คําราชาศัพท์หมวดคําสุภาพ คําราชาศัพท์ไทย คําราชาศัพท์และความหมาย


9,183 ผู้ชม


คําราชาศัพท์หมวดคําสุภาพ

การใช้ถ้อยคำสุภาพ
เป็นการเลือกใช้คำให้ถูกต้องเหมาะสม ตามกาลเทศะ และบุคคล คำสุภาพเป็นส่วนหนึ่งของคำราชาศัพท์ กฎเกณฑ์การใช้คำสุภาพ ไม่มีกำหนดตายตัว บางคำ ใช้ในภาษาพูด บางคำใช้ในภาษาเขียน
ลักษณะของถ้อยคำสุภาพ
1. ไม่เป็นคำหยาบหรือคำด่า
2. ไม่เป็นคำผวนที่มีความหมายหยาบคาย
3. ไม่เป็นคำห้วนหรือคำกระด้าง
4. ไม่เป็นคำอุทานที่ไม่แสดงความเคารพ
5. ไม่เป็นคำแสลงหรือคำคะนอง
6. ไม่เป็นคำภาษาต่างประเทศ
แนวการใช้คำสุภาพ
1. เปลี่ยนคำพูดกลาง ๆ เป็นคำสุภาพ เช่น ไม่รู้ เปลี่ยนเป็นไม่ทราบ
2. ใช้คำว่า ครับ หรือ ค่ะ ลงท้ายประโยค
3. เลี่ยงคำพูดที่ผู้ฟังไม่สบายใจ
ตัวอย่าง
ขี้ควาย    ใช้ว่า    มูลควาย
ผักตบ     ใช้ว่า   ผักสามหาว
หมา       ใช้ว่า   สุนัข
สาก        ใช้ว่า   ไม้ตีพริก
การใช้คำราชาศัพท์
เป็นคำที่ใช้เหมาะสมกับระดับชั้นของบุคคล เช่น พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ รวมถึง กลุ่มคำที่ใช้กับพระภิกษุ
คำนามราชาศัพท์
     - พระราชบิดา, พระชนก  หมายถึง พ่อ
     - พระราชมารดา, พระชนนี หมายถึง แม่
     - พระเชษฐา หมายถึง พี่ชาย
     - พระเชษฐภคินี หมายถึง พี่สาว
     - พระราชธิดา หมายถึง ลูกสาว
     - พระราชนัดดา, พระนัดดา หมายถึง หลาน
     - พระเนตร, พระจักษุ หมายถึง ตา
     - พระนาสา, พระนาสิก หมายถึง จมูก
     - พระโอษฐ์  หมายถึง ปาก
     - พระขนง หมายถึง คิ้ว
     - พระเศียร หมายถึง ศีรษะ
     - พระเกศา หมายถึง ผม
     - พระพักตร์  หมายถึง ใบหน้า
     - พระปราง หมายถึง แก้ม
     - พระพาหา หมายถึง แขน
     - พระหัตถ์ หมายถึง มือ
     - พระบาท หมายถึง เท้า
     - ฉลองพระองค์ หมายถึง เสื้อ
คำสรรพนามราชาศัพท์
     - ข้าพระพุทธเจ้า  หมายถึง คำแทนตัวเองเมื่อพูดกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูง
     - ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  หมายถึง คำแทนพระมหากษัตริย์และพระราชินี
     - ใต้ฝ่าละอองพระบาท  หมายถึง คำแทนองค์พระราชินีสยามกุฎราชกุมาร สยามกุฎราชกุมารี
     - พระองค์   หมายถึง ใช้เมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์
     - พระพุทธเจ้า  หมายถึง คำที่ใช้ขานรับเมื่อพูดกับพระมหากษัตริย์
คำกริยาราชาศัพท์
     - ประสูติ  หมายถึง  คลอด
     - ทอดพระเนตร   หมายถึง  มอง
     - ประชวร  หมายถึง  เจ็บป่วย
     - สวรรคต  หมายถึง  ตาย
     - เสวย  หมายถึง  กิน
     - ประทับ  หมายถึง  นั่ง
     - พระราชทาน  หมายถึง  ให้
     - ตรัส  หมายถึง  พูด
     - สรงน้ำ  หมายถึง  อาบน้ำ
     - กริ้ว  หมายถึง  โกรธ
     - โปรด  หมายถึง  รัก ชอบ
การเปลี่ยนคำสามัญเป็นคำราชาศัพท์
1. เปลี่ยนรากศัพท์ เช่น รับประทาน เป็น เสวย
2. เติมคำหน้านามหรือหลังนาม เช่น วังเป็นพระราชวัง   รถ เป็น รถพระที่นั่ง
3. เติมคำว่า ทรง เช่น ทรงงาน ทรงทราบ ทรงเห็น ทรงพระอักษร
คำศัพท์ที่ใช้กับภิกษุ
     - ส่งของให้พระ  ใช้ว่า  ประเคน
     - อาหาร  ใช้ว่า  ภัตตาหาร
     - จดหมาย  ใช้ว่า  ลิขิต
     - กิน  ใช้ว่า  ฉัน
     - นอน  ใช้ว่า  จำวัด
     - อาบน้ำ  ใช้ว่า  สรงน้ำ
     - สวดมนต์  ใช้ว่า  เจริญพระพุทธมนต์
     - เงิน  ใช้ว่า  ปัจจัย
     - ที่อยู่  ใช้ว่า  กุฏิ
     - ที่นั่ง  ใช้ว่า  อาสนะ
     - ป่วย  ใช้ว่า  อาพาธ
     - ตาย  ใช้ว่า  มรณภาพ
การคิดไตร่ตรองก่อนพูดและเขียน
1. พิจารณาบุคคลที่พูดด้วยว่าอยู่ในฐานะใด
2. พิจารณาระดับภาษาที่จะใช้
3. พิจารณาโอกาสและรูปแบบของการสื่อสาร
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ความหมายและความสำคัญของราชาศัพท์
                   พระยาอุปกิตศิลปสาร (๒๕๓๓ : ๑๕๗) ได้ให้ความหมายของราชาศัพท์ว่า “ศัพท์สำหรับพระราชาหรือศัพท์หลวง แต่ในที่นี้ให้หมายความว่าศัพท์ที่ใช้ในราชการ เพราะในตำรานั้นบางคำไม่กล่าวเฉพาะสำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายเท่านั้น กล่าวทั่วไปถึงคำที่ใช้สำหรับบุคคลชั้นอื่น เช่น ขุนนาง และพระสงฆ์ เป็นต้นด้วย”
จากการสันนิษฐานของ ม.ล. ปีย์ มาลากุล (๒๕๒๖ : ๑๗๓ - ๑๗๔) สรุปได้ว่า มูลรากของราชาศัพท์ คือศัพท์ที่จะใช้เมื่อกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ หรือกราบทูลพระราชวงศ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่เคารพสูงสุด ตามธรรมเนียมไทยเมื่อกล่าวถึงพระองค์ หรือแม้แต่คนที่เคารพคารวะก็จะไม่กล่าวพระปรมาภิไธย หรือชื่อตรงๆ ดังนั้นเมื่อจะใช้ศัพท์ในการกราบบังคมทูล หรือกราบทูลจึงใช้ศัพท์ที่แตกต่างไปจากคำที่ใช้อยู่โดยทั่วไป สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นมูลเหตุแห่งราชาศัพท์ ศัพท์ก็ดี ถ้อยคำก็ดี ในชั้นต้นคงมุ่งหมายเพียงให้เป็นถ้อยคำ สำนวนที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ทรงฟังได้ ต่อมาคงเนื่องจากการคลี่คลายของภาษา ราชาศัพท์จึงขยายออกไป มีศัพท์สำหรับใช้กับพระ-ภิกษุ ข้าราชการ และกว้างขวางออกไปจนถึงคำสุภาพ
กล่าวโดยสรุป ราชาศัพท์จึงหมายถึง ถ้อยคำที่ใช้ให้เหมาะสมกับบุคคลในฐานะตำแหน่งต่างๆ กัน ๕ ชั้น ดังนี้
๑. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี
๒. เจ้านาย (พระบรมวงศานุวงศ์)
๓. พระภิกษุ
๔. ข้าราชการ
๕. คำสุภาพสำหรับบุคคลทั่วไป
ราชาศัพท์เป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่สำคัญยิ่งของไทย จึงเป็นเรื่องที่คนไทยควรศึกษาและเรียนรู้ ชาคริต อนันทราวัน (๒๕๓๖ : ๘๗) ได้กล่าวถึงเหตุผลที่คนไทยควรรู้เรื่องราชาศัพท์ สรุปได้ดังนี้
๑. คนไทยยังนิยมนับถือกันตามความลดหลั่นในทางชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ
๒. วัฒนธรรมไทยแต่โบราณ เน้นเรื่องการใช้ถ้อยคำและความประณีตเรียบร้อยในการใช้ภาษาทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง
๓. ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ปกครองมาไม่น้อยกว่า ๗๐๐ ปี และเชื่อว่ากษัตริย์คือเทวสิทธิ์แทนพระเป็นเจ้า
๔. ความสำคัญในการสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษาเพื่อดำรงความเป็นชาติไว้

อัพเดทล่าสุด