จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย


2,519 ผู้ชม

จุฬาราชมนตรี” ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำฝ่ายอิสลามในประเทศไทย ได้เริ่มขึ้นในสมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163 – 2171)


จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย

ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือระหว่าง https://www.muslimchonburi.com และวิชาการดอทคอม

จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
จุฬาราชมนตรี” ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำฝ่ายอิสลามในประเทศไทย ได้เริ่มขึ้นในสมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163 – 2171)
ในสมัยนั้นได้มีชาวต่างชาติซึ่งนับถือศาสนาอิสลามได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยเข้ามาประกอบการค้า และเข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่ปลายสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133 – 2148) มีพ่อค้าชาวเปอร์เซียสองพี่น้อง คนพี่ชื่อ “เชคอะหมัด” คนน้องชื่อ “เชคสะอิ๊ด” เป็นชาวเปอร์เซีย นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ซึ่งคนไทยโดยทั่วไปเรียกว่า ”แขกเจ้าเซ็น” พร้อมด้วยบริวาร ได้เข้ามาตั้งรกรากค้าขายอยู่แถวท่าภาษี
 
สองพี่น้องนี้ทำการค้าโดยซื้อสินค้าพื้นเมืองจากไทยบรรทุกสำเภาออกไปจำหน่ายต่างประเทศและซื้อของจากต่างประเทศเข้ามาขาย ณ กรุงศรีอยุธยา เรียกว่าทำการส่งออกและนำเข้าโดยสมบูรณ์ทั้งขึ้นทั้งล่อง


การค้าของบุคคลทั้งสองเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ จนถึงขั้นเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาทีเดียว ท่านเชคสะอิ๊ดอยู่ไม่นานก็กลับไปกรุงเปอร์เซีย และมิได้กลับมาอีกเลยตลอดชีวิต  ส่วนท่านเชคอะหมัดนั้นได้สมรสกับสุภาพสตรีไทยและตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาตลอดชีวิตของท่าน
จุฬาราชมนตรี (เชคอะหมัด)


จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ท่านเชคอะหมัดเป็นผู้เจนจัดในด้านการค้ากับต่างประเทศ ได้ช่วยราชการแผ่นดิน โดยร่วมกับพระยาพระคลังปรับปรุงการกรมท่า ทำให้งานราชการด้านดังกล่าวเจริญก้าวหน้ามาก ความทราบถึงเบื้องพระยุคลบาท จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้เป็นพระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวาและว่าที่จุฬาราชมนตรีเป็นผู้ดูแลควบคุมชาวมุสลิมอีกด้วย
นับได้ว่าท่านเชคอะหมัดเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีของประเทศไทย
เมื่อเจ้าพระยาพระคลังถึงแก่อนิจกรรมก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเป็นเจ้ากรมเป็นเจ้ากรมท่ากลางอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย นับได้ว่าท่านผู้นี้ได้ว่าที่เสนาบดีการต่างประเทศ และการพาณิชย์ของประเทศไทยในสมัยนั้นโดยสมบูรณ์ทีเดียว
ครั้งที่พวกกบฎญี่ปุ่นก่อการจลาจลขึ้น มีแผนการจับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินก็ได้พระยามหาอำมาตย์กับพระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐี รวมกำลังไทยพุทธ กับชาวมุสลิมเข้าปราบการจลาจลครั้งนั้นได้ทันท่วงที  บ้านเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ความชอบครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์เลื่อนเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ว่าที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีปักษ์ใต้ และให้พระเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เลื่อนเป็นเจ้าพระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐีว่าที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ


ต้นแผ่นดินพระเจ้าประสาททอง (พ.ศ. 2173 – 2198) ซึ่งแต่เดิมคือเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งเคยเป็นสหายสนิทร่วมกันมาแต่เดิม ทรงเห็นว่าเจ้าพระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐี มีอายุชราภาพมากแล้ว จึงทรงโปรดให้พ้นจากตำแหน่งสมุหนายก เลื่อนเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก อยู่ในตำแหน่งจางวางมหาดไทย คือตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไป ท่านได้อยู่ในตำแหน่งนี้ราวปีเศษก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุได้ 88 ปี ศพของท่านได้นำไปฝัง ณ สุสานแขกเจ้าเซนบ้านท้ายคู ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านมักเรียกว่า “ท่านเจ้าประคุณกลางเมือง” ปัจจุบันอยู่ในบริเวณวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา
ท่านเชคอะหมัดหรือท่านเจ้าพระยาบวรราชนายก นี้นับเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทยและชาวมุสลิมชีอะห์ถือว่าท่านผู้นี้เป็นผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เข้ามาสู่เมืองไทยเป็นคนแรก


ความจริงศาสนาอิสลามได้เข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะชาวมุสลิมทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปจนถึงมลายู มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามอยู่มากมาก่อน และบรรดาเจ้าเมืองทางภาคใต้ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามแต่เป็นนิกายซุนนี
ท่านเชคอะหมัดหรือท่านเจ้าพระยาบวรราชนายกนี้ นับเป็นต้นตระกูลของสกุล อะหมัดจุฬา,  จุฬารัตน์,  บุนนาค,  ศรีเพ็ญ,  บุรานนท์,  ศุภมิตร,  จาติกรัตน์ ฯลฯ
จุฬาราชมนตรี (แก้ว)
  ท่านจุฬาราชมนตรี คนที่ 2 คือ พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) เป็นบุตรของพระยาศรีนวรัตน์ (อากามะหะหมัด) เป็นหลานปู่ของท่านเชคสะอิ๊ด ซึ่งกลับไปเปอร์เซียแล้ว และเป็นหลานตาของท่านเชคอะหมัด เจ้าพระยาบวรราชนายกนั่นเอง
  ท่านผู้นี้ได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และนับเป็นลำดับชั้นที่ 2 ในสายสกุลของท่านเชคอะหมัด แต่ท่านไม่มีบุตรธิดาสืบสกุลเลย
จุฬาราชมนตรี (สน)
ท่านจุฬาราชมนตรี คนที่ 3 คือ พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) เป็นบุตรของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) พี่ชายของท่านพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) นั่นเอง ได้เข้าราชการตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นหลวงศรียศในกรมท่าขวา แล้วได้รับเลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ 3 กรุงศรีอยุธยา ว่าที่กรมท่าขวา  ท่านผู้นี้ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุลเลยเช่นกัน
จุฬาราชมนตรี (เชน)
ท่านจุฬาราชมนตรี คนที่ 4 คือ พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นบุตรเจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ) นี้ได้เปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาพุทธ เมื่อคราวเสด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อพระราชดำเนินขึ้นสมโภชพระพุทธบาท แต่พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) ซึ่งเป็นบุตรยังคงนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อยู่มิได้เปลี่ยนศาสนาไปตามบิดาด้วย ท่านจุฬาราชมนตรี (เชน) นี้ได้ว่าทั้งกรมท่ากลางและกองอาสาจาม ได้รับพระราชทานเกียรติยศเสมอเจ้าพระยาพระคลังแต่มิได้ตั้งให้เป็นเจ้าพระยาเท่านั้น
พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) มีบุตรกับคุณหญิงก้อนทอง คนหนึ่งชื่อก้อนแก้ว และได้สืบตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ต่อจากท่านในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คงมีจุฬาราชมนตรี เพียง 4 ท่านเท่านั้นดังได้กล่าวแล้ว
จุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว)
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านจุฬาราชมนตรีท่านแรกคือ พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ว่าที่จุฬาราชมนตรีคนที่ 1 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชื่อทางอิสลามมีชื่อว่า “มูฮำหมัดมะอ์ซูม” ท่านได้เข้ารับราชการมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ โดยถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้าย พ.ศ. 2310 ท่านได้หลบหนีข้าศึกมาได้และถวายตัวรับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็น “หลวงศรีนวรัตน์” 
ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระยาจุฬาราชมนตรี” เป็นคนที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับพระราชทานที่ดินสร้าง “กุฎีเจ้าเซ็น” ขึ้นที่ข้างพระราชวังเดิม เรียกว่า “กุฎีหลวง”
พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ได้สมรสกับคุณหญิงเสมเป็นมุสลิมนิกายซุนนี บุตรท่าน้อยและเป็นหลานพระยาราชวังสัน (หวัง) สายเจ้าพระยาจักรี (หมุด)
เมื่อท่านจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ถึงแก่อนิจกรรม ศพของท่านฝังไว้ ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางกอกใหญ่ หลังพระราชวังเดิม นับได้ว่าท่านเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 5 ของประเทศไทย


เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะแรกของกรุงธนบุรีนั้น ชาวมุสลิมฝ่ายชีอะห์ยังไม่มีศาสนสถานของตนเองต้องไปอาศัยทำพิธีมะหะหร่ำที่มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) อยู่ประมาณสามปี ต่อมาเมื่อได้รับพระราชทานที่ดินได้สร้างกุฎีหลวงที่ข้างวัดอรุณฯ แล้วจึงย้ายไปทำพิธีศาสนสถานใหม่นี้ ตลอดจนบ้านเรือนของชาวมุสลิมชีอะห์ ซึ่งแต่เดิมก็เป็นแพจอดอยู่ในคลองบางหลวงหน้าวัดหงส์รัตนาราม ก็ได้ย้ายไปอยู่ใกล้สถานที่ใหม่ด้วย


พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) นี้ ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นท่านต้องออกรบในฐานะเป็นแม่ทัพเช่นเดียวกับแม่ทัพคนอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นชีวิตของท่านจึงหนักไปในทางการทหารอยู่เป็นส่วนใหญ่ และนับเป็นสิ่งที่บุตรหลานภาคภูมิใจในความดีงาม ของท่านเป็นอย่างยิ่ง
ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุ 82 ปี และศพของท่านก็ได้ฝังไว้ ณ สุสานมัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางหลวงเช่นกัน
ธิดาของท่านพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) กับคุณหญิงเสม ชื่อ หงส์ ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ไม่มีพระโอรสและพระธิดาเลย
จุฬาราชมนตรี (อกาหยี่)
เป็นน้องชายของจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบุทธเลิศหล้านภาลัย
จุฬาราชมนตรี (เถื่อน)
จุฬาราชมนตรี คนที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ หรือคนที่ 6 ของประเทศไทย คือพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว)
ท่านพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) นี้มีประวัติชีวิตพิศดารมาก ท่านเป็นทั้งนักการทหาร นักการทูตและนักการศาสนา ท่านได้แต่งตำรับตำราทางอิสลามนิกายชีอะห์ไว้เป็นอันมาก ตลอดจนท่านบันทึกจดหมายเหตุไว้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของอนุชนเป็นอย่างยิ่ง


เมื่อท่านดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแล้ว ท่านนับได้ว่ามีความรู้ทางศาสนาอิสลามเป็นเยี่ยม เมื่อกรุงแตก พ.ศ. 2310 ท่านอยู่กับมารดาในกรุงศรีอยุธยาถูกพม่ากวาดต้อนไปพร้อมกับมารดาด้วย ท่านต้องตกอยู่ในฐานะเชลย คนไทยต้องตกเป็นทาส ท่านเจ้าคุณขณะนั้นอายุเพียง 13 – 14 ขวบ จึงต้องหนีไปบวชเป็นเณร และในระหว่างที่บวชอยู่นั้น ท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนเวทมนต์คาถาอาคมสารพัดอย่างจากอาจารย์ ซึ่งเป็นภิกษุเขมร จนมีความเชี่ยวชาญเป็นเยี่ยม ซึ่งหนักไปในทางวิชาล่องหน หายตัว และคงกระพันชาตรี
ท่านเถื่อนได้ใช้ชีวิตอยู่ในพม่าถึง 7 ปี จนอายุ 19 ปีเศษ จึงได้หนีกลับมาทางเมืองสอด ท่านได้หนีไปหาบิดาคือ พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่ง “พระศรีเนาวรัตน์” และไปราชการทัพเมื่อไปตีเมืองเชียงใหม่และเชียงแสน


เมื่อกลับมากรุงธนบุรี ท่านบิดาจึงให้ไปเรียนวิชาการทางศาสนาอิสลามเสียใหม่ และพำนักอยู่ที่แพริมคลองบางหลวงกับพวกญาติของท่าน
ต่อมาในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ท่านเถื่อนเป็นหนุ่มฉกรรจ์แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นทหารอยู่ในกรมทหารอาทมาต คือกรมทหารที่มีวิชาอาคมต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) กับได้เป็นมหาดเล็กของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอองค์นั้นด้วยเพราะเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน


ในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเถื่อนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงภักดีสุนทร ได้รับราชการไปตีเมืองถลางและเมืองไทรบุรี เมื่อเสร็จศึกแล้วก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “พระราชเศรษฐี” เมื่อเสร็จศึกเมืองไทรบุรีก็ได้เป็น “พระยาวรเชษฐ์ภักดีศรีวรข่าน” เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา และมีตำแหน่งเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เมื่อพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ถึงแก่อนิจกรรมในตอนต้นรัชกาลที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ปกครองชนชาวอิสลามทั่วราชอาณาจักร
ท่านจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) รับราชการต่อมาจนถึงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อถึงแก่อนิจกรรมศพของท่านฝังไว้ ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางหลวง เคียงข้างหลุมฝังศพของท่านจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) บิดาของท่าน


พระยาวรเชษฐ์ภักดีศรีวรข่าน (เถื่อน) จุฬาราชมนตรีท่านนี้ ท่านมีความรู้ทางวิชาการทางศาสนากว้างขวางมาก เพราะท่านได้ศึกษากับอาจารย์ “ไซยิดอะหมัด” คือท่านเจ้าจอมหลวงพิมลเสนี ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ เป็นชนชาติเปอร์เซีย
ท่านจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) มีชื่อทางอิสลามว่า “อามิรระชามุฮัมมัดการิม” ท่านสมรสกับคุณหญิงนก  มีบุตรธิดาหลายคน บุตรชายคนหนึ่งชื่อ “ท่านนาม” ก็ได้สืบทอดตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่อจากบิดา


จุฬาราชมนตรี (น้อย)
เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (อกาหยี่)  ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จุฬาราชมนตรี (นาม)
ท่านจุฬาราชมนตรีคนที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ หรือคนที่ 7 ของประเทศไทย คือ พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) มีชื่อทางศาสนาว่า “มิรซามุฮัมมัดตะกี” เป็นบุตรของท่านจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาได้ย้ายมาอยู่กรมท่าขวา ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชเศรษฐี


ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระราชเศรษฐีและต่อมาอีก 2 ปีก็ได้เลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี แต่ยังมิได้ว่าที่จุฬาราชมนตรีเพราะบิดายังมีชีวิตอยู่และยังดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีอยู่ด้วย ต่อมาบิดาถึงแก่อนิจกรรมแล้วจึงได้เลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ 3 ในกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ว่าการคลังวิเศษในส่วนราชการต่างประเทศในกรมท่าหลวงและได้กำกับชำระตั่วเฮียชำระฝิ่น


ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เป็นจางวางว่าการคลังพิเศษ คลังในขวาคลังในซ้าย พระคลังในและเจ้าคำนวณ กำกับภาษีร้อยชักสามและโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการพระคลังนอกซึ่งขึ้นอยู่ในกรมท่ากลาง (กรมท่ากลางสมัยนั้นคือกระทรวงการต่างประเทศ) ซึ่งมีเจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ) เป็นเสนาบดี


เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ผู้นี้ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์” ในรัชกาลที่ 3 นับว่าพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) นี้ได้รับราชการเป็นที่วางพระราชหฤทัยมากในด้านความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับมอบหมายงานทั้งด้านการคลัง การต่างประเทศ ตลอดจนการพาณิชย์ นับเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง


เมื่อท่านได้ทำราชการร่วมกับท่านสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สืบสกุลจากท่านเชคอะหมัดด้วยกัน ซึ่งนับเป็นเครือญาติร่วมวงศ์กันมา ถ้าลำดับชั้นกันแล้ว พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) ก็เป็นชั้นหลานของสมเด็จพระยามหาประยูรวงศ์นั่นเอง
พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) ได้มีส่วนช่วยในการปราบปรามการจลาจลในภาคใต้และได้เป็นผู้วางระเบียบการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ และได้เป็นข้าหลวงตรวจการภาคใต้อยู่หลายเดือนจนเหตุการณ์เป็นปกติ


ต่อมาเมื่อปลายแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านพระยาวรเชษฐ์ภักดี ศรีวรข่าน (เถื่อน) ผู้เป็นบิดาถึงแก่อนิจกรรมพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) จึงได้ว่าที่จุฬาราชมนตรีสืบแทนท่านบิดา ทั้งนี้ด้วยการสนับสนุนของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ด้วย
ท่านจุฬาราชมนตรี (นาม) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุได้ 74 ปี ในราวกลางสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ศพของท่านฝังอยู่ ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางหลวงเช่นกัน


จุฬาราชมนตรี (สิน)

จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
ต่อมาพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ผู้เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) ก็ได้สืบตำแหน่งต่อมา ท่านมีชื่อทางอิสลามว่า “มิรซากุลามอุชเซ็น” มารดาของท่านชื่อคุณหญิงกลิ่น เป็นราชินิกุลทางสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ 5 กล่าวคือ ท่านเป็นลูกเรียงพี่เรียงน้องกับพระราชชนนีของในหลวง ดังนั้นพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) จึงอยู่ในราชินิกุลทางฝ่ายพระราชชนนี


เมื่อขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ย้ายมาอยู่กรมท่าขวา สังกัดกรมท่ากลาง คือกระทรวงการต่างประเทศสมัยนั้น ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์เป็นเสนาบดีอยู่


ต่อมาในปลายรัชกาลที่ 4 ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น “หลวงราชเศรษฐี” และระยะหลังนี้ท่านสินได้ศึกษาวิชากฎหมายเพิ่มเติมด้วย จึงเป็นเหตุให้ได้รับราชการในกระทรวงยุติธรรม และได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระราชเศรษฐีเมื่ออายุเพียง 30 ปี


ต่อมาเมื่อได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็นกระทรวง ทบวง กรม ตามแบบอารยะประเทศ และมีการตั้งศาลสถิตยุติธรรมขึ้นกระทรวงยุติธรรม พระราชเศรษฐี (สิน) ก็ได้เลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี และได้เป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งในสมัยนั้นสมเด็จกรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ เป็นเสนาบดี
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ได้รับตำแหน่งจุฬาราชมนตรีปกครองชนชาวมุสลิมทุกนิกายทั่วราชอาณาจักร สำหรับในทางราชการก็เป็นเจ้ากรมกองแสตมป์กระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายประถมาภรณ์มงกุฎไทย และราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าวิเศษชั้นสูงสุด และได้รับพระราชทานพานทองเทียบชั้นเจ้าพระยาพานทอง


พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ทรงโปรดให้ความสนิทสนมชิดเชื้อมากเป็นพิเศษ ในพิธีมะหะหร่ำ ก็ทรงโปรดให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยเสด็จทอดพระเนตรพิธีมะหะหร่ำพร้อมกับข้าราชการและข้าราชบริพาร ทรงแต่งพระองค์ด้วยชุดดำ พระราชินีและพระเจ้าลูกยาเธอ ตลอดจนข้าราชการและข้าราชบริพารที่โดยเสด็จทุกพระองค์และทุกคนต้องแต่งชุดดำทั้งหมด


เมื่อพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ป่วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็คงโปรดให้แพทย์หลวงมาดูและรักษาและโปรดให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพกับพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าทูลกระหม่อมอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ให้เสด็จมาเป็นเจ้าของไข้และมีมหาดเล็กมาจดรายงานการป่วยถวายให้ทรงทราบตลอดทุกระยะ


ท่านจุฬาราชมนตรี (สิน) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุได้ 65 ปี ศพของท่านฝังไว้ ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางหลวง ทรงโปรดให้มีการแห่ศพทางน้ำอย่างสมพระเกียรติยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีฝังศพด้วยพระองค์เอง และโปรดเกล้าฯ ให้แกะไม้สลักเป็นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานปักไว้ ณ หลุมศพด้วย
จุฬาราชมนตรี (สัน  อหะมัดจุฬา)
จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
ท่านจุฬาราชมนตรี คนที่ 5 ของกรุงรัตนโกสินทร์ หรือคนที่ 9 ของประเทศไทย คือ พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน   อะหมัดจุฬา) มีชื่อทางอิสลามว่า “มิรซา อาลีระชา” เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) กับคุณหญิงแพ  เกิดเมื่อ พ.ศ. 2411 ในปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตได้ไปฝึกอบรมอยู่กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ อยู่ ณ บ้านสมเด็จพระยาเพื่อฝึกให้รู้ถึงระบบราชการและระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ซึ่งจะต้องรับราชการสืบไป ท่านสันผู้นี้จึงเป็นที่สนิทสนมและไว้วางใจของสมเด็จเจ้าพระยามาก ทั้งเป็นลูกหลานในวงศ์เชคอะหมัดด้วยกันด้วย


ต่อมาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงราชเศรษฐีสังกัดกรมท่าขวา กระทรวงการต่างประเทศ ครั้นเมื่อกระทรวงยุติธรรมได้ตั้งศาลยุติธรรมในกระทรวงยุติธรรมขึ้น หลวงราชเศรษฐีจึงได้ย้ายมาอยู่กระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งพนักงานดูเงินแล้วเลื่อนขึ้นเป็นจ่าศาลต่างประเทศ เป็นการมาร่วมรับราชการอยู่กับเจ้าคุณบิดา


เมื่อ พ.ศ. 2433 หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากประเทศยุโรป ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระราชเศรษฐี ปลัดกรมท่าขวาโดยตำแหน่ง แต่คงรับราชการอยู่กระทรวงยุติธรรม กรมท่าขวาคือกรมศักดิ์ตามสมัยโบราณราชประเพณีมีหน้าที่ราชการปกครองควบคุมชนชาวอิสลามทั่วราชอาณาจักร
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตเมื่อ 23  ตุลาคม  2453 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเสวยราชสมบัติอีก 2 ปีต่อมา พระราชเศรษฐี (สัน) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) แล้วเลื่อนขึ้นเป็นเจ้ากรมกองแสตมป์ แทนบิดาซึ่งถึงแก่อนิจกรรมด้วย ขณะนั้นเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เป็นเสนาบดี และต่อมาได้รับยศทางฝ่ายพลเรือนเป็น “อำมาตย์เอก” และยศทางเสือป่าเป็น “นายหมวดเอก” สังกัดกองเสือป่ารักษาดินแดน


เมื่อพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) บิดาถึงแก่กรรม ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในกรมศักดิ์ ในกระทรวงการต่างประเทศว่างลงคณะเสนาบดีสภา ซึ่งมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสมัยนั้น เป็นประธานได้ประชุมปรึกษา เห็นสมควรให้พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ว่าที่จุฬาราชมนตรีปกครองชนชาวอิสลามสืบแทนบิดาต่อไปตามโบราณราชประเพณี


พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ทรงเป็นที่ปรึกษาในทางศาสนาอิสลามของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสนพระทัยศึกษาศาสนาทุกศาสนาทุกบ่ายวันเสาร์ซึ่งเป็นเวลานอกราชการที่กระทรวง พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ต้องไปเข้าเฝ้าเป็นประจำและกว่าจะกลับบ้านได้ก็ราว 3 – 4 ทุ่มทุกครั้ง
ในบางครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงชักชวนให้ไปเข้าร่วมในการถวายผ้าพระกฐินพร้อมพระองค์ด้วย และทรงแนะนำให้สมเด็จพระสังฆราชได้รู้จักว่า เป็นหัวหน้าแขกอิสลาม สมเด็จพระสังฆราชกลับทรงชักชวนให้ไปสนทนากับท่านในภายหลัง ปรากฎว่า พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ได้ไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชบ่อยครั้ง และได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางศาสนาแก่กันและกันจนเป็นที่สนิทสนมกัน


ท่านจุฬาราชมนตรี (สัน) ผู้นี้เป็นนักแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลองคนหนึ่ง เคยแต่งกลอนสดให้ชาวชีอะห์ขับร้องกันในพิธีเป็นที่ชื่นชมกันยิ่งนัก
ท่านได้เป็นผู้ขอพระราชทานนามสกุล “อหะมัดจุฬา” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 5 กรกฎาคม 2456 และได้รับพระราชทานเมื่อ 27 กรกฎาคม 2456


เมื่อท่านจุฬาราชมนตรี (สัน) ป่วยนั้นมีบรรดาชาวมุสลิมทุกฝ่ายทั้งฝ่ายชีอะห์และซุนนีมาเยี่ยมเฝ้าไข้ตลอดเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยอาการป่วยของท่านจุฬาราชมนตรีมาก ทรงมีลายพระหัตถ์อวยพรให้หายวันหายคืน และรับสั่งให้สมุห์ราชพิธีมาเยี่ยมรายงานอาการให้ทรงทราบเป็นประจำ
ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2466 เป็นวันที่ 24 เดือนรอมดอน (เดือนถือศิลอด) อายุได้ 57 ปี ศพของท่านถูกนำไปฝัง ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้เสด็จมาเป็นประธานในพิธีฝังศพแทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีผู้คนเจ้านาย ญาติในเครือเชคอะหมัด จุฬา บุนนาค เจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนมากมาย มีพวงหรีดและดอกสดวางเต็มไปหมด และทุกคนล้วนโศกเศร้าต่อการจากไปของท่านจุฬาราชมนตรีเป็นอย่างยิ่ง
จุฬาราชมนตรี (เกษม  อหะมัดจุฬา)
จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
พระยาจุฬาราชมนตรี (เกษม  อะหมัดจุฬา) เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นคนที่ 10 ของประเทศไทย ท่านมีชื่อทางอิสลามว่า “มุฮัมมัดระชา” เป็นบุตรคนที่ 5 ของพระจาจุฬาราชมนตรี (สิน) เป็นน้องต่างมารดากับพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) เจ้าคุณบิดาได้นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สังกัดอยู่ในกรมท่าขวา กระทรวงการต่างประเทศ


ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงย้ายมารับราชการกระทรวงยุติธรรม ในตำแหน่งรองเจ้ากรมกองแสตมป์และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรีเนาวรัตน์ (เกษม)


เมื่อพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ผู้เป็นพี่ถึงแก่อนิจกรรมแล้วจึงได้เลื่อนเป็นเจ้ากรมกองแสตมป์ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีและได้ว่าที่ “จุฬาราชมนตรี” อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย


ท่านจุฬาราชมนตรี (เกษม) ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นเวลา 3ปีเศษ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2469  ศพฝังไว้ ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) เช่นเดียวกับท่านจุฬาราชมนตรีคนก่อน ๆ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
จุฬาราชมนตรี (สอน  อหะมัดจุฬา)
จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
ท่านจุฬาราชมนตรี คนที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์หรือคนที่ 11 ของกรุงสยามคือ พระยาจุฬาราชมนตรี (สอน  อะหมัดจุฬา)  เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) กับคุณหญิงถนอม ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงราชเศรษฐี” รับราชการในกระทรวงมหาดไทย


ในแผ่นดินพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี (สอน) และนับเป็นคนสุดท้ายจากตระกูลเชคอะหมัด ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 350 ปี และต่อเนื่องกันมาตลอดถึง  11 ท่านด้วยกัน


นับว่าสกุลของท่าน เชคอะหมัด นี้ได้บำเพ็ญกรณียกิจรับใช้ชาติบ้านเมืองและศาสนาอิสลามในเมืองไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานเกือบ 4 ศตวรรษทีเดียว
ท่านพระยาจุฬาราชมนตรี (สอน) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. 2479 ศพยังอยู่ ณ มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่) ปากคลองบางหลวงเช่นกัน
จุฬาราชมนตรี (แช่ม   พรหมยงค์)
จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
ครั้นต่อมาในสมัยประชาธิปไตย การแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2488 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และได้กำหนดให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม


ในขณะนั้นมีเหตุการณ์ไม่สงบทาง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายแช่ม  พรหมยงค์ ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สังกัดกรมโฆษณาการในขณะนั้น ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายแช่ม  พรหมยงค์  เป็นจุฬาราชมนตรี ตามข้อกำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว


นายแช่ม  พรหมยงค์  เป็นบุตรท่านอาจารย์มุสตาฟา  พรหมยงค์  ซึ่งเป็นอาจารย์วิชาการทางศาสนาอิสลามอยู่ที่ปากลัด จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนนายแช่ม   พรหมยงค์ เองก็ได้เคยศึกษาวิชาการทางศาสนาอิสลามจากมหาวิทยาลัย อัลอัสฮัร ประเทศอียิปต์ และเป็นสมาชิกคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ด้วย
นับได้ว่า นายแช่ม  พรหมยงค์  เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 12 ของประเทศไทย


นายแช่ม   พรหมยงค์  ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีอยู่เพียง 2 ปี ก็จำต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยไปเพราะเหตุผลทางการเมือง แต่ในช่วงระยะเวลาที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีอยู่ท่านได้ปรับปรุงระบบการบริหารกิจการศาสนาอิสลามไว้เป็นบรรทัดฐาน และยังคงใช้กันมาอยู่จนทุกวันนี้


ทางด้านการปกครองสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นก็ได้ช่วยให้มีผลดีมากขึ้น เหตุการณ์ความวุ่นวายก็ลดตัวลงไปเป็นอันมาก เพราะท่านจุฬาราชมนตรี แช่ม  พรหมยงค์
ท่านเป็นทั้งนักการศาสนาและนักการเมือง พูดภาษาต่างประเทศได้ทั้งภาษาอาหรับ มลายู อังกฤษ ท่านได้เดินทางไป 4 จังหวัดภาคใต้ด้วยตนเองหลายครั้ง และชาวมุสลิมภาคใต้ก็นิยมศรัทธาในตัวท่านมาก


ขณะนี้ท่านยังมีชีวิตอยู่ที่บ้านสวนปากลัด จังหวัดสมุทรปราการอย่างสงบ แม้ร่างกายจะชราภาพมากแล้ว แต่สมองของท่านยังปราดเปรื่องอยู่เป็นอันมาก อายุท่านขณะนี้ 90 ปีเศษแล้ว  นับว่าท่านเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่เป็นมุสลิมนิกายซุนนี และนอกวงศ์ท่านเชคอะหมัด


จุฬาราชมนตรี (ต่วน  สุวรรณศาสน์)

จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
หลังจากท่านจุฬาราชมนตรี แช่ม  พรหมยงค์  ได้ลาออกจากตำแหน่งจุฬาราชมนตรี และเดินทางไปพำนักอยู่ในต่างประเทศแล้ว ราวปี 2490 รัฐบาลขณะนั้นมี จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ได้เชิญประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดมาประชุมเพื่อเสนอตัวบุคคลที่ควรจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจุฬาราชมนตรีต่อไป


ผลปรากฎว่า ท่านอาจารย์ต่วน  สุวรรณศาสน์  อาจารย์สอนวิชาการทางศาสนา โรงเรียนอันยูมันอิสลาม ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนต่อไป รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านอาจารย์ต่วน  สุวรรณศาสน์เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 13 แห่งประเทศไทย


ท่านอาจารย์ต่วน  สุวรรณศาสน์  ชื่อทางภาษาอาหรับว่า ฮัจยีอิสมาแอล  ยะห์ยาวี เกิดในกรุงเทพฯ ศึกษาวิชาการทางศาสนาจากนครมักกะห์ ซาอุดิอารเบีย เป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์มากมายาจำนวนพันทีเดียว และเป็นที่เคารพนับถือของมุสลิมโดยทั่วไป


นับได้ว่าท่านเป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 2 ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี
ท่านดำรงตำแหน่งอยู่ประมาณ 34 ปีเศษ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2525 อายุ 94 ปี ในพิธีฝังศพของท่านที่มัสยิดฮารูน เขตบางรัก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จฯ มาทรงเป็นองค์ประทานแทนพระองค์ด้วย ท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์, รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) คณะรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนชาวไทยมุสลิมและชาวพุทธนับจำนวนพันได้มาร่วมพิธีฝังศพของท่าน ที่มัสยิดฮารูน จนสถานที่สุสานซึ่งกว้างใหญ่หลายไร่ดูเล็กไปมากทีเดียว
จุฬาราชมนตรี  (ประเสริฐ   มะหะหมัด)

จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
หลังจากนั้นเมื่อ พ.ศ. 2524  ทางราชการก็ได้เชิญบรรดาประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดมาประชุมที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อคัดเลือกตัวบุคคลที่จะกราบบังคมทูลให้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อไป
ผลการคัดเลือกได้แก่ นายประเสริฐ   มะหะหมัด  เป็นอาจารย์สอนวิชาการทางศาสนา  สำเร็จการศึกษาจากนครมักกะห์และดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครอยู่ก่อนแล้ว
นายประเสริฐ   มะหะหมัด  ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2524 ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุประมาณ  54 ปี และได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นคนที่ 14 แห่งประเทศไทย เป็นจุฬาราชมนตรีที่มาจากนิกายซุนนีเป็นคนที่ 3
 
จุฬาราชมนตรี (สวาสดิ์   สุมาลยศักดิ์)

จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. 2540 – 2553) โดยได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศและได้รับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เป็นคนแรก
นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ มีชื่อทางศาสนาว่า อะหมัด มะมูด ซัรกอรี เกิดเมื่อ 27 ม.ค. 2459 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรของฮัจญีมะมูด และนางเราะมาห์ สุมาลยศักดิ์ เมื่อเรียนจบสายสามัญได้เรียนต่อทางด้านศาสนากับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านรวมทั้งอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์และอาจารย์มุสตาฟา พรหมยงค์ รวมทั้งได้ไปเรียนศาสนาที่เมืองมักกะหฺ ประเทศซาอุดิอาระเบียด้วย


ในด้านสังคมได้เป็นรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดพระนคร เป็นหัวหน้าคณะธรรมทูตอิสลามของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย นอกจากนั้น ยังเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพฯ 2 สมัยอีกด้วย ได้รับเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2540 ขณะอายุได้ 82 ปีเศษ เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 และเป็นประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยดำรงตำแหน่งถึงปัจจุบัน
จากผลการเลือกตั้งจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ได้แก่  นายอาศิส พิทักษ์คุมพล
จุฬาราชมนตรีในประเทศไทย
เป็นประธานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดสงขลา


นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เกิดเมื่อปี พ.ศ.2490 ที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา จบการศึกษาสายศาสนาจากสถาบันปอเนาะใน อ.จะนะ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี แม้ไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู แต่ที่ผ่านมาได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้ มาหลายกรรมวาระ นอกจากการสนิทแนบแน่นกับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อยก็มีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้น โดยนายอาศิสต้องเข้าไปรับผิดชอบใน ฐานะผู้นำศาสนาประจำจังหวัด และการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง คือ การดำรงตำแหน่งสำคัญในกรรมการอิสระเพื่อ ความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา
ขอขอบคุณภาพประกอบจากวิกิพีเดียและ www.halalscience.org/th



อัพเดทล่าสุด