การตั้งครรภ์เดือนที่ 1


1,707 ผู้ชม

เมื่อการตั้งครรภ์เดือนที่ 1 ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการอย่างไร และร่างกายของแม่ตั้งครรภ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ควรดูแลตัวเองอย่างไรให้เหมาะสมเพื่อครรภ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์


การตั้งครรภ์ เดือนที่ 1


pregnancy_momypedia
การเปลี่ยนแปลงของแม่
เมื่อคุณแม่ประจำเดือนขาดไป 2 สัปดาห์ และถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์จะนับเป็น 6 สัปดาห์จากวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย หรือ 4 สัปดาห์นับจากวันปฏิสนธิ คุณแม่สามารถตรวจสอบการตั้งครรภ์ โดยการปัสสาวะจาดชุดทดสอบสำเร็จรูปหรือจากคุณหมอ ถ้าได้ผลบวกคุณแม่มั่นใจว่าตั้งครรภ์แน่นอนและอย่าลืมไปฝากครรภ์

        • ร่างกาย ระยะนี้คุณแม่สังเกตได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นคล้ายก่อนมีประจำเดือน แต่มีอาการมากขึ้นกว่าปกติ เช่น เจ็บตึงเต้านม ปัสสาวะบ่อย และจะเริ่มสังเกตเห็นเส้นเลือดดำเป็นริ้วสีเขียวบางๆ บริเวณผิวหนังของเต้านม คุณแม่บางคนมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอน
        • ปากมดลูก ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นมากจะทำให้เกิดมูกข้นเหนียวปิดช่องปากมดลูกไว้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากช่องคลอดและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าไปถึงตัวลูกตลอดระยะการตั้งครรภ์ เมื่อถึงระยะคลอด ปากมดลูกจะนุ่มบางลงและเริ่มเปิด มูกข้นเหนียวก็จะหลุดออกมาพร้อมกับมีเลือดปนเป็นริ้วบางๆ เรียกกันว่า มูกเลือ
        • มดลูก ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับจากวันที่มีการฝังตัวผนังมดลูกจะนุ่มขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน
        • รังไข่ หลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกแล้วจะจบลงในวันที่คุณแม่ควรจะมีประจำเดือนในรอบต่อมาพอดี ถุงน้ำในรังไข่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อดูแลครรภ์ต่อไป ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้รังไข่หยุดผลิตไข่ในรอบต่อมา คุณแม่จึงขาดประจำเดือน
        • อารมณ์ คุณแม่จะหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน อาจร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกสับสนปะปนระหว่างความสุข ความหวาดกลัว และตื่นเต้น

ระยะนี้เป็นช่วงที่คุณแม่บอบบางทั้งร่างกายและจิตใจ พยายามพักผ่อนให้มากขึ้น เพราะร่างกายที่เหนื่อยล้าและจิตใจที่กังวล เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการแพ้ท้องมากขึ้นด้วย


พัฒนาการของทารกในครรภ์
1 สัปดาห์ หลังจากการปฏิสนธิ ลูกน้อยจะยังเป็นเพียงเซลล์เล็กๆ ที่ค่อยๆ แบ่งตัวออกเป็น 2 ส่วน

        • ส่วนแรก จะพัฒนาไปเป็นรกและถุงน้ำคร่ำ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องทารก และเป็นเส้นทางลำเลียงอาหารและของเสียของลูกน้อยระหว่างที่อยู่ในครรภ์แม่ รวมถึงการสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ เซลล์ส่วนนี้มีลักษณะคล้ายนิ้วมือที่ยื่นออกไปเกาะกับผนังโพรงมดลูกของแม่ไว้นั่นเอง
        • ส่วนที่สองจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนหรือทารก ซึ่งเซลล์ส่วนนี้จะแบ่งตัวไปเรื่อยๆ และพัฒนาไปเป็นอวัยวะต่างๆ อันได้แก่ ปอด ตับ ต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน ท่อไตและกระเพาะปัสสาวะ บางส่วนพัฒนาไปเป็นโครงกระดูก กล้ามเนื้อทั่วไป กล้ามเนื้อหัวใจ อัณฑะหรือรังไข่ ม้าม หลอดเลือด เม็ดเลือดแดง เซลล์ผิวหนัง ต่อมเหงื่อ หัวนม เต้านม ขน เล็บ ฟัน และเลนส์ตา จนเป็นอวัยวะที่สมบูรณ์ในที่สุด

2 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นตำแหน่งที่จะพัฒนาไปเป็นไขสันหลังและส่วนหลังของตัวอ่อน


3 สัปดาห์ อวัยวะสำคัญเริ่มเจริญเติบโต รวมทั้งหัวใจของลูกก็เริ่มเต้นแล้วในช่วงนี้|


4 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร น้ำหนักไม่ถึง 1 กรัม มีลักษณะคล้ายกุ้งที่มีเอวคอดตรงกลาง มีส่วนหัว ส่วนข้าง และส่วนล่างที่ลักษณะเหมือนหางโค้งงอ


pregnancy_momypedia
ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวัง
คุณแม่คุณพ่อควรเตรียมพร้อมเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ในการดูแลครรภ์และวางแผนเรื่องต่างๆ โดยการอ่านหนังสือคู่มือการตั้งครรภ์และเตรียมคลอด การสร้างชีวิตอีกหนึ่งนั้นควรจะทำให้ดีที่สุด เพราะก่อนที่คุณแม่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ลูกได้พัฒนาไปจนมีอวัยวะสำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นแล้ว คุณแม่คุณพ่อจึงควรเอาใจใส่วางแผนการตั้งครรภ์ไว้ก่อนล่วงหน้า

        • ไขสันหลัง ระหว่างสัปดาห์ที่ 2 หลังจากการปฏิสนธิจะเริ่มปรากฏตำแหน่งที่จะพัฒนาเป็นไขสันหลังและส่วนหลังของตัวอ่อน ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 เป็นช่วงที่อวัยวะสำคัญหลายอย่างกำลังก่อกำเนิดขึ้น หากคุณแม่ได้รับสารพิษ เช่น ยาบางชนิด สารเคมีเป็นพิษ เหล้า บุหรี่ หรือเชื้อโรค อาจทำให้ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการและแท้งออกมาได้ นอกจากนี้ตัวอ่อนมีความผิดปกติจากโครโมโซมและมีความผิดปกติอย่างรุนแรงก็อาจจะมีการแท้งออกมาได้เอง คุณแม่จึงต้องระวังเป็นพิเศษ
        • หัวใจ ในช่วงที่คุณแม่ประจำเดือนขาดเพียง 1 สัปดาห์ (ปลายสัปดาห์ที่ 3) หัวใจลูกก็เริ่มเต้นแล้ว

อาหารที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์เดือนที่ 1

        • กรดโฟลิกและวิตามินรวมพื่อช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์ของตัวอ่อนแข็งแรง คุณแม่จึงควรได้รับกรดโฟลิก และวิตามินรวมให้ได้วันละ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งครรภ์ จนถึงปลายสัปดาห์ที่ 12
        • สารอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ช่วงที่ตัวอ่อนกำลังฝังตัวในเยื่อบุผนังมดลูก คุณแม่ควรได้รับสารอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ธัญพืช ฯลฯ เพื่อสร้างฮีโมโกลบินที่จะช่วยนำพาออกซิเจนไปสู่ตัวอ่อน ที่สำคัญ คุณแม่ควรเลิกดื่มชา กาแฟ เพราะคาเฟอีนจะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ไม่ดี
        • กินอาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะกรดอะมิโนที่มีอยู่ในโปรตีนจะช่วยให้ลูกมีเสบียงเพียงพอในการสร้างอวัยวะต่างๆ


การออกกำลังกาย
ช่วงเดือนนี้คุณแม่คงเหนื่อยล้าและเพลียมากแบบไม่รู้สาเหตุ เพราะร่างกายยังอยู่ในระหว่างปรับตัว คุณแม่ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากอยากออกกำลังกาย ก็แนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ พอให้ได้ยืดเส้นยืดสาย เช่น เดินเล่นก็พอ

อัพเดทล่าสุด