การตั้งครรภ์เดือนที่ 3


1,177 ผู้ชม

เข้าสู่การตั้งครรภ์เดือนที่ 3 เดือนนี้ทารกมีรูปร่างที่ชัดเจนมากแล้ว แถมยังดื้อซะจนคุณแม่แพ้ท้องมากเลยทีเดียว แล้วคุณแม่ควรทำตัวอย่างไรกันดีกับการเปลี่ยนแปลงในเดือนนี้


การตั้งครรภ์ เดือนที่ 3



pregnancy_momypedia
การเปลี่ยนแปลงของแม่
คุณแม่จะรู้สึกสดชื่นมากขึ้นเมื่อเริ่มตั้งครรภ์เข้าเดือนที่ 3 แต่หลายคนอาจจะยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ในช่วงนี้ ขอให้คุณแม่ทำจิตใจให้สบาย พักผ่อนให้เต็มที่ และกินอาหารที่มีประโยชน์ก็จะเป็นผลดีต่อคุณแม่ยิ่งขึ้น

        • อารมณ์ คุณแม่คงมีอารมณ์แปรปรวน แต่เริ่มทุเลาลงเป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนที่เริ่มเข้าสู่สภาพสมดุลแล้วในช่วงเดือนนี้
        • น้ำหนักตัว คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทารกและระบบการหล่อเลี้ยงของทารกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว น้ำหนักตัวของคุณแม่จะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก บางคนน้ำหนักอาจลดลงด้วยซ้ำ เนื่องจากอาการแพ้ท้อง และหากเพิ่มก็ไม่เกิน 2 กิโลกรัม ซึ่งจะเป็นส่วนของทารกเพียง 48 กรัม ที่เหลือเป็นส่วนขยายของมดลูก เต้านม รกและน้ำคร่ำ รวมทั้งปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น
        • ยอดมดลูก คุณหมอจะคลำพบยอดมดลูกที่โตขึ้นปริ่มอยู่บริเวณหัวหน่าว ทำให้มั่นใจว่าคุณแม่ตั้งครรภ์แน่นอน และมีขนาดครรภ์สมกับอายุของทารก
        • ระบบไหลเวียนของโลหิต คุณแม่จะมีความดันโลหิตลดต่ำลง เนื่องจากผลของฮอร์โมนที่มีต่อการขยายตัวของหลอดเลือดตามปลายแขนขา การกระจายปริมาณของเลือดไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกายเป็นไปอย่างสมดุล เลือดที่สะสมอยู่ในหลอดเลือดที่ขยายตัวนี้ทำให้ปลายแขนขาอุ่นขึ้นและอาจบวมได้เล็กน้อย


พัฒนาการของทารกในครรภ์
ทารกในครรภ์เจริญเติบโตขึ้นทุกเวลานาที เมื่อมาถึงช่วงเดือนที่ 3 นี้ ตัวอ่อนจะโตพอที่จะเรียกว่าทารก เพราะตัวอ่อนเริ่มมีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ส่วนหัวยังคงใหญ่กว่าลำตัว ความยาวของส่วนหัวและลำตัวจะต่างกันมาก ส่วนหัวจะยาวประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของความยาวลำตัว
ทารกมีการพัฒนาหน้าตาและนัยน์ตาอย่างสมบูรณ์แล้ว เริ่มเห็นคาง หน้าผากและจมูกใหญ่ขึ้น ช่วงลำตัวทารกจะเริ่มเหยียดตรง เริ่มมีกระดูกและซี่โครง เล็บมือ เล็บเท้า และขน กระดูกที่อ่อนกลายเป็นกระดูกแข็ง เริ่มรู้เพศแล้วว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้ลูกหญิงหรือลูกชาย

        • สัดส่วนของทารก ในช่วงสัปดาห์ที่ 14 นี้ทารกในครรภ์จะมีลำตัวยาว 9 เซนติเมตร และหนัก 48 กรัม
        • ถุงน้ำคร่ำ ทารกลอยตัวอย่างสุขสบายใจในถุงน้ำคร่ำที่มีอุณหภูมิ 37.5 องซวเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิร่างกายของคุณแม่เล็กน้อย และในถุงน้ำคร่ำนี้ทารกจะเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่
        • ขากรรไกร เหง้าฟันแท้ทั้ง 32 ซี่ จะซ่อนอยู่ในปุ่มเหงือกอย่างครบถ้วน
        • กระดูก โครงกระดูกอ่อนในช่วงนี้จะเริ่มมีแคลเซียมมาสะสมอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดเป็นกระดูกแข็งแรงอย่างชัดเจน
        • การสร้างอวัยวะของลูก นิ้วมือและนิ้วเท้าของทารกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของฝ่าเท้า ซึ่งประกอบด้วยโครงของนิ้วเท้าและเส้นเลือด
        • การเต้นของหัวใจ เริ่มช้าลง ประมาณ 110-160 ครั้งต่อนาที ระบบกลืนเริ่มทำงาน ทารกเริ่มกลืนน้ำคร่ำและถ่ายปัสสาวะ อาจทำให้ปากจู๋ ย่นหน้าผาก หันหัวไปมา เริ่มหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง
        • การสร้างเม็ดเลือดแดง ทารกยังต้องอาศัยรกเป็นห้องอาหาร เป็นแหล่งให้ออกซิเจน และช่วยขจัดของเสียออกไปจนกว่าจะคลอด แต่ระบบการสร้างเม็ดเลือดแดงก็ได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว เพื่อจะทำหน้าที่หลังจากที่ได้คลอดออกมา ในช่วงนี้ไข่แดง (Yolk Sac) เริ่มสลายตัวไปอวัยวะภายในตัวทารกคือ ไขกระดูก ตับ และม้าม จะเริ่มทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดแดงแทนไข่แดง
        • การเคลื่อนไหว ทารกจะเหยียดตัวและงอหลังรวมทั้งงอและยืดแขนขาได้ บางครั้งอาจจะสะอึก ลูกดิ้นแรงขึ้น แต่คุณแม่ยังไม่สามารถรับรู้ ถ้ามีสิ่งใดมากระทบแรงๆ ที่หน้าท้องคุณแม่ ทารกจะเคลื่อนตัวหรือขยับหนีได้
        • รก ยังเป็นแหล่งสำคัญในการลำเลียงสารอาหารออกซิเจนและของเสียผ่านไปมาระหว่างคุณแม่กับทารก รกมีการพัฒนาเร็วมากเพื่อให้ทันกับการเจริญเติบโตของทารก รกจะหนาขึ้นพร้อมๆ กับเยื่อหุ้มทารกที่อยู่ภายในจะขยายขนาดใหญ่จนมาติดกับรก และล้อมรอบด้านในของโพรงมดลูกไว้ทั้งหมด
        • สายสะดือ เป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างคุณแม่และทารก มีเส้นเลือดสำคัญในสายสะดือ 3 เส้น เป็นเส้นเลือดดำที่มีผนังบางขนาดใหญ่ 1 เส้น ทำหน้าที่นำเลือดแดงที่มีอาหารและออกซิเจนจากคุณแม่ไปเลี้ยงทารก และเส้นเลือดแดงซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและผนังหนาอีก 2 เส้น ทำหน้าที่นำเลือดดำที่มีของเสียจากทารกไปสู่ระบบการไหลเวียนของแม่เพื่อฟอกเป็นเลือดดีต่อไป
        • เส้นเลือดทั้งสามที่อยู่ในสายสะดือจะมีปลอกไขมันหุ้มไว้ ปลอกไขมันนี้จะยาวกว่าเส้นเลือด จึงทำให้สายสะดือขดกันเป็นเกลียวและยืดหยุ่นได้ เมื่อมีการดึงรั้งจากการกดทับและการดิ้นของทารก


pregnancy_momypedia
ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวัง

        • การเข้าอบรมในบางโอกาสก็จะช่วยเพิ่มความรู้และการแลกเปลี่ยนทัศนะกับเพื่อนใหม่ๆ
        • คุณแม่ควรเตรียมเสื้อผ้าชุดคลุมท้องซึ่งเป็นชุดที่สวมสบาย เอวและท้องของคุณแม่จะขยายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคลอด
        • เริ่มใส่ชุดคลุมท้องได้ในทันทีที่รู้สึกว่าอึดอัดไม่สบายกับชุดที่เคยสวมใส่อยู่ทุกวัน ชุดคลุมท้องที่ตัดหรือซื้อควรเป็นชุดที่ใส่ได้จนกระทั่งคลอดเพื่อความประหยัด
        • ที่สำคัญคือคุณแม่ควรใส่ยกทรงที่มีขนาดพอเหมาะกับเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้นเพื่อความสบายตัว ซึ่งจะมีแบบยกทรงสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะ


อาหารที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์เดือนที่ 3

        • มดลูกที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป
        • วิตามินซีซึ่งมีอยู่ในผักผลไม้หลายชนิด นอกจากจะช่วยให้กระดูกและฟันของทารกแข็งแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคเหงือกบวมและเลือดออกตามไรฟันให้คุณแม่ และที่สำคัญยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิวหนัง ลดโอกาสแตกลายบริเวณผิวหน้าท้องได้ด้วย


การออกกำลังกาย
ช่วงเดือนที่ 3 นี้ก็ยังอยู่ในระยะเสี่ยงสูง การเดินเล่นเบาๆ แกว่งแขนเพียงเล็กน้อยจึงยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีของคุณแม่ เวลาเดินควรก้าวขายาวๆ ลำตัวตั้งตรง และสวมรองเท้าที่เหมาะสม ได้แก่รองเท้าส้นเตี้ย

อัพเดทล่าสุด