มุมมองของชาวต่างชาติซึ่งทำงานในประเทศไทยที่มีต่อชาวไทย
หลังจากที่ผมได้มีโอกาสเขียนคอลัมน์ชื่อ Bridging the Gap ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ในส่วนของ Business Section ซึ่งตีพิมพ์ทุกวันศุกร์มาตั้งแต่ปลายปี 2543 ซึ่งคอลัมน์มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเป็นไทยที่มีผลกระทบในการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นที่จะช่วยให้ความรู้กับชาวต่างชาติ เพื่อให้เขาทำงานร่วมกันกับชาวไทยได้ดียิ่งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายว่าจะช่วยลดความเครียดของชาวไทยที่ทำงานร่วมกับชาวต่างชาติเหล่านั้น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 ผมได้ออกแบบสอบถามไปยังผู้อ่านคอลัมน์ Bridging the Gap ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทางอีเลคทรอนิคเมล์ (Email) โดยส่งออกไปประมาณสามสิบท่านแยกเป็นชาวไทยและต่างชาติจำนวนเท่าๆกัน มีผู้ตอบรับเป็นชาวไทยห้าท่านและชาวต่างชาติเจ็ดท่าน จำนวนของผู้ตอบแบบสอบถามแม้ว่าจะมีไม่มากนักซึ่งไม่ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ก็ได้ภาพสะท้อนมุมมองในเชิงคุณภาพ ซึ่งผมเห็นว่าสอดคล้องกับสิ่งที่เคยได้รับฟังมาจากชาวต่างชาติทั่วๆไป
บทความต่อไปนี้คือบางส่วนที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับชาวไทย โดยเป็นผลคำตอบจากคำถามที่ถามว่า ในฐานะที่ท่านเป็นชาวต่างชาติ ท่านคิดว่าพฤติกรรมหรือบุคลิกเรื่องใดบ้างที่เป็นจุดอ่อนของเพื่อนร่วมงานชาวไทยในที่ทำงาน ซึ่งท่านคิดว่าอยากให้เขาเลิกพฤติกรรมหรือเปลี่ยนบุคลิกเหล่านั้นเสีย สิ่งที่ชาวต่างชาติคิดว่าเป็นจุดอ่อนของชาวไทยในที่ทำงานมีดังต่อไปนี้
ทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง
- ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง ชาวไทยชอบที่จะยึดติดกับวิธีการทำงานรูปแบบเดิมๆ การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานใหม่ๆมักจะถูกมองว่าเป็นการสร้างความรำคาญใจและรบกวนพวกเขาเสมอ
กล้าพูด / กล้าแสดงออก / กล้าแสดงความคิดเห็น / กล้าถาม Assertiveness / Initiative
- ไม่พูดในสิ่งที่ควรพูดเมื่อเวลาทำการเจรจาต่อรอง (น่าจะหมายความว่าเกรงใจไม่กล้าเจรจาต่อรอง โดยยอมปล่อยให้อีกฝ่ายได้เปรียบเมื่อเจรจาต่อรองทั้งๆที่ทราบ แต่ไม่กล้าจะพูดออกมา)
ไม่สามารถจะพูดสิ่งที่ควรพูดออกมาในช่วงเวลาที่ควรพูด
- ไม่กล้าที่จะเสนอแนะความเห็นเพื่อให้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
- อยากให้ชาวไทยกล้าที่จะถามมากว่านี้ ถามหากสงสัย ถามหากไม่แน่ใจ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายของงาน
Accountability / Commitment / Ownership
- ความผูกพันรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ค่อยยอมตั้งเป้าหมายในขณะที่งานบางอย่างนั้นจะต้องทำให้ลุล่วงภายในกำหนดเวลา
- ไม่ยอมผูกพันและรับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษร
- รอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยแก้ แทนที่จะวางแผนป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิด (ต้องให้มีการสั่งเสมอ)
คอยบอกแต่ข่าวดี
- ไม่บอกผู้บังคับบัญชาชาวต่างชาติเมื่อเกิดปัญหาขึ้น จนกระทั่งปัญหาบานปลายไปเกินแก้ไขได้ เช่นบางครั้งเรื่องเล็กน้อยไม่แจ้งให้ผู้บริหารทราบจนถึงขั้นพนักงานเกือบจะสไตร์คไปแล้ว
- บอกในสิ่งที่คิดว่าผู้บังคับบัญชาต้องการฟัง มีแต่เรื่องดีๆ แทนที่จะบอกเล่าไปตามความเป็นจริง เช่นบอกว่า งานนี้ผมทำเสร็จแน่นอนครับอาทิตย์หน้า แต่พอถึงเวลาจริงๆกลับไม่เสร็จ และในความเป็นจริงไม่เคยเสร็จตามวันเวลาที่รับปากไว้เลย
- ไม่กล้าที่จะบอกว่า มีปัญหาเกิดขึ้น
ไม่เป็นไร Pro-active / Mai pen rai / Wait and see
- รอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยแก้ แทนที่จะวางแผนป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิด (ต้องให้มีการสั่งเสมอ)
- ทักษะในการวิเคราะห์ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
- ไม่สุขุมรอบคอบและไม่มองการณ์ไกล
การบริหารเวลา
- คนไทยมีจุดอ่อนในเรื่องการตรงต่อเวลา และการบริหารเวลา
ทักษะในการทำงาน
- ไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้
- เรียนรู้และฝึกฝนทักษะในการทำงานเพียงเพื่อให้พอทำงานได้เท่านั้น แม้ว่าอาจจะมีรายละเอียดของสิ่งที่จะต้องเรียนรู้มากก็ตาม จะไม่ค่อยพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพสูง และไม่ค่อยมุ่งมั่นและภาคภูมิใจสู่ความเป็นเลิศเท่าใดนัก
- พนักงานชาวไทยเท่าที่ผมรู้จัก ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้สึกกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เรื่องราวความเคลื่อนไหวของโลกเท่าใดนัก แม้กระทั่งเรื่องราวและความเคลื่อนไหวของประเทศไทยก็ตาม ผมเพิ่งมาทำงานในประเทศไทยเพียงปีเดียวแต่ผมได้เห็นและสัมผัสเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ดีงามของเมืองไทยมากกว่าพนักงานชาวไทยหลายๆคนในบริษัทของผมเสียอีก ผมคิดว่าหากคนไทยได้สัมผัสกับประเทศของตัวเองมากเพียงพอ มันจะช่วยให้เขาแต่ละคนเข้าใจโครงสร้างและภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วแต่ละคนก็อาจจะมีโลกทัศน์เพียงแค่ในตำบลที่ตัวเองอาศัยอยู่เท่านั้น (ผมต้องขอโทษหากผมพูดตรงหรือแรงไปบ้าง แต่ผมพูดจากประสบการณ์และมุมมองของนักธุรกิจที่ทำงานระหว่างประเทศมามาก)
ความซื่อสัตย์
- ชาวไทยควรจะมีความซื่อสัตย์และตรงไปตรงมามากกว่านี้ เช่นเวลากรอกใบสมัครงานส่วนใหญ่มักจะกรอกว่ามีทักษะการพูดภาษาอังกฤษดี แต่ว่าพอถึงเวลาสัมภาษณ์จริงกับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้แต่ประโยคเดียว พนักงานชาวไทยบอกกับผมว่าใครๆเขาก็ปฏิบัติกันอย่างนั้นเพราะส่วนใหญ่ถือว่าทักษะในข้อนี้มักจะไม่ได้มีการทดสอบกันแต่อย่างใด คำตอบที่ว่านี้ผมไม่สามารถจะรับได้จริงๆ
ระบบพวกพ้องและอาวุโสนิยม
- ชาวไทยมักจะชักนำเพื่อนฝูงมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเสมอ ผมไม่เคยชอบวิธีการดังกล่าวเลย ตัวอย่างเช่นการจัดซื้อสิ่งต่างๆภายในสำนักงาน พวกเขามักจะแนะนำเพื่อนๆมาก่อนโดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทที่ควรจะได้รับเลย นี่เป็นประสบการณ์จริงที่ผมประสบมา การให้ความช่วยเหลือกับเพื่อนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทเลยเป็นอะไรที่ผมไม่ชอบเป็นอย่างมาก
- ปกป้องและทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเมื่อเพื่อนพนักงานด้วยกันทุจริต
ยึดติดกับระบบอาวุโสนิยม
- เปลี่ยนทัศนคติจาก บอกฉันมาว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร แล้วฉันจะลงมือทำตามที่บอก มาเป็น ผลลัพธ์ที่คุณต้องการให้ฉันทำคืออะไร และฉันมีทรัพยากรอะไรบ้างเพื่อช่วยให้ฉันทำงานนั้นลุล่วงได้ตามที่เราจะตกลงกัน
- อย่าหลับหูหลับตาทำตามที่หัวหน้าบอกทุกๆเรื่องโดยไม่ยอมใช้ความคิดของตนเอง
- อย่าหวังพึ่ง พี่ชาย ให้คอยบอกให้ทำทุกๆอย่าง
แยกไม่ออกระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
- ไม่แยกแยะเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกัน
- สอดรู้สอดเห็น โดยเฉพาะในเรื่องส่วนตัว
- การพูดคุยกันเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานมากเกินไป บางครั้งทำให้บานปลายและนำไปสู่ข่าวลือและการติฉินนินทากันภายในสำนักงาน
จุดอ่อนอื่นๆ
- ลาออกจากบริษัทโดยไม่แจ้งล่วงหน้า แต่คาดหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์เต็มที่
- ไม่ยอมรับภารกิจและความรับผิดชอบที่มีมากขึ้นในช่วงวิกฤติ
- ต้องการมากขึ้นแต่กลับไม่ค่อยสร้างคุณค่างานอะไรเพิ่มขึ้นเลย
- องค์กรควรจะมุ่งเน้นการจัดหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงกับงาน แทนที่จะสรรหาคนที่มีคุณสมบัติสูงล้นเกินลักษณะของงานที่รับผิดชอบ
ที่มา : สมาชิกเว็บไซต์