มองมุมใหม่: สาเหตุที่ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน


778 ผู้ชม


มองมุมใหม่: สาเหตุที่ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน




    รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ [email protected] คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอผลการวิจัยของ Fernando Bartolome และ Paul Lee Evans ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Harvard Business Review ตั้งแต่ปี 1980 เรื่อง Must Success Cost So Much? ที่นำเสนอผลการศึกษาว่าทำไมผู้บริหารบางท่าน ถึงสามารถมีความสุขทั้งในชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว แต่บางท่านกลับต้องเสียสละชีวิตส่วนตัวเพื่อความก้าวหน้าทางด้านการงาน

ซึ่งพบว่าข้อแตกต่างระหว่างผู้บริหารทั้งสองลักษณะคือ ผู้ที่ไม่มีความสุขในชีวิตส่วนตัวนั้นมักจะมีสาเหตุมาจากการไม่มีความสุขในการทำงาน และอารมณ์เสียดังกล่าวก็ค้างกลับมาที่บ้านด้วย แต่ในผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จทั้งงานและชีวิตส่วนตัวนั้น เขาจะมีความสุขในการทำงาน หรือถึงแม้จะเครียด แต่ก็ไม่นำความเครียดนั้นกลับมาที่บ้านด้วย

พอจะสรุปได้นะครับว่าการมีความสุขในการทำงานจะเป็นความจำเป็นพื้นฐานต่อความสุขในชีวิตส่วนตัว ดังนั้น เรามาดูกันนะครับว่าอะไรคือปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไม่มีความสุขหรืออารมณ์เสียในการทำงาน เพื่อที่เราจะได้หาทางหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ และเป็นพื้นฐานต่อความสุขส่วนตัว

สาเหตุแรกของการไม่มีความสุขในที่ทำงาน (ที่ส่งผลต่อชีวิตส่วนตัว) คือการเปลี่ยนงานใหม่ การเปลี่ยนงานใหม่ในที่นี้ ครอบคลุมทั้งการย้ายสถานที่ทำงาน การได้รับการเลื่อนตำแหน่ง การปรับเปลี่ยนหน้าที่งาน หรือสิ่งใดก็ตามที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการทำงาน ซึ่งเมื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมทำให้ทุกๆ คนต้องพยายามทำตัวให้คุ้นเคยกับงานหรือสิ่งใหม่ๆ ทั้งคนใหม่ๆ หน้าที่ใหม่ๆ ความรับผิดชอบใหม่ๆ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ หรือความสัมพันธ์ใหม่ๆ ซึ่งความแปลกใหม่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของเราทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ช่วงของการปรับตัวและปรับเปลี่ยนเหล่านี้ เมื่อผ่านพ้นระยะหนึ่งแล้วเราก็จะสามารถปรับตัวได้ แต่ระยะของการปรับตัวนั้นจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับลักษณะของงานแต่ละงาน อย่างไรก็ดี ยิ่งเวลาที่ต้องปรับตัวนานก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวมากขึ้นเท่านั้น

ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับ ในช่วงของการปรับเปลี่ยนงานนั้น เรามักจะเกิดอาการเกร็งหรือเครียดจากการปรับเปลี่ยน และถ้าเราคุมไม่ดีอาการเครียดดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว และยิ่งถ้าต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนนานแค่ไหน โอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวของเราก็จะมากขึ้น ลองนึกดูนะครับ ในอดีตท่านสามารถกลับไปทานข้าวเย็นกับครอบครัวได้ทุกวันและเสาร์อาทิตย์ก็มีเวลาให้ครอบครัว แต่พอได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร ก็เริ่มกลับบ้านเย็นมากขึ้น ต้องเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงเสาร์อาทิตย์ก็ต้องออกตรวจตลาดต่างจังหวัด คำถามสำคัญคือในช่วงของการปรับเปลี่ยนนั้นจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของท่านอย่างไรบ้าง?

แนวทางในการแก้ไขนั้นก็คือต้องพร้อมที่จะเปิดใจและนั่งถกกันอย่างตรงไปตรงมากับครอบครัวครับว่างานหรือความรับผิดชอบใหม่นั้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตครอบครัวอย่างไร โดยต้องมีการวิเคราะห์และประเมินอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ครอบครัวไม่ต้องเกิดความคาดหวังแบบเดิมๆ และทุกคนก็พร้อมที่จะยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนงานใหม่นั้น สาเหตุที่สำคัญอีกประการคือความไม่เหมาะระหว่างตัวเรากับงานหรือที่เรียกว่า Misfit หรือที่เราคุ้นกันในชื่อของวางคนไม่ถูกกับงานนั้นเองครับ ความไม่เหมาะสมนั้นมักจะมาจากสาเหตุที่สำคัญสามประการประกอบด้วย การขาดทักษะ การไม่ชอบงาน และการรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับงาน

ในประเด็นการขาดทักษะนั้น ท่านอาจจะมีความรู้สึกที่ดีที่ได้ทำงานนั้น และพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะทำให้งานสำเร็จ แต่ท่านเองก็จะไม่มั่นใจว่าท่านมีความสามารถเพียงพอที่จะทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ บุคคลเหล่านี้อาจจะพยายามอย่างหนักที่จะทำงานให้ได้ดี แต่ก็มักจะหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่างานจะล้มเหลว อาจจะเรียกว่าไม่มีความมั่นใจในความสามารถของตนเองก็ได้

ในส่วนของการไม่ชอบงานนั้น ท่านอาจจะมีความสามารถในการทำงานและรู้สึกดีกับงานดังกล่าว เพียงแต่ท่านไม่ชอบงานดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมาจากลักษณะต่างๆ ของงานที่อาจจะไม่ตรงกับบุคลิกภาพและอุปนิสัยของเรา แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะมาจากทำงานในที่เดิมนานเกินไปจนเกิดความเบื่อหน่าย หรือมีงานที่ต้องทำมากเกินไปก็เป็นได้

ประเด็นสุดท้ายคือรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับงาน หรือที่เรียกว่าเป็น moral misfit โดยในกลุ่มนี้เราจะไม่มีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานดังกล่าว เนื่องจากงานดังกล่าวอาจจะมีความเหลื่อมล้ำกับการผิดศีลธรรม จริยธรรม ความเครียดที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นจากความกลัวในด้านกฎหมาย รวมทั้งการไม่สามารถเล่า แบ่งปันประสบการณ์กับคนใกล้ตัว เนื่องจากสิ่งที่ทำนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกใครได้

ความไม่เหมาะสมในเรื่องของทักษะนั้น อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่ผู้บริหารและองค์กรมองเห็น แต่ปัจจัยประการอื่นก็สำคัญและจะส่งผลต่อความสุขในการทำงานของแต่ละคน รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อความสุขในครอบครัวด้วยเช่นเดียวกันครับ

ก่อนจากขอฝากประชาสัมพันธ์หน่อยครับ ในวันที่ 8 และ 9 กรกฎาคมนี้ หลักสูตร IT in Business ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะจัดให้มีการนำเสนอโครงการพิเศษในด้าน IT ซึ่งเป็นผลงานของนิสิตปริญญาโทของหลักสูตร มีหลายๆ ระบบที่น่าสนใจและน่าจะนำไปปรับใช้ได้ในองค์กรของท่านนะครับ เช่น ระบบสารสนเทศสำหรับงานขายและสินค้าคงคลัง หรือระบบสารสนเทศสำหรับ e-training หรือระบบสารสนเทศในการติดตามหนี้ ถ้าสนใจรายละเอียดก็โทรไปสอบถามได้ที่หลักสูตร 0-2218-5715-6 นะครับ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด