คําราชาศัพท์ที่มักใช้ผิด คําราชาศัพท์ หมวดอาหาร คําราชาศัพท์หมวดราชูปโภค
คำราชาศัพท์ที่มักใช้ผิดกันเสมอ
ข้อควรจำเกี่ยวกับคำราชาศัพท์ที่มักใช้ผิดกันเสมอ
๑. “ถวายการต้อนรับ” คำนี้ผิด ภาษาไทยมีคำใช้อยู่แล้ว คือ “เฝ้าฯ รับเสด็จ” หรือ “รับเสด็จ” ๒. “ถวายความจงรักภักดี” ความจงรักภักดีเป็นของที่หยิบยื่นให้กันไม่ได้ เป็นสิ่งที่มีประจำตน แสดงปรากฏให้ทราบได้ ฉะนั้นใช้ “ถวาย” ไม่ได้ จึงควรใช้ “มีความจงรักภักดี” ๓. “อาคันตุกะ” และ ”ราชอาคันตุกะ” ใช้ต่างกันดังนี้ “อาคันตุกะ” ใช้เมื่อ ก. พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ไปทรงเป็นแขกของบุคคลสำคัญ ข. บุคคลสามัญไปเป็นแขกของบุคคลสามัญ “ราชอาคันตุกะ” ใช้เมื่อ ก. พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ไปทรงเป็นแขกของพระมหากษัตริย์ ข. บุคคลสามัญไปเป็นแขกของพระมหากษัตริย์ สรุป คือให้ดูเจ้าของบ้านเป็นหลัก ถ้าเจ้าของบ้านเป็นพระมหากษัตริย์บุคคลทั่วไปที่เป็นแขกไม่ว่าจะเป็น พระมหากษัตริย์หรือบุคคลสามัญเป็น “ราชอาคันตุกะ” ทั้งสิ้น ในทำนองเดียวกัน ถ้าเจ้าของบ้านเป็นบุคคล สามัญ บุคคลที่ไปเป็นแขกไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์หรือบุคคลสามัญเป็น
“อาคันตุกะทั้งสิ้น” ๔. การใช้คำ “ถวาย” มีใช้อยู่สองคำ คือ “ทูลเกล้าฯ ถวาย” และ “น้อมเกล้าฯ ถวาย” ใช้ต่างกันดังนี้ ก. ถ้าสิ่งของนั้นเป้นของเล็กใช้ “ทูลเกล้าฯ” ข. ถ้าสิ่งของนั้นเป็นของใหญ่ใช้ “น้อมเกล้าฯ ถวาย” หรือ “ถวาย” เฉยๆ ๕. คำว่า “ขอบใจ” ถ้าจะกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขอบใจ ก็ใช้ว่า “ทรงขอบใจ” หรือ “พระราชทานกระแสขอบใจ” ไม่ใช้ “ขอบพระทัย” เว้นแต่ผู้ที่ทรงขอบใจนั้นเป็นพระราชวงศ์จึงใช้ “ขอบพระทัย”ได้๖. เมื่อกล่าวถึงการแสดงใด ๆ ถวายทอดพระเนตร มักจะใช้ว่า “แสดงหน้าพระพักตร์” หรือ “แสดงหน้าพระที่นั่ง” ซึ่งผิด ต้องใช้ว่า “แสดงเฉพาะพระพักตร์” หรือ “แสดงหน้าที่นั่ง” ๗. ถ้ามีผู้ถวายสิ่งของ เช่น หมวก ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ ขณะที่ถวายนั้นต้องใช้คำสามัญจะใช้คำราชาศัพท์มิได้ เพราะสิ่งของนั้นยังมิได้เป็นของพระองค์ท่าน เช่น – เจ้าของร้านทูลเกล้าฯ ถวายหมวกแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี – ผู้แทนนักศึกษาทูลเกล้าฯ ถวายผ้าเช็ดหน้าแด่สมเด็จพระเทพฯ ๘. หมายกำหนดการ หมายถึง หมายรับคำสั่งที่ทางสำนักพระราชวังแจ้งกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปยัง หน่วยราชการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ใช้เฉพาะกับงานพระราชพิธีเท่านั้น ถ้าเป็นกิจการทั่วๆไปของ สามัญชนใช้ว่า กำหนดการ เช่น กำหนดการเดินทาง กำหนดการสัมมนา เป็นต้น ๙. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คำที่เรียกพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินมีหลายคำ ปัจจุบันใช่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ถ้าได้ สำเร็จราชการแผ่นดินก็เป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่ใส่ “ ฯ ” ไว้ท้ายคำ “สมเด็จพระนางเจ้า” นั้นเพื่อให้ทราบว่าละพระนามไว้ ถ้าออกพระนามเต็มก็วางไว้ แทนที่ “ ฯ ” เช่น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ถ้าเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์ประเทศอื่นให้เรียก สมเด็จพระราชินี ถ้าประเทศใดมีสตรีเป็นกษัตริย์ให้ใช้ว่า “สมเด็จพระราชินีนาถ”
๑๐. พระบรมสาทิสลักษณ์ หรือ พระบรมฉายาทิสลักษณ์ คือ ภาพเหมือนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง เป็นภาพวาดมิใช่ภาพถ่าย ถ้าภาพถ่ายใช้ พระบรมฉายาลักษณ์
คำราชาศัพท์ที่มักใช้ผิด
ราชาศัพท์
ความหมายของราชาศัพท์
ตามรูปศัพท์ ราชาศัพท์ หมายถึง ถ้อยคำที่ใช้กับพระราชาหรือศัพท์หลวง
ตามหลักภาษาไทย ราชาศัพท์ หมายถึง ศัพท์หรือถ้อยคำเฉพาะที่บุคคลทั่วไปใช้แก่บุคคลที่ควรเคารพ พระราชา พระราชวงศ์ พระภิกษุ ข้าราชการ รวมถึงคำสุภาพที่ใช้สื่อสารกันทั่วไป
วิธีใช้ราชาศัพท์ที่ควรสังเกต
๑. การใช้ “ทรง”
๑.๑ ใช้ทรงนำหน้ากริยาสามัญบางคำ ให้เป็นกริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงเจิม ทรงเล่น ทรงออกกำลัง ทรงใช้ ทรงวิ่ง เป็นต้น
๑.๒ ใช้ทรงนำหน้าคำนามสามัญบางคำ ให้เป็นกริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงดนตรี (เล่นดนตรี) ทรงช้าง (ขี่ช้าง) ทรงเครื่อง (แต่งตัว) ทรงรถ (นั่งรถ) เป็นต้น
๑.๓ ใช้ทรงนำหน้าคำนามราชาศัพท์ ให้เป็นกริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงพระอักษร (เขียน, อ่านหนังสือ) ทรงพระดำเนิน (เดิน) ทรงพระราชนิพนธ์ (แต่งหนังสือ) ทรงพระราชดำริ (คิด) เป็นต้น
คำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่ใช้ทรงนำหน้า เช่น เสด็จ (ไป) เสวย (กิน) โปรด (ชอบใจ) ไม่ใช้ ทรงเสด็จ ทรงเสวย ทรงโปรด เป็นต้น
๒. การใช้คำ “พระบรม” “พระราช” “พระ”
๒.๑ “พระบรม” ใช้เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น เช่น พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุเคราะห์ พระบรมราชโองการ เป็นต้น
๒.๒ “พระราช” ใช้นำหน้าคำนาม แสดงว่าคำนามนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เช่น พระราชานุญาต พระราชวโรกาส พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ เป็นต้น
๒.๓ “พระ” ใช้นำหน้าคำนามที่เป็นอวัยวะ ของใช้ เช่น พระชานุ (เข่า) พระขนน (หมอนอิง) พระสนับเพลา (กางเกง) เป็นต้น
๓. คำกราบบังคมทูลในลักษณะต่างๆ
- การกราบบังคมทูลตามธรรมดา อาทิ มีกระแสพระราชดำรัสถามว่า ชื่ออะไร ก็กราบบังคมทูลเพียงแต่ว่า ข้าพระพุทธเจ้า ชื่อ…. พระพุทธเจ้าข้า
- ถ้ากราบบังคมทูลถึงความสะดวกสบายหรือรอดพ้นอันตรายของตนใช้ขึ้นต้นว่า เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม แล้วจึงกราบบังคมทูลต่อไป
- ถ้าจะกราบบังคมทูลถึงการที่ได้ทำผิดพลาดหรือไม่สมควร ใช้คำนำว่า พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อม
- ถ้าจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา ใช้คำว่า ขอพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม
- ถ้ากราบบังคมทูลเป็นกลางๆ เพื่อจะได้ทรงเลือกให้ลงท้ายว่า การจะควรมิควรประการใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
- ถ้ากราบบังคมทูลความเห็นของตนใช้คำว่า เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
- ถ้ากราบบังคมทูลถึงการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดถวายใช้คำว่า สนองพระมหากรุณาธิคุณ
- ถ้าจะแสดงการใดๆ ถวายทอดพระเนตร ใช้คำว่า แสดงเฉพาะพระพักตร์ หรือ แสดงหน้าพระที่นั่ง
ข้อสังเกตบางประการในการใช้ราชาศัพท์
คำที่เป็นราชาศัพท์ ถ้าเป็นคำนามมักมีคำว่า พระ หรือ พระราช นำหน้า เช่น
พระองค์ พระพักตร์ พระเนตร พระบาท
พระราชทรัพย์ พระราชวินิจฉัย พระราชโทรเลข
ถ้าเป็นคำกริยา มักมีคำว่า ทรง ทรงพระ หรือ ทรงพระราช นำหน้า เช่น
ทรงยืน ทรงทักทาย ทรงเรือใบ ทรงม้า
ทรงพระสรวล ทรงพระดำริ ทรงพระอักษร
ทรงพระราชนิพนธ์ ทรงพระราชปรารภ ทรงพระราชวินิจฉัย
คำบางคำเป็นกริยาราชาศัพท์อยู่แล้วไม่ต้องมี ทรง ทรงพระ หรือ ทรงพระราช นำหน้า เช่น
เสวย (กิน) บรรทม(นอน)
โปรด(ชอบ,รัก) พระราชทาน(ให้)
เสด็จพระราชดำเนิน(เดินทางไป) เสด็จขึ้น(ขึ้น)
อ้างอิงhttps://www.jd.in.th/e_learning/th41102/pan08/htm/lajasab.htm