เมื่อใดใช้คำว่า ทรง และไม่ใช้คำว่า ทรง ในราชาศัพท์


946 ผู้ชม



คำว่า ทรง ซึ่งเป็นคำที่เราชาวไทยพบกันมากทั้งการฟังข่าว การอ่านจากหนังสือพิมพ์ แต่เราไม่ทราบว่า คำว่า ทรง ที่ใช้กันอยู่ถูกต้องหรือไม่   

เมื่อใดใช้คำว่า "ทรง" และไม่ใช้คำว่า "ทรง" ในราชาศัพท์

1.   บทนำ    "ในหลวง” ทรงให้แพทย์อ่อนน้อมถ่อมตน ศิริราช-กสพท.จัดประชุม
                     วิชาการ นัดถกมาตรฐานบัณฑิตหมอ
                      แหล่งที่มา  : ไทยรัฐออนไลน์วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2554

2.   ประเด็นข่าว
                     จากประเด็นข่าวอ่านพบคำราชาศัพท์คำว่า  ทรง  ซึ่งเป็นคำที่เรา
                     ชาวไทยพบกันมากทั้งการฟังข่าว  การอ่านจากหนังสือพิมพ์ 
                     แต่เราไม่ทราบว่า คำว่า  ทรง  ที่ใช้กันอยู่ถูกต้องหรือไม่
3.   เนื้อหา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
                     มาตรฐานการเรียนรู้ที่ ท 4.1 เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษา  
                    การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญา  ทางภาษา
                    และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ
4.    เนื้อเรื่อง   จากข้อความ  "ในหลวง” ทรงให้แพทย์อ่อนน้อมถ่อมตน ศิริราช-กสพท.จัดประชุม
                     วิชาการ นัดถกมาตรฐานบัณฑิตหมอ........หลายคนอาจจะทราบว่า คำว่าทรง
                     ซึ่งเป็นคำราชาศัพท์จะนำไปใช้ได้อย่างไรบ้าง  ลองศึกษาดูค่ะ
                     คำราชาศัพท์ถ้าแปลตามรูปศัพท์ หมายถึง ศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ 
                     คำราชาศัพท์ใช้กับพระมหากษัตริย์ เจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์ 
                     พระสงฆ์และคนสุภาพ ราชาศัพท์เป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่ชาวไทยใช้สื่อสาร
                     กับบุคคลดังกล่าวด้วยความเชื่อและการยกย่องมาแต่โบราณกาล 
                      (ที่มา : https://www.panyathai.or.th/wiki/index.ph )
                     การใช้คำว่า "ทรง" ในการใช้ราชาศัพท์ที่ผิดไปจากแบบแผน นับวันจะปรากฏ
                    ให้เห็นทางสื่อมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ 
                    สร้างความเข้าใจผิดในการใช้ราชาศัพท์ต่อ ๆ กันไปเพราะเข้าใจว่าการใช้ภาษา
                    ที่สื่อนำเสนอนั้นเป็นการใช้ภาษา ที่ถูกต้อง 
                    การใช้คำว่า "ทรง" ผิดแบบแผนการใช้ราชาศัพท์มักเกิดจากเติมคำว่า "ทรง" 
                    หน้าคำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว คำที่พบเห็นการใช้ผิดอยู่เป็นประจำก็คือใช้ว่า
                    ทรงเสด็จ, ทรงเสด็จพระราชดำเนิน, ทรงพระราชทาน, ทรงทอดพระเนตร 
                    ซึ่งคำที่ถูกต้องคือ เสด็จ, เสด็จพระราชดำเนิน, พระราชทาน, ทอดพระเนตร 
                    โดยไม่ต้องมีคำว่า "ทรง" นำหน้าคำเหล่านี้เพราะเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว              
                     อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า "ทรง" ที่นำหน้าราชาศัพท์ได้โดยไม่ผิดแบบแผน
                     ก็มีหากใช้คำว่า “ทรง” นำหน้าคำนามราชาศัพท์เพื่อสร้างคำกริยาราชาศัพท์ เช่น 
                     ทรงพระกรุณา (ทรง + พระกรุณา) ทรงพระผนวช (ทรง + พระผนวช) ทรงพระราชดำริ 
                     (ทรง + พระราชดำริ) ทรงพระประชวร (ทรง + พระประชวร) ทรงพระดำเนิน (ทรง + พระดำเนิน) ฯลฯ
                     แต่ถ้าคำนามราชาศัพท์มีคำกริยาอยู่หน้าคำแล้ว เช่น มีพระราชดำริ (มี + พระราชดำริ) 
                   ไม่ใช้ว่า ทรงมีพระราชดำริ  แต่ใช้ว่า ทรงพระราชดำริ ได้ (ทรง + พระราชดำริ)
                    มีพระราชประสงค์ (มี + พระราชประสงค์) ไม่ใช้ว่า ทรงมีพระราชประสงค์
                    เป็นพระราชโอรส (เป็น + พระราชโอรส) ไม่ใช้ว่า ทรงเป็นพระราชโอรส
                    ทั้งนี้ คำว่า "ทรง" ยังมีความหมายขึ้นอยู่กับคำนามราชาศัพท์ที่ตามท้าย เช่น 
                    ทรงพระราชยาน (ทรง = นั่ง) ทรงช้าง, ทรงม้า (ทรง = นั่ง, ขี่) ทรงพระโอสถมวน
                    (ทรง = ดูด, สูบ) ทรงธรรม (ทรง = ฟัง) ทรงศีล (ทรง = รับ) ทรงกีฬา (ทรง = เล่น) 
                    ทรงงาน (ทรง = ทำ) ทรงบาตร (ทรง = ตัก)
                   นอกจากเรื่องการใช้คำว่า "ทรง" ว่าเมื่อใดใช้เมื่อใดไม่ใช้ ยังมีราชาศัพท์คำอื่น ๆ 
                   อีกมากที่จะต้องอธิบายหรือชี้แจงเพื่อความเข้าใจ และเพื่อให้ใช้กันได้อย่างถูกต้องต่อไป.
                        (ที่มา :   https://www.iqraforum.com/forum/index.php?topic=75.0)

5.    ประเด็นคำถาม 
       แบ่งกลุ่มนักเรียนและปฏิบัติกิจกรรมดังนี้      
        กลุ่มที่ 1   ให้นักเรียนรวบรวมคำราชาศัพท์ที่ใช้คำว่าทรง ที่พบจากการอ่าน การฟังข่าว
                         และนำมาแยกแยะว่าคำไหนใช้ถูก หรือผิด พร้อมอธิบายเหตุผล จากความรู้การใช้คำว่าทรง
       กลุ่มที่ 2    ให้นักเรียนรวบรวมคำราชาศัพท์ คำอื่นๆ   พร้อมทั้งแสดงความหมาย   รายงานเพื่อแบ่งปันความรู้
                         ( การจัดกิจกรรมอยู่ในดุลพินิจของครูผู้สอน)
6.     กิจกรรมเสนอแนะ
         นำผลงานติดแสดงป้ายนิเทศน์เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่นักเรียนชั้นอื่นๆ
7.      การบูรณาการ
         บูรณาการกับสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา   
         เรื่องการอธิบายแสดงความคิดเห็น และฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม   การแบ่งปันความรู้
         การฝึกระดมความคิด  ฝึกการยอมรับการเปรียบเทียบทางเหตุ ผลและการอ้างอิง
8.    แหล่งอ้างอิง  :  ไทยรัฐออนไลน์วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2554
                             : https://www.iqraforum.com/forum/index.php?topic=75.0
                             :https://billboss.jalbum.net/cartoon/
                             :
  https://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4199

อัพเดทล่าสุด