กลุ้มใจกับพนักงานรุ่นใหม่
Q : บริษัทที่ดิฉันทำอยู่เป็นบริษัทด้านการตลาดที่ต้องอาศัยความสามารถ เฉพาะตัวของพนักงานในการคิดหาวิธีการสร้างตลาด หรือการเปิดตลาดใหม่ๆ มีจำนวนพนักงานประมาณ 200 กว่าคน โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่จบระดับปริญญาตรีขึ้นไป ไม่แน่ใจว่าดิฉันเริ่มแก่ไป หรือ เป็นปัญหาจริงๆ ก็คือ ในฐานะที่ต้องดูแลคนทั้งบริษัท ดิฉันรู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ปีกว่าๆ ถึงประมาณ 30 ปี มักจะไม่ค่อยได้เรื่อง ตอนคัดเลือกเข้ามาก็ดูดี เหมือนเอาการเอางาน แต่พอมาอยู่แล้ว ดูจับจด เรื่องมาก และหนักไม่เอาเบาไม่สู้ แล้วกาออกไป ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราพนักงานลาออกจะตกอยู่ที่พนักงานจบใหม่มากกว่า 70 % ของพนักงานทั้งหมด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีกับพนักงานรุ่นใหม่ตอนนี้ อยากดูมุมมองจากคุณดิลก - แก้วเกล้า
A : ก่อนตอบคำถามลองอ่านประโยคนี้ก่อนนะครับ บอกนิดหนึ่งว่าผมแปลมาจากข้อความของหนังสือเล่มหนึ่ง อ่านจบแล้วรบกวนคุณแก้วเกล้าลองตอบคำถามกับตัวเองว่า เขียนมาแล้วกี่ปี
"คนหนุ่มสาวของเราสมัยนี้ชอบความหรูหราฟุ่มเฟือย มีกริยามารยาทที่แย่ลง ไม่เคารพต่อกฎระบียบ ไม่เกรงใจผู้ใหญ่ ชอบนั่งพูดคุยกันมากกว่าจะออกกำลังกาย ชอบโต้เถียงพ่อแม่ ชอบคุยกันเสียงดังต่อหน้าคนอื่นๆ เวลากินอาหารก็กินอย่างไร้มารยาท และแถมยังชอบต่อต้านครูบาอาจารย์"
ขอเดาใจว่าคุณแก้วเกล้ากำลังคิดว่า สักสองสามปี หรือสักสิบปี หรืออย่างมากไม่เกินกว่ายี่สิบปี ใช่หรือเปล่าครับ เฉลยคือไม่ใช่ครับ คำพูดที่ยกขึ้นมานี้ เป็นข้อเขียนของโสเครติส ที่เขียนเอาไว้อย่างมีอารมณ์เมื่อสี่ร้อย ปีก่อนคริสต์กาลหรือสองพันสี่ร้อยปีก่อน เห็นหรือเปล่าครับว่า การวิตกกังวล ไม่เข้าใจ หรือตั้งคำถามกับคนรุ่นหนุ่มสาว ไม่ได้มีแค่ในรุ่นเราเท่านั้น แต่เป็นประเด็นที่พูดกันมาแล้วนับเป็นพันๆ ปี เพียงแต่ว่า รูปแบบของการตั้งข้อสงสัย การตั้งคำถาม การไม่พอใจต่อคนรุ่นใหม่ อาจจะต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างเท่านั้นเอง
หากดูสภาพแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ของเราในปัจจุบัน คนในช่วงอายุที่คุณแก้วเกล้าเอ่ยถึงเขาเติบโตมาในยุคที่เศรษฐกิจไทยกำลังรุ่งเรือง สภาพแวดล้อมโลกเกิดโลกาภิวัฒน์ที่มีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงของที่หนึ่งส่งผลถึงอีกที่หนึ่งอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเจ้าตัวเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้การสื่อสารถึงกันรวดเร็ว จนส่งผ่านทั้งความคิดความอ่านและวัฒนธรรมข้ามถึงกันแบบ "ลัดนิ้วมือเดียว" ทำเกิดการหล่อหลอมวัฒนธรรมแบบพันธุ์ทางขึ้นทั่วโลก
ดังนั้น พฤติกรรมร่วมของคนรุ่นที่ว่านี้ ก็จะฉลาด ไว เรียนรู้เร็ว ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้แบบไม่ลึกนัก เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ ความอดทนอาจจะต่ำไปนิดจากความสบายแบบสุดๆ แน่นอน การเป็นนักบริโภคนิยมก็มีไม่ใช่น้อย
หากดูปัจจัยความเป็นคนหนุ่มสาว อย่างคำพูดที่ยกไว้ข้างต้นนะครับ ผ่านมาตั้งสองพันสี่ร้อยกว่าปีแล้ว ความเป็นคนหนุ่มสาวก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น คือ มีความเป็นขบถและแสวงหาอยู่ตลอดเวลา แน่นอน ระดับความเข้มข้นอาจมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ยุคสมัย
ดังนั้น หากจะรับมือกับคนรุ่นนี้ ผมมองว่า เป็นการรับมือ ความสมดุลย์ของความต้องการองค์กรกับการตอบสนองกับลักษณะเฉพาะของคนรุ่นใหม่ เราต้องสร้างให้บรรยากาศการทำงานเป็นแบบเปิด คือ ปล่อยให้เขาสามารถตั้งคำถามได้อย่างเต็มที่ ให้โอกาสเขาทำงานที่ท้าทาย ในขณะเดียวกันให้เวลาเขาได้ทำสิ่งอื่นมากกว่างานประจำซ้ำซากก็จะดีสำหรับเขา ผมไม่ได้เก็บข้อมูลเอาไว้ แต่พอกล่าวถึงได้ว่า มีข้อมูลสำรวจในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า การลาออกของพนักงานรุ่นใหม่ในบริษัทที่มีการจัดบรรยากาศการทำงานแบบยืดหยุ่น จะมีอัตราการลาออกต่ำกว่าบริษัทที่มีบรรยากาศที่ค่อนข้างแข็งกระด้าง ในเรื่องผลตอบแทน จำเป็นต้องฉีกให้เห็นระหว่างคนที่ทำได้ดีมากกว่ากับทำได้ดีน้อยกว่า อย่าไปคิดแบบสังคมนิยมที่ทำดีไม่ดีก็ไม่ได้ต่างกัน ที่สำคัญก็คือ การเติบโตในองค์กรให้ใช้เรื่องของการหาระบบผู้มากความสามารถ (Talent) เข้ามาจับ เพื่อให้คนเก่งได้เติบโตไปได้อย่างแท้จริง ผมไม่รังเกียจการมองอาวุโสนะครับ แต่ถ้าหากต้องการดูแลคนรุ่นนี้ ก็ต้องลดน้ำหนักของอาวุโสให้น้อยลง
ผมไม่รู้ว่า คุณแก้วเกล้าอายุเท่าไหร่ น่าจะไล่ไล่กับผม ซึ่งผมมองว่าไม่สำคัญ สำคัญว่าใจของคุณยังหนุ่มสาวหรือเปล่า ถ้าใจของคุณแก้วเกล้ายังหนุ่มสาว การดูแลคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ยากเลย
*************
ท่านสามารถส่งคำถามหรือร่วมแสดงความคิดเห็นที่ [email protected] ด้วยความร่วมมือจากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย
ที่มา : โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์