คนเราจะไม่รู้ศักยภาพที่แท้จริงของตนเองเลย หากไม่ได้พยายามถึงที่สุด
Zig Ziglar นักพูดจูงใจด้านการขายชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงเขียนในหนังสือที่ชื่อ See You at the Top (มีหนังสือที่แปลเป็นภาษไทยภายใต้ชื่อ พบกันที่จุดสูงสุด) ว่า จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าปัจจัยของความสำเร็จ 85% มาจากทัศนคติ และอีก 15% มาจากความความรู้และความเชี่ยวชาญ
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าทัศนคติคือกุญแจสำคัญ แต่ในประเทศไทยของเรา เราไม่เคยได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับทัศนคติในเชิงบวก ในเกือบทุกหลักสูตรที่ผมสอน ผมใช้เวลาครึ่งวันสำหรับเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนเรามีแนวคิดที่ถูกต้องก่อนจะลงมือเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
เมื่อผมถามคนส่วนใหญ่ว่าเขาพัฒนาทัศนคติในเชิงบวกอย่างไร ส่วนใหญ่จะตอบว่า ดูหนัง ฟังเพลง ช๊อบปิ้ง หรือพักผ่อน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตแต่ว่ามันไม่เพียงพอที่จะพัฒนาให้ทัศนคติเราแข็งแกร่งเพื่อต่อสู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รุมเร้าเราอยู่ในทุกวันนี้
เราอาจจะเลือกใช้วิธี ทำใจ แต่เราอาจจะไม่ได้สื่อสารกับตัวเองอย่างถูกต้อง แอนโทนี่ รอบบิ้น นักพูดจูงใจชื่อก้องชาวอเมริกันพูดว่า คุณภาพชีวิตขึ้นอยู่กับคุณภาพในการสื่อสารกับตัวเอง หากเราสื่อสารกับตัวเองอย่างไม่เหมาะสม มันอาจจะจบลงด้วยการเก็บกดไว้ในใจ
ผมได้รวบรวมแนวทางและข้อคิดเพื่อช่วยในการพัฒนาทัศนคติเชิงบวกายี่สิบข้อ จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ หนังสือ วีดีทัศน์ หลายแหล่ง อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงสั่งสอนเราว่า อย่าเชื่ออะไรจนกว่าจะลองพิสูจน์ก่อน ผมลองใช้ทุกๆวิธี และพบว่าบางวิธีอาจจะเหมาะกับบางคน อย่างไรก็ตามมีข้อคิดสองเรื่องที่คนส่วนใหญ่ชอบ ซึ่งผมจะขอเล่าดังนี้
แอนโทนี่ รอบบิ้น เขียนในหนังสือ Notes from a friend (หนังสือได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยชื่อ หัวใจแห่งความสำเร็จจากเพื่อน) โดยเขาเล่าเรื่องของผู้พันแซนเดอร์ผู้ก่อตั้งไก่ทอด KFC ว่า ผู้พันฯเริ่มธุรกิจเมื่ออายุหกสิบห้าปี เมื่อเขาพบว่ารายได้จากประกันสังคมเพียงเดือนละ 105 เหรียญคงไม่เพียงพอ เขามีสูตรไก่ทอดซึ่งน่าจะทำเงินได้จากรูปแบบของการขายฟรานไชส์ เขาเริ่มออกไปพบหาผู้คนและเสนอแนวคิดของเขา
ในตอนแรกที่ผู้พันฯพยายามสร้างธุรกิจ ฟรานไชส์ไก่ทอดของเขา เขาพยายามเสนอไอเดียให้กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เริ่มทำธุรกิจกับเขา เขาใช้เวลาสองปีเดินทางจนทั่วอเมริกา แต่ได้รับคำปฏิเสธจากคนถึงหนึ่งพันเก้าคน จนกระทั่งคนที่หนึ่งพันสิบจึงมีคนตอบตกลง มีคนถามเขาว่า ผู้พันไม่เคยท้อถอยจนอยากจะเลิกล้มความคิดบ้างหรือ ผู้พันทนได้อย่างไรกับคำปฏิเสธเป็นพันครั้ง ผู้พันตอบว่า ผมไม่มีปัญหากับคำปฏิเสธ ความจริงแล้วทุกครั้งที่ผมถูกปฏิเสธ ผมได้เรียนรู้วิธีที่พูดอย่างไรจะถูกคนปฏิเสธเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวิธี และผมก็จะปรับแนวทางการพูดของผมจนในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จ
ลองคิดดูซิครับ ว่าหากเรามีความคิดดีๆที่เราเชื่อมั่นสุดหัวใจ เราสามารถรับคำปฏิเสธได้กี่ครั้ง
สำหรับอีกเรื่องหนึ่งผมฟังมาจากวีดีทัศน์เรื่อง Self-Esteem & Peak Performance ของ Jack Canfield นักพูดชื่อดังและนักเขียนหนังสือขายดีระดับโลก Chicken Soup of the Soul เขาเล่าให้ฟังถึงคุณยายอายุหกสิบสามปี ในอเมริกาที่เห็นรถคันใหญ่ทับขาของหลานเธอเข้า เธอจึงวิ่งผลุนผลันออกไปและด้วยความที่ไม่ได้คิดอะไรมากเพียงแต่ต้องการจะช่วยหลานของเธอ เธอจึงออกแรงยกรถดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งโดยปกติต้องใช้ผู้ชายที่แข็งแรงสี่ถึงห้าคนยกขึ้น
หลังจากนั้นก็มีนักข่าวหลายคนพยายามจะสัมภาษณ์เธอถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่เธอก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว
กระทั่งนาย ชาร์ล การ์ฟีลด์ นักเขียนเกี่ยวกับพลังสร้างสรรค์ในตัวมนุษย์ ได้มีโอกาสมาพูดคุยกับเธอ โดยเธอเล่าให้ฟังด้วยเหตุผลสั้นๆว่าการกระทำของเธอได้ทำให้เธอตระหนักว่าตัวเธอนั้นมีศักยภาพมากกว่าที่เธอคิด และยิ่งเธอนึกถึงเรื่องนี้มากเท่าใด ทำให้เธออดคิดไม่ได้ว่าแล้วในอดีตเธอได้ล้มเลิกความคิดโดยไม่กล้าทำอะไรตั้งหลายอย่างเพราะคิดว่าตนเองคงไม่มีความสามารถจะทำได้ซึ่งเธอคงคิดผิดอย่างมหันต์สำหรับหลายๆเรื่องในอดีต ยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้เธอทำใจลำบากเพราะรู้สึกเสียดายโอกาสในชีวิตไปเป็นจำนวนหลายครั้ง Jack เล่าเรื่องนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจคนหนุ่มสาวอย่างพวกเราว่าอย่ารอให้อายุถึงหกสิบสามปี ก่อนแล้วจึงพบว่าเรามีศักยภาพที่สามารถจะทำอะไรได้ตั้งมากมาย ดังนั้นถ้าเราเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ถ้าพยายามเราก็จะกล้าลงมือ
ผมฟังเรื่องนี้ขณะอายุได้สี่สิบสอง ทำให้รู้สึกเสียดายว่าหากผมฟังเรื่องนี้ซักยี่สิบปีก่อนหน้านี้ ชีวิตเราคงไม่พลาดโอกาสหลายอย่างในชีวิตเพราะการปฏิเสธก่อนพยายามลงมือทำโดยดูแคลนศักยภาพของตัวเรา
ผมหวังว่าเรื่องทั้งสองเรื่องนี้คงจุดประกายพวกเราว่าอย่าประเมินศักยภาพตนเองต่ำ เราอาจจะขาดความเชื่อมั่นในตนเองและบอกปฏิเสธก่อนจะลงมือทำสิ่งใด
ลองคิดดูดีๆว่า เราอาจจะไม่สามารถเลือกงานของเราได้ แต่เรามีอิสรภาพที่สามารถเลือกทัศนคติของเราเองได้
ที่มา : เมล์จากสมาชิก