจริงๆ (Real Self) ได้มากที่สุด กล่าวคือ
* รู้ในสิ่งใด ก็ยอมรับว่ารู้ในสิ่งที่เรารู้
* ไม่รู้ในสิ่งใด ก็ยอมรับว่าไม่รู้ในสิ่งนั้น
* มีความสามารถในด้านใด ก็รู้ว่ามีความสามารถ และยอมรับว่า มีความ
สามารถในด้านนั้น
* ด้อยความสามารถในด้านใด ก็รู้ว่าด้อยความสามารถและยอมรับว่าด้อย
ความสามารถในด้านนั้น
ก็จะมีความสามารถที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่ตัวที่เราอยากจะเป็น (Ideal Self) ได้สะดวกขึ้นเท่านั้น
ทำอย่างไรจึงจะรู้จักตนเอง
ถ้าเราต้องการอะไรแล้วไม่ไปหามา เราก็ไม่ได้ ถ้าเราอยากพบว่าใคร และไม่ไปถามหาก็คงไม่ได้พบ และยิ่งถ้าของเราหายเราไม่ไปค้นหา ก็คงไม่มีวันได้คืน ในลักษณะเดียวกันคนที่ดูถูกตนเองเห่อหรือไม่รู้จักตัวเอง ก็จะไม่มีวันพบ จะกลายเป็นคน หลง ตัวเองหรือไม่ทราบว่าจริงๆ แล้ว ตัวเองเป็นใคร มีความสามารถแค่ไหนทำอะไรได้บ้าง มีจุดอ่อน หรือมีจุดเด่นประการใดบ้าง เนื่องจากคนเราชอบเข้าข้างตนเอง โอกาสที่คนเราจะพบตนเองด้วยตัวของเราเองนั้นจึงลำบากเพราะคนเรา
1. ชอบอ้างเหตุผล ไม่มีใครยอมรับว่าตนผิดก่อนเพราะสัญชาตญาณในการกลัวความผิดและกลัวภัย สอนให้คนเป็นเช่นนั้นมาแล้ว
2. สร้างเกราะคุ้มกันตนเอง ประสบการณ์ชีวิตคน บวกกับสัญชาตญาณมนุษย์ทำให้คนต้องสร้างเกราะคุ้มบังจิตใจตนเอง ไม่ให้ยอมรับหรือแม้กระทั่งต่อต้านในสิ่งที่เป็นภัยแก่ตน
3. การโยนความผิด ไม่มีใครยอมอุ้มลูกเหล็กที่ร้อนไว้ในอ้อมกอดของตนเองทันทีที่รู้ว่าร้อนจะโยนไปให้ผู้อื่นรับทันที จะยอมรับกลับมาก็ต่อเมื่อความร้อนลดลง หรือไม่มีความร้อนแล้วเท่านั้น เพื่อป้องกันสภาพที่ตนยอมรับไม่ได้ คนเราจะโยนความผิดไปให้คนอื่นก่อนเสมอ ถ้าโยนไม่ได้ก็โยนไปให้ผีหรือเทวดาที่ไม่มีตัวตน
ทำไมคนเราจึงต้องเป็นที่กล่าวข้างต้นนี้ คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ ทุกคนต้องการอยู่รอด ทุกคนจึงต้องดิ้นรน เพื่อดำรงชีวิตอยู่ ฉะนั้นทุกอย่างจึงกระทำไปเพื่อความอยู่รอดของตนเองเท่านั้น
ดังที่ประมวลเหตุผลมาแล้วข้างต้น คนเราจึงค้นพบตนเองด้วยตนเองได้ยากเต็มที่ วิธีค้นพบตนเองที่ขอแนะนำคือ
1. มีความตั้งใจจริงที่จะค้นพบตนเอง
2. ลดเหตุผลเกราะคุ้มกันตัวเอง และการโยนความผิดให้คนอื่นลงให้มากที่สุด
3. ตั้งคำถามถามตัวเองว่า ทำไมจึงทำอย่างนั้น อย่างนี้ คิดอย่างนั้น อย่างนี้ หรือ ฝันอย่างนั้น อย่างนี้
4. เปิดเผยความรู้สึกต่อบุคคลที่คิดว่าเปิดเผยได้
5. ให้บุคคลอื่นแสดงความรู้สึกต่อเราตามที่เขารู้สึกจริงๆ
6. ใจกว้างพอที่จะยอมรับในสิ่งที่เราเป็น และมีเหตุผลในสิ่งที่เราเป็น
7. เปรียบเทียบตัวเราในสิ่งที่เราคิดว่าเราเป็น กับตัวที่คนอื่นคิดว่าเราเป็นเพื่อค้นหาตัวที่เราเป็น
8. วิเคราะห์ตัวที่เราเป็น เพื่อหาปมด้อยและปมเด่น เพื่อค้นพบตนเองในภาพที่ตนเป็นจริงๆ
9. ยอมรับสภาพที่เราเป็นและพร้อมที่จะพัฒนาให้เป็นภาพที่เราอยากเป็นในหนทางที่เป็นไปได้
การพัฒนาตนเอง คือ กระบวนการที่บุคคลค้นพบตนเอง แล้วเรียนรู้ตนเองและสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับปรุงคุณภาพของตนเองไปสู่ตัวที่เราอยากเป็น ในขั้นตอนที่เป็นไปได้อย่างมีเหตุผล มีระบบระเบียบและมีการวัดผลเป็นระยะๆ
การพัฒนาตนเอง เป็นการศึกษาโดยใช้ตัวเองเป็นครูสอน ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่กระทำยากก็ตาม แต่เป็นการฝึกฝนที่ได้ผลคุ้มค่ากับการลงทุน และเมื่อฝึกจนเป็นนิสัยแล้วจะทำให้บุคคลตื่นตัวมีความกระตือรือล้นทันต่อเหตุการณ์ และมีชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีค่ามากขึ้นแต่ทั้งนี้ต้องอยู่ที่การฝึกฝนให้ตนรู้จักตนเสียก่อน
บทความด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของ ดร. โสภณ ภูเก้าล้วน