อาการปวดท้อง (abdominal pain) ที่มีสาเหตุจากอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายในช่องท้อง ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่ตับทางชายโครงขวา ม้ามทางชายโครงซ้าย กระเพาะอาหาร 9 และหลอดอาหารตรงกลาง ต่ำลงไปเป็นตับอ่อน ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ในสตรีมียังมีอวัยวะสืบพันธุ์สตรี
ปวดท้องด้านขวาสาเหตุเกิดโรค ปวดท้องด้านขวาปวดหลัง ปวดท้องด้านขวาใต้ซี่โครง
อาการปวดท้อง
อาการปวดท้อง (abdominal pain) ที่มีสาเหตุจากอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายในช่องท้อง ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่ตับทางชายโครงขวา ม้ามทางชายโครงซ้าย กระเพาะอาหาร 9 และหลอดอาหารตรงกลาง ต่ำลงไปเป็นตับอ่อน ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ในสตรีมียังมีอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องได้ เช่น มดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ ส่วนกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานนั้น ถ้าเกิดการอักเสบ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาปวดท้องได้เช่นกัน
เนื่องจากอาการปวดท้องนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก ตั้งแต่โรคง่ายๆ ที่ไม่มีอันตรายมากนัก เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ โรคกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ อักเสบ หรือปวดประจำเดือน ซึ่งอาจหายได้เอง หรือเมื่อได้รับยาบรรเทาอาการก็จะดีขึ้น ไปจนถึงโรคบางโรค ซึ่งเป็นโรคร้ายแรง ถ้าวินิจฉัยผิดพลาด หรือให้การรักษาไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ แผลในกระเพาะอาหารทะลุ ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตันหรือตีบตัน ท้องนอกมดลูก หรือถุงน้ำของรังไข่แตก เป็นต้น
ดังนั้น การที่ผู้ป่วย หรือผู้ใกล้ชิดที่ดูแลผู้ป่วย สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการปวดท้องได้มากเท่าใด แพทย์ก็จะสามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้และทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ถูกต้อง รวดเร็ว โดยไม่เสียเวลา หรือสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
สาเหตุ อาการปวดท้อง
1. อาการปวดท้องเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาการอาจเป็นแค่ปวดเล็กน้อย หรือปวดมากและรุนแรงมากได้ อาการปวดมักจะไม่จำเพาะเจาะจง เนื่องจากอวัยวะในช่องท้องมีมากมายหลายอย่าง
2. โดยทั่วไปอาการปวดท้องเกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ไส้ติ่งอักเสบ ท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ เป็นต้น
3. สาเหตุที่ทำให้ปวดท้องอาจแบ่งเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง
4. โรคที่คนส่วนใหญ่กลัว ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะการติดเชื้อ และอาการที่เกิดจากการตั้งครรภ์
5. โรคบางอย่างที่อาจต้องนึกถึงด้วย ได้แก่ โรคของหลอดเลือดขนาดใหญ่ในช่องท้อง อาการหัวใจวายเฉียบพลัน ตับและตับอ่อนอักเสบ นิ่วในไต รวมทั้งโรคของลำไส้บางชนิด
6. อาการปวดท้องอาจไม่ได้เกิดจากอวัยวะในช่องท้อง โรคหัวใจและปอดอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องที่รุนแรงได้เช่นกัน
7. ในเพศหญิงต้องนึกถึงสาเหตุจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานด้วย
8. ผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดที่บริเวณท้องจะมีอาการปวดท้องที่รุนแรงโดยที่อวัยวะภายในไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด
9. อาการเป็นพิษบางอย่างทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ เช่น แมลงกัดสัตว์ต่อย
อาการปวดท้อง
1. อาการปวดท้องอาจมีลักษณะปวดเสียด ปวดตื้อๆ ปวดบิด บางครั้งปวดไม่นาน ปวดแค่ไม่กี่นาทีแล้วก็หายปวด หรือปวดท้องชนิดไม่หายเสียที
2. บางครั้งปวดท้องแล้วอาเจียน หลังจากได้อาเจียนอาจรู้สึกดีขึ้นบ้าง
3. ลักษณะของอาการปวดท้องและตำแหน่งที่ปวดช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ เช่นเดียวกับความรุนแรงของอาการปวดท้อง และช่วงเวลาที่เกิดอาการปวดท้อง
4. การบันทึกติดตามอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นภายในเวลา 2-3 วัน ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของอาการต่างๆที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย
5. อาการปวดท้องที่มีสาเหตุจากการอักเสบของไส้ติ่งนั้น มักจะเป็นการปวดเจ็บเฉพาะที่ท้องน้อยข้างขวา แต่อาจเริ่มแถบบริเวณรอบสะดือ อาการปวดอาจเริ่มน้อยๆ ก่อน แล้วเพิ่มความรุนแรงจนตัวงอ บริเวณที่รู้สึกปวดมักมีอาการเจ็บมากขึ้น ถ้าใช้นิ้วกดลงบริเวณนั้น
รายละเอียดที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค
1. ตำแหน่งหรือบริเวณที่เริ่มปวด เช่น บริเวณลิ้นปี่ รอบๆ สะดือ หน้าท้องส่วนบน ใต้ชายโครงขวา หรือซ้าย ท้องน้อยตรงกลาง เหนือหัวเหน่า หรือท้องน้อยขวา หรือซ้าย และเมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดเปลี่ยนหรือ ย้ายที่หรือไม่
2. ปวดท้องมานานเท่าไร ภายในไม่กี่ชั่วโมง 2-3 วัน หรือเป็นเรื้อรังมานาน
3. ลักษณะของอาการปวดเป็นแบบใด ปวดเป็นพักๆ เดี๋ยวปวดมากเดี๋ยวเบาลง หรือปวดตลอดเวลา ไม่มีหยุดพักเลย และปวดแบบแสบร้อน ปวดเหมือนถูกแทง ปวดตื้อๆ หรือปวดถ่วงๆ เป็นต้น
4. อาการปวดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทันทีทันใด หรือค่อยๆ ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนทนไม่ได้จึงมาพบแพทย์
5. มีอาการปวดร้าวไปที่อื่นหรือไม่ เช่น ปวดร้าวไปที่หัวไหล่ขวาหรือซ้าย ร้าวไปหลัง ไปเอว ไปขาหนีบ หรือร้าวไปที่ลูกอัณฑะ
6. มีอาการอื่นที่เกิดร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนท้องผูก ท้องเสีย เป็นไข้ เหงื่อแตก หน้ามืดเป็นลม
7. สาเหตุที่ทำให้ปวดมากขึ้น เช่น อาหาร การถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ การหายใจแรงๆ ไอหรือจาม การเคลื่อนไหว ท่านั่งหรือท่านอน
8. สาเหตุที่ทำให้ปวดน้อยลง เช่น อาเจียนแล้วดีขึ้น การอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวท่านั่งหรือท่านอน การ งอตัว อาหารหรือยาบางชนิดเช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
9. ประวัติการเจ็บป่วย และโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ภูมิแพ้ โรคแผล ในกระเพาะอาหาร นิ่วในถุงน้ำดี เคยได้รับการผ่าตัดในช่องท้องหรือได้รับอุบัติเหตุที่ท้อง
10. ประวัติส่วนตัว ประวัติประจำเดือน การมีเพศสัมพันธ์ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ การออกกำลังกาย งานประจำและงานอดิเรกที่อาจเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย
อาการปวดท้องที่ควรไปพบแพทย์
1. ปวดนานมากกว่า 6 ชั่วโมงแล้วอาการเป็นมากขึ้น
2. ปวดจนทานอาหารไม่ได้
3. ปวดท้องและอาเจียนอย่างมาก มากกว่า 3-4 ครั้ง
4. อาการปวดท้องเป็นมากขึ้นเมื่อขยับตัว
5. ปวดท้องที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา
6. อาการปวดรุนแรงจนทำให้นอนไม่ได้
7. อาการปวดร่วมกับเลือดออกจากช่องคลอด
8. มีไข้ร่วมด้วย
9. หากอาการปวดท้องผิดแผกแตกต่างไปจากปวดท้องธรรมดาๆ ก็ไม่ควรวางใจ ควรพิจารณาไปรับการตรวจเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
ข้อมูลจาก www.bangkokhealth.com
ที่มา www.vachiraphuket.go.th