Assertiveness


790 ผู้ชม


Assertiveness




    

Assertiveness เป็นคำที่ผมมีความยุ่งยากใจที่จะแปลเป็นภาษาไทย  เพราะไม่แน่ใจว่าคำไทยคำใดจะสื่อความหมายมันได้ดีที่สุด  แต่ผมจะให้คำนิยาม  (Definition)  ไว้ดังนี้ครับ

 

          Assertiveness  คือการที่เราแสดงออกด้วยคำพูดหรือกิริยาอาการว่า  เรามีความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  โดยไม่ปิดบังหรืออ้อมค้อม  แต่ไม่ก้าวร้าว

 

          เรื่องการพูดอะไรให้  Assertiveness  นี้เป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย  แต่สำหรับชาวต่างชาติเช่นชาวอเมริกัน  ชาวสิงคโปร์  หรือชาวยุโรปส่วนใหญ่แล้วเขาจะประพฤติปฏิบัติกันเป็นปกติ  ตัวอย่างเช่น  มีเพื่อนชาวอเมริกันของผมซึ่งเป็นสุภาพสตรีชื่อจูเนียกำลังยืนเข้าคิวคอยโทรศัพท์สาธารณะอยู่  ในอเมริกา  ปรากฏว่ามีชายคนหนึ่งซึ่งกำลังรีบร้อนอยู่เดินเข้ามาลัดคิว  (จะโดยตั้งใจหรือไม่  ไม่ทราบได้)  จูเนียไม่รีรอ  เธอรีบสะกิดชายผู้นั้นแล้วบอกเขาอย่างสุภาพว่า  “คุณคะมีคนยืนรอเข้าคิวอยู่  คุณช่วยไปต่อคิวตามลำดับนะคะ”  อาการเช่นนี้เรียกว่า  Assertiveness  แต่ถ้าจูเนียบอกกับเขาว่า  “นี่คุณไม่รู้จักมีมารยาทซะบ้างเลยไปต่อคิวข้างหลังโน่น  รู้จักเกรงใจคนอื่นบ้างซิ”  อาการเช่นนี้เรียกว่า  Aggressiveness  ซึ่งเป็นการที่เราแสดงออกด้วยคำพูดหรือกิริยาอาการว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไรโดยไม่ปิดบังหรืออ้อมค้อม  แต่ก้าวร้าว     

 

          ผมมีข้อสังเกตุว่าคนไทยหลายๆคน  อาจจะแยกแยะไม่ออกระหว่าง  Assertiveness  และ Aggressiveness  เราอาจจะคิดว่าการแสดงออกที่  Assertiveness  เป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ  เพราะว่าวัฒนธรรมของเรานั้นเป็นวัฒนธรรมที่อ่อนน้อม  เอื้ออารี  และเป็นมิตร  หากเราจะพูดอะไรตรงไปตรงมาอาจจะกระทบต่อความรู้สึกของคนอื่นก็ได้  เราจึงหลีกที่จะพูดตรงๆโดยการพูดอ้อมๆ  หรือบางครั้งก็ไม่พูดซะเลยดีกว่า  เพราะเราเคยได้ยินสุภาษิตโบราณว่า  “พูดไปสองไพเบี้ย  นิ่งเสียตำลึงทอง”

 

          มีฝรั่งจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องเกรงใจ  ดังนั้นเขาจะรู้สึกแปลกใจที่เราไม่แสดงออกอย่าง  Assertive  ตัวอย่างเช่นในที่ประชุมเจ้านายฝรั่งบอกว่า  เราต้องทำรายงานนี้ให้เสร็จภายในหนึ่งอาทิตย์  แต่ว่าสมาชิกในที่ประชุมมีข้อมูลว่า  รายงานนี้ต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งอาทิตย์แน่นอน  เพราะครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว  โดยที่ครั้งแรกที่เคยทำแล้วนั้นใช้เวลาสองอาทิตย์  สาเหตุก็เพราะว่ามันเป็นโปรแกรมใหม่ที่พนักงานยังไม่ถนัด  แต่ด้วยความที่เราไม่  Assertive  เพียงพอ  เราก็รับปากทั้งๆที่รู้ว่ายังไงก็เสร็จไม่ทัน

 

          ดังนั้นหนึ่งสัปดาห์ผ่านไปเมื่อนายฝรั่งมาตามงาน  ก็แน่นอนละว่างานไม่เสร็จ  แล้วเราก็โดนเขาตำหนิว่า  ไม่สามารถรับผิดชอบงานตามที่สัญญา  (Promise)  ไว้ได้   

 

          ดังนั้นหากเรา  Assertive  เพียงพอ  ปัญหาเช่นนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น  คราวนี้เราลองมาดูซิว่าถ้าอย่างนั้นหากว่าเราต้องการพัฒนาตัวเราให้มี  Assertiveness  มากขึ้นนั้นเราจะทำได้อย่างไร

 

          เริ่มต้นเลยเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า  Assertiveness  เป็นเรื่องปกติ  มิใช่เป็นกิริยาที่ไม่สุภาพและก้าวร้าว  โดยเฉพาะชาวต่างชาติแล้วนั้นเขายิ่ง  Assertive  มากจนเราอาจจะรู้สึกอึดอัดใจด้วยซ้ำไป  เพราะเขาต้องปกป้องสิทธิของเขา  หากเขาไม่เห็นด้วย  หรือคิดว่าในภายหลังแล้วเขาจะต้องมารับผลที่ตามมา  (Consequences)  หากไปตกปากรับคำในสิ่งที่รู้แล้วว่าทำไม่ได้

 

          คราวนี้เราอาจจะใช้คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยเราตรวจดูว่าเรื่องนั้นเราควรจะ  Assertive  หรือไม่

 

·    หากเราไม่พูดสิ่งที่เราคิดออกไป  จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

·    เราจะพูดอย่างไรไม่ให้เขาเสียความรู้สึกหรือเสียหน้า

·    น้ำเสียง สีหน้า กิริยา ท่าทาง ของเราจะแสดงออกอย่างไร

·    เวลาและโอกาสนี้  ควรจะพูดหรือไม่

 

 

          ตัวอย่างเช่นในเรื่องรายงานข้างต้น  หากเราประยุกต์ใช้คำถามเหล่านี้ดู

 

·    หากเราไม่พูดสิ่งที่เราคิดออกไป  จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

เจ้านายจะตำหนิเราว่าเราไม่รับผิดชอบกับงาน

·    เราจะพูดอย่างไรไม่ให้เขาเสียความรู้สึกหรือเสียหน้า

นายครับ  งานนี้ผมเคยทำมาแล้วมันใช้เวลาสองอาทิตย์  ครั้งนี้อาจจะไม่ถึงสองอาทิตย์ครับ  แต่เกรงว่าอาทิตย์เดียวคงไม่เสร็จแน่  ผมคิดว่าที่ควรจะเป็นคือ…

·    น้ำเสียง สีหน้า กิริยา ท่าทาง ของเราจะแสดงออกอย่างไร

ควรจะแสดงด้วยอาการปกติ  หากเป็นภาษาอังกฤษก็ควรพูดช้าๆ  ชัดถ้อยชัดคำ

·    เวลาและโอกาสนี้  ควรจะพูดหรือไม่

 

          เจ้านายกำลังหงุดหงิด  เพราะนายของเขาเร่งมาอีกที่หนึ่ง  ซึ่งหากไม่เสร็จก็จะมีผลเสียหายทางธุรกิจ  ในกรณีนี้คุณอาจจะต้อง  Assertive  พอที่จะบอกว่าหากจะให้เสร็จทันนั้น  คุณต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง  หรือต้องการทรัพยากรอะไรเพิ่มเติมขึ้นบ้าง

 

ในเรื่องใดบ้างที่เราควรจะ  Assertive

 

·    เรื่องที่เรารู้อย่างชัดเจนว่าคงทำไม่ได้ตามสิ่งที่นายบอกมา  เช่นกรณีตัวอย่างข้างต้น  เพราะว่าเราต้องมองที่ผลที่จะเกิดตามมา  ลองประเมินสิ่งเหล่านี้ดู

 

ปฏิเสธว่าทำไม่ได้ภายในเวลาหนึ่งอาทิตย์

รับปากไปทั้งๆที่รู้ว่าทำไม่ได้

 

·    วันนี้  :  ต้องอธิบายความให้นายฟัง  อาจต้องขัดใจนายในวันนี้บ้าง

·    วันหน้า  :  หากเจ้านายเข้าใจและเปลี่ยนกำหนด  ก็ไม่เกิดปัญหาในอนาคต

·    วันนี้  :  เจ้านายชื่นชม  ว่ามีความรับผิดชอบ

 

·    วันหน้า  :  เจ้านายตำหนิว่าไม่รับผิดชอบ  แต่นอกเหนือไปกว่านั้น  หากเจ้านายเราไปรับปากลูกค้าไว้  ผลเสียอาจจะทำให้เสียลูกค้า  และเสียธุรกิจไปได้  เผลอๆตัวเรา  อาจจะถูกลงโทษด้วย  ถ้าเขารู้แล้วว่าในวันที่รับปากนั้นรู้อยู่ว่าทำไม่ได้

 

 

·    เรื่องที่เป็นเรื่องต้องเร่งให้เสร็จ 

 

·    เรื่องที่จะก่อให้เกิดผลเสียหายกับลูกค้า  องค์กรของเรา

 

ผมหวังว่าด้วยแนวทางนี้  คงจะทำให้คุณ  Assertive  มากขึ้นนะครับ

 

 

 

ที่มา : เมล์จากสมาชิก

อัพเดทล่าสุด