กฎ 10 ประการในการอยู่ร่วมกันของนายกับลูกน้อง


876 ผู้ชม


กฎ 10 ประการในการอยู่ร่วมกันของนายกับลูกน้อง




    

โกศล อนุสิม


การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมทุกระดับ ย่อมประกอบไปด้วยฝ่ายที่มีฐานะและอำนาจมากกว่ากับฝ่ายที่มีน้อยกว่า ไม่ว่าในระดับครอบครัว องค์กร ประเทศ และโลกทั้งโลก ฉะนั้น เพื่ออยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข จึงมีกฎเกณฑ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะในรูปแบบประเพณี แบบแผน ของสังคม และกฎหมาย

กฎเกณฑ์นั้นจะเป็นอย่างไร เพื่อใครมากกว่าใคร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสังคม และสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ที่จะปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมเพื่อสนองความต้องการไม่เคยพอดีของคน

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำสอนทั้งปวงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาความไม่พอดีของคน โดยทรงชี้ทางให้เห็นถึงเป้าหมายอันสูงสุดนั่นคือการหมดสิ้นจากกิเลส ในขณะเดียวกันก็ชี้แนวทางสำหรับผู้ที่ยังอยู่ในวังวนของการเกิด ตัดกิเลสยังไม่ขาดและตัดสวาทกับมนุษยสมบัติยังไม่ได้ เพื่อให้คนทั้งหลายอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมากที่สุด เบียดเบียนกันน้อยที่สุดอันเป็นศีลและธรรมขั้นพื้นฐาน เมื่อได้รับความดีจากการนี้แล้ว ก็จะได้มุ่งมั่นในระดับสูงขึ้นไป

ศีลและธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้นคือกฎการอยู่ร่วมกันของคน แต่ละหัวข้อก็จะเหมาะสมกับคนแต่ละประเภท แต่ละหัวข้อถูกจริตกับคนหนึ่งแต่อาจไม่ตรงกับอีกคนหนึ่ง เพราะภูมิปัญญาของคนไม่เท่ากัน ดังนั้น การนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้แต่ละแห่ง แต่ละหน แต่ละคนจึงอาจแตกต่างกัน

กรรมบถ 10 เป็นอีกคำสอนหัวข้อหนึ่ง ที่พระองค์ได้ทรงวางไว้สำหรับเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความไม่พอดีของคน เป็นกฎสำหรับใช้ควบคุมให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบ หากนำมาใช้ในองค์กรสมัยใหม่ ก็คงจะปรับชื่อให้เข้ากับลีลาของบรรดากูรูสมัยปัจจุบันได้ว่าเป็น “กฎ 10 ประการในการอยู่ร่วมกันของนายกับลูกน้อง” อันประกอบด้วย

1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ อันรวมถึงการทรมาน เบียดเบียน ทำให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเหมือนกับศีลห้าข้อแรก ในการอยู่ร่วมกันของคนในทุกระดับของสังคม เช่นในองค์กร นายไม่ข่มเหงเบียดเบียนลูกน้อง ลูกน้องไม่จ้องฟ้องนาย เพื่อนไม่ทำร้ายเพื่อน คุยกันในที่ประชุมจ๊ะจ๋า แต่พ้นห้องประชุมกูจะฆ่ามึง ฯลฯ หากไม่มีเช่นนี้หรือมีน้อยๆแล้วไซร้ ย่อมจะมีความสุขอย่างแน่นอน

2. เว้นจากการลักทรัพย์ นี่ก็เหมือนกับศีลห้าข้อที่สอง หากทั้งนายและลูกน้องมีความซื่อสัตย์ นายไม่เบี้ยวค่าแรงลูกน้อง ลูกน้องไม่แอบโกงเวลาขององค์กร นายไม่สั่งให้ลูกน้องทำผิด ปกปิดข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน ผู้บริหารไม่สมคบกันตบตากรรมการ กรรมการไม่รวมหัวกันโกงผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นไม่สุมหัวกับกรรมการทำบัญชีปลอมเลี่ยงภาษีขโมยเงินของชาติ ก็ย่อมมีความสุขแน่แท้

3. เว้นจากการกาเมสุมิจฉาจาร นี่ย่อมหมายรวมถึงการเอารัดเอาเปรียบทางเพศ ไม่ว่าจะระหว่างนายกับลูกน้อง ลูกน้องกับนาย เพื่อนร่วมงานกับเพื่อนร่วมงาน ดังจะเห็นได้อยู่เสมอว่า มีการฆ่าฟันกันเพราะเรื่องนี้ในองค์กรต่างๆ ทุกระดับ แม้ผู้นำของโลกอย่างบิล คลินตัน ก็ฉาวโฉ่เรื่องนี้ ซึ่งมีแต่ความเสียหายแก่ทุกฝ่าย เกิดขึ้นองค์กรไหนที่นั่นก็หมดความสุข

4. ไม่พูดโกหก ถ้าทุกคนพูดแต่คำโกหก นายโกหกลูกน้อง ลูกน้องโกหกนาย เพื่อนโกหกเพื่อน ผู้นำโกหกประชาชน ในที่สุดก็ย่อมเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

5. ไม่พูดคำหยาบ ลองคิดดูเถิด หากในองค์กรหนึ่ง หรือประเทศหนึ่ง มีแต่คนพูดคำหยาบ ด่าพ่อล่อแม่กันเอง ด่าพ่อล่อแม่คนอื่น ก็ย่อมจะหาความสงบสุขได้ยาก โดยเฉพาะผู้นำนั้น หากพูดคำหยาบในที่สาธารณะ สังคมก็ย่อมจะติฉินและรังเกียจเป็นแน่แท้ องค์กรนั้นหรือประเทศนั้นก็คงไม่ค่อยมีใครอยากติดต่อด้วย

6. ไม่พูดส่อเสียดให้คนแตกร้าวกัน ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ต้องพึงปฏิบัติ หากคนส่วนมากในองค์กรใดชอบใส่ไฟคนอื่น ยุแยงตะแคงรั่วกัน ผลงานก็คงไม่ต้องพูดถึง

7. ไม่พูดวาจาไร้ประโยชน์ ประเภทมีแต่น้ำหาเนื้อหาผักไม่มี ประชุมแต่ละทีทั้งนายทั้งลูกน้องฟุ้งกันน้ำลายแตกฟอง แต่สุดท้ายสรุปสาระอะไรไม่ได้ เพราะมีแต่เพ้อเจ้อกันไป แบบนี้ย่อมจะเห็นอนาคตโดยไม่ต้องพึ่งตัวเลขหรือหมอดู

8. ไม่คิดอยากได้ทรัพย์คนอื่นมาเป็นของตน ท่านห้ามคิดเด็ดขาด ทั้งไม่คิดเอง ไม่ใช้คนอื่นคิด ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นคิดแล้วทำสำเร็จ เป็นการตัดความละโมบที่จะนำไปสู่การกระทำไม่ชอบ

9. ไม่คิดพยาบาทปองร้ายใคร ถึงขนาดที่จะต้องเอากันให้ตายไปข้างหนึ่ง ประเภทที่ว่า มึงอย่าเผลอ ถ้าเผลอกูเอาแน่ รวมถึงไม่ใช้ให้คนอื่นทำ ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นทำแล้ว ข้อนี้ เป็นการป้องกันการฆ่าฟันเบียดเบียนกัน ถ้าจะแข่งก็แข่งกันที่ผลงาน ไม่ใช่แทงข้างหลัง

10. มีความเห็นตามทำนองคลองธรรม ในทางธรรมคือเห็นตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติตามนั้น ปฏิบัติตามทั้ง 9 ข้อข้างต้น ก็จะเป็นหนทางไปสู่ความสุข ในทางสังคม ก็ย่อมทำตามกฎระเบียบที่ถูกต้อง ในองค์กรก็ย่อมเป็นการทำตามกฎระเบียบขององค์กร ไม่ตีความกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เข้าข้างตนเอง ระเบียบข้อเดียวกันทำอย่างเดียวกัน แต่คนอื่นทำบอกว่าผิด พอตัวเองทำบอกว่าได้ แบบนี้ก็ไม่สมควร

กรรมบถ 10 นี้ ในทางธรรม เป็นเครื่องชี้หนึ่งในการวัดความเป็น หากมีศีลบริสุทธิ์ (กรณีคนธรรมดาคือศีล 5) ละสังโยชน์ 3 ได้ เคารพในพระรัตนตรัย และมีกรรมบถ 10 สมบูรณ์ ท่านว่า เป็นพระอริยะเบื้องต้นคือ พระโสดาบัน บาปทั้งหลายตามไม่ทัน เกิดอีกอย่างมาก 7 ชาติก็ไปพระนิพพาน

สำหรับคนธรรมดาที่กิเลสหนาอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ลูก เป็น ซีอีโอ ซีเอฟโอ เอ็มดี จีเอ็ม เป็น กกต. ปชป. นรม. รมว.หรือ ปชช. หากมีกรรมบถ 10 สักครึ่งหนึ่ง แม้จะยังไม่ได้พากันไปนิพพาน ก็จะลดการล้างผลาญทรัพย์สินส่วนรวมได้ไม่น้อย สังคมก็คงจะมีความสุขขึ้นมากแล

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด