หัวใจเต้นผิดปกติ มัจจุราชเงียบที่ทุกคนต้องระวัง 


1,583 ผู้ชม

โรคหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นโรคที่น้อยคนนักจะรู้จักและรู้ว่าตนเองเป็น แต่มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นและเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้จำนวนมาก


 

 

โรคหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นโรคที่น้อยคนนักจะรู้จักและรู้ว่าตนเองเป็น แต่มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นและเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้จำนวนมาก ซึ่งความผิดปกติจะมี 2 กรณีคือ อาจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นช้าผิดปกติ อาการบ่งบอกที่สำคัญ คือ ถ้าผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ มาจากการที่ร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ถ้าเป็นน้อยก็มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการเหนื่อยแม้ในขณะพัก ถ้าเต้นช้าขั้นรุนแรงจะมีอาการหน้ามืด หรือหมดสติหรือเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้น 


ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แรง และเหนื่อย ในผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุหรือหัวใจอ่อนกำลังอยู่แล้ว อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ 


อาการใจสั่น เป็นอาการที่พบบ่อยในประชาชนทั่วไปเราจะรู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงหรือเต้นเร็ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากจังหวะของหัวใจที่เต้นผิดปกติ หรืออัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือทั้งสองประการร่วมกัน บางรายอาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม ในรายที่รุนแรงอาจเป็นลมหมดสติ ทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้ ซึ่งนับว่าอันตรายมาก เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อเกิดอาการบ่งชี้ มักไม่ใส่ใจเพราะเชื่อว่าร่างกายตนเองนั้นแข็งแรง และคิดว่าอาการใจสั่น อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือขาดน้ำ แต่ไม่เคยทราบว่าอาจเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติได้ และอาจจะปล่อยจนอาการกำเริบหนักและเสียชีวิตไปในที่สุด 


สาเหตุของหัวใจเต้นผิดปกติแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 
1.ความผิดปกติภายนอกหัวใจ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นกรด ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ การใช้ยาลดความดันบางชนิดก็มีฤทธิ์ในการลดอัตราการเต้นของหัวใจในขนาดมากเกินไปทำให้หัวใจเต้นช้า ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากภายนอกหัวใจ วิธีการรักษาจึงมุ่งไปที่การรักษาที่สาเหตุ 
2.ความผิดปกติที่เกิดจากหัวใจเอง 
- ความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจโดยที่ไม่มีความผิดปกติของหัวใจชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมของไฟฟ้าหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติชนิดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น โรคไหลตาย เป็นต้น หรืออาจเป็นอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเนื่องจากไฟฟ้าในหัวใจลัดวงจรชนิด Wolff-Pakinson White Syndrome การรักษาในกลุ่มนี้มุ่งไปที่การรักษาความผิดปกติของไฟฟ้าในหัวใจเท่านั้น 


- ความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจโดยที่มีความผิดปกติของหัวใจส่วนอื่นร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นผิดปกติร่วมกับภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน การรักษาในกลุ่มนี้ต้องมุ่งรักษาทั้งความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจ ร่วมกับความผิดปกติชนิดอื่นของหัวใจร่วมด้วยจึงจะได้ผลดี 
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลรามคำแหง ได้จัดเสวนาให้ประชาชนเข้าฟังและตรวจสุขภาพที่สวนลุมพินี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 500 คน ซึ่งสาระที่น่าสนใจ คือ วิธีการนำคลื่นวิทยุมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย สามารถรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะเกือบทุกชนิดให้หายขาดได้โดยไม่ต้องทานยาตลอดชีวิต การรักษาด้วยวิธีการนี้เป็นการรักษาคล้ายการผ่าตัดเล็ก เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2-3 วัน ค่าใช้จ่ายประมาณ 250,000 บาท แต่ต้องทำในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ และต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งในโรงพยาบาลรัฐบาล มีหลายแห่งที่รักษาด้วยวิธีนี้ แต่โรงพยาบาลรามคำแหงนับว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่รักษา 
การรักษาด้วยวิธีการจี้ เพื่อให้หายขาดและไม่ต้องทานยา ด้วยการใช้คลื่นวิทยุ (Radiofrequency Ablation) เป็นวิธีการรักษาแนวใหม่ที่ได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะเกือบทุกชนิดให้หายขาดได้โดยไม่ต้องทานยา 
ในอดีตการรักษาด้วยวิธีการนี้จะใช้เฉพาะในรายที่รักษาด้วยการให้ยาแล้วไม่ได้ผล หรือได้ผลดีแต่มีผลข้างเคียง จากการรักษาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากได้ผลดี หายขาด มีภาวะแทรกซ้อนต่ำ 
การรักษาด้วยวิธีการนี้มีข้อจำกัดคือ เป็นการรักษาคล้ายการผ่าตัดเล็ก จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2-3 วัน ค่าใช้จ่ายสูงและต้องทำในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ และต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความคุ้มของการรักษาด้วยวิธีนี้ในระยะยาวเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยา 

 หัวใจเต้นผิดปกติ มัจจุราชเงียบที่ทุกคนต้องระวัง 


อุษาวดี แน่นอุดร อายุ 30 ปี หนึ่งในผู้ป่วยที่รักษาด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติมาเกือบ 17 ปี โดยอาการทั่วๆ ไป คือ หน้ามืด ใจสั่น และมือชา เคยเข้ารับการรักษามาหลายครั้งแต่ไม่หายขาด และคิดว่าจะต้องทนกับอาการดังกล่าวไปตลอดชีวิต จนกระทั่งวันหนึ่งคนไข้รายนี้เกิดอาการท้องร่วงเนื่องจากอาหารเป็นพิษ จึงไปกระตุ้นให้โรคหัวใจเต้นผิดปกติคุกคามอย่างรุนแรงจนเกือบจะคร่าชีวิตเธอ โดยเต้นเร็วประมาณ 160 ครั้งต่อนาที ติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมง ทำให้เกิดอาการช็อก เกือบเสียชีวิต แต่ว่าเป็นโชคดีของเธออย่างมาก ที่ทางโรงพยาบาลได้ติดตั้งเครื่องมือช่วยรักษาอาการโรคหัวใจเต้นผิดปกต�]ด้วยคลื่นวิทยุ เธอจึงได้รับการรักษา ซึ่งนับเป็นปาฏิหาริย์ที่เหลือเชื่อกับจังหวะและเวลา การเกิดอาการของเธอ ซึ่งอาการรุนแรงจนเกือบคร่าชีวิตเธอได้ แต่โชคของเธอทำให้อาการกำเริบในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อม ซึ่งหากเกิดในสถานที่หรือเวลาอื่น เธออาจไม่มีชีวิตอยู่อย่างปัจจุบันนี้แน่ นับเป็นนาทีชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างถูกที่ถูกเวลา อาการทนทุกข์ทรมานของเธอที่เป็นมาเกือบ 17 ปี หายไปในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง 


คนไข้รายนี้ไม่รู้ตัวเลยว่าหัวใจตัวเองเต้นผิดปกติ เพราะหัวใจจะเต้นอยู่ในทรวงอกตลอด 24 ชั่วโมง มันจะมีศูนย์ควบคุมการเต้นของหัวใจที่เรียกว่า SA node จะเป็นตัวกำหนดอัตราความเร็วและจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งในคนปกติความเร็วของหัวใจ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่เราทำ เช่น นั่ง 60-100 ครั้งต่อนาที เดิน 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป แต่จังหวะการเต้นต้องสม่ำเสมอแน่นอน จะไม่มีโอกาสเต้นเร็ว หรือเต้น ยกเว้นศูนย์ควบคุมการเต้นมันป่วย เริ่มทำงานไม่ไหว ก็จะปล่อยไฟฟ้าแบบติดๆ ขัดๆ ออกบ้างไม่ออกบ้าง เพียงแต่ผู้ป่วยรายนี้อายุยังน้อย แต่ว่าเธอมีจุดอยู่จุดหนึ่งในหัวใจที่ปล่อยกระแสไฟฟ้า มาเต้นแข่งกับศูนย์ควบคุมปกติของร่างกาย คนไข้ก็มีอายุเกือบ 17 ปี แล้วอาการของเธอทำให้เธอมีชีวิตประจำวันที่ไม่เหมือนคนอื่น ทำงานหนักไม่ได้ รีบเร่งก็ไม่ได้ จะหน้ามืดอยู่บ่อยๆ แล้วต้องหยุดพัก 


คนไข้บอกว่ามีโรคนี้อยู่ก่อนแล้ว แต่เนื่องจากคิดว่าคงต้องยอมรับชะตากรรมว่ารักษาไม่ได้ ต้องพยายามอยู่กับโรคนี้ให้ได้ ตอนที่เข้ามาพบคุณหมอคนไข้คนนี้ถ้าพูดแล้วถือเป็นโชคดีของเธอที่เธอมาด้วยอาการท้องร่วง ถ้าเป็นท้องร่วงธรรมดาก็คงรักษาได้ไม่ยาก แต่ในรายนี้อาการท้องร่วงมันกระตุ้นในหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้น และเต้นค่อนข้างเร็วประมาณ 160 ครั้งต่อนาที ติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นเร็ว แล้วมีความดันตกจนต้องถูกย้ายเข้าแผนกโรคหัวใจ และขณะที่อยู่แผนกโรคหัวใจจากการตรวจสอบการเต้นของหัวใจก็พบว่ามีหัวใจเต้นรวนค่อนข้างจะมาก มีทั้งหัวใจชนิดเต้นผิดจังหวะ เรียกว่า PVC และ PVC วิ่งต่อเนื่องกัน เรียกว่า VT ตลอดเวลา จนต้องได้รับการช็อกหัวใจ [/b] PVC คือ จุดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าทีละตัว ตัวเดียวเดี่ยวๆ มันจะส่งผลให้หัวใจกระโดด คนไข้จะรู้สึกเหมือนตกจากที่สูง เพราะว่ามันเต้นไม่สม่ำเสมอ จนตัวคนไข้เองรู้สึกได้เลย แต่ถ้า PVC เกิดมาเรียงต่อกันเป็นแถว เรียกว่า VT อันนั้นจะน่ากลัวมากขึ้นไปอีก เพราะว่ามันจะทำให้หัวใจบีบตัวอ่อนกำลังไปเยอะ ความดันก็จะตกในคนไข้ที่มีอายุมากๆ อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ก็เสียชีวิตฉับพลัน แต่ในรายที่อายุน้อยๆ มักจะทนได้พอสมควร ทีนี้ตอนที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลคนไข้ก็จะมีอาการตลอด คุณหมอเจ้าของไข้ก็จะให้ยาเพื่อกดการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจเอาไว้ แต่ยากดพวกนี้เป็นยาที่เข้าทางน้ำเกลือ จึงจะกดไดแค่ชั่วคราว พอยาหมดฤทธิ์ก็จะมีอาการอีก และถ้ารับยาในระยะยาวก็ต้องรับตลอด ซึ่งก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100% 
หมั่นดูแลหัวใจของคุณและคนรักให้ดีก่อนที่จะหยุดเต้น

แหล่งที่มา : kaweeclub.com

อัพเดทล่าสุด