วิทยาศาสตร์ การแพทย์ ไคติน แผ่นห้ามเลือด สกัดจากเปลือกกุ้ง


2,011 ผู้ชม


เภสัชฯ มช.เตรียมส่งต่องานวิจัยฟองน้ำเปลือกกุ้ง ให้โรงงานเภสัชกรรมทหารนำร่องใช้ห้ามเลือดจากแผลสดขนาดใหญ่ในพื้นที่เสี่ยงภัย

รศ.ภก.ภูริวัฒน์ ลี้สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ทีมงานประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาตำรับแผ่นปิดแผลห้ามเลือดจากไคโตแซน

และได้ทดสอบโดยโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ในอาสาสมัครผู้ป่วยผ่าตัดและแผลสดจากอุบัติเหตุ แผลจากสะเก็ดระเบิดและแผลจากถูกยิง ผลทดลองพบดูดซับเลือดและยึดติดผิวหนังได้ดี เทียบเท่าฟองน้ำห้ามเลือดนำเข้า คาดว่าจะสามารถใช้งานทดแทนกันได้ในอนาคต

ฟองน้ำห้ามเลือดที่พัฒนามาจาก "ไคโตแซน" สารสกัดจากเปลือกกุ้ง เหมาะสำหรับห้ามเลือดจากแผลสดขนาดใหญ่ที่เลือดออกมาก ทั้งถูกของมีคม อาวุธสงครามตลอดจนแผลจากอุบัติเหตุทันด่วน

ราคาต้นทุนอยู่ที่ 40-50 บาทต่อขนาดฟองน้ำ 5x5 นิ้ว ส่วนฟองน้ำห้ามเลือดนำเข้าที่ขนาดเท่ากัน ราคาขายอยู่ที่ 100 ดอลลาร์หรือประมาณ 3,500 บาท ขณะที่ประสิทธิภาพไม่แตกต่าง ทั้งยังตัดปัญหาระเบียบการสั่งซื้อที่ยุ่งยาก เนื่องจากเป็นวัสดุเภสัชภัณฑ์

กลุ่มเป้าหมายสำหรับฟองน้ำห้ามเลือด ในระยะแรกจะเน้นผลิตเพื่อใช้ในหน่วยงานราชการ เช่น โรงพยาบาลรัฐ หน่วยงานเสี่ยงภัยตามแนวชายแดนและหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น โดยนำร่องส่งต่องานวิจัยให้โรงงานเภสัชกรรมทหาร ผลิตและส่งมอบให้ทหารในพื้นที่ชายแดนไว้ใช้งานแล้ว 10,000 แผ่น

อย่างไรก็ตาม ทีมงานอยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตรฟองน้ำห้ามเลือดจากไคโตแซน หลังจากนั้นจะเผยแพร่เทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน เพื่อนำไปต่อยอดสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรมต่อไป

นอกจากนี้ทีมงานยังเตรียมพัฒนาเพิ่มความยืดหยุ่น ให้สามารถบิด โค้ง งอ ได้อิสระ เพื่อความสะดวกใช้งาน รวมทั้งพัฒนาสูตรฟองน้ำห้ามเลือด จากการผสมกันระหว่างไคโตแซน ซึ่งได้จากแกนปลาหมึกกับไคโตแซนจากเปลือกกุ้งด้วย

หากโครงการวิจัยและพัฒนาตำรับแผ่นปิดแผลห้ามเลือดจากไคโตแซนแล้วเสร็จ จะทำให้วงการแพทย์ไทยยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีเภสัชภัณฑ์จากต่างชาติที่ราคาแพง ทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมได้เกือบ 100 เท่าด้วย
ที่มา https://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=448

อัพเดทล่าสุด