การตั้งครรภ์เดือนที่ 4


1,543 ผู้ชม

ทารกในครรภ์เริ่มตัวโตขึ้น ท้องคุณแม่เริ่มใหญ่ขึ้นแล้วเมื่อตั้งครรภ์เดือนที่ 4 มาดูกันว่าทารกน้อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างในท้องของคุณแม่


การตั้งครรภ์ เดือนที่ 4



pregnancy_momypedia
การเปลี่ยนแปลงของแม่
ร่างกายคุณแม่เปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดเจน ท้องเริ่มโตขึ้น แต่น้ำหนักตัวยังเพิ่มขึ้นไม่มาก คุณแม่ที่ยังแพ้ท้องไม่เลิก เข้าเดือนนี้อาการแพ้ท้องจะค่อยลดลงและหายไป ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และกินอาหารได้มากขึ้น

        • หน้าท้อง เริ่มโตเพราะมดลูกจะลอยสูงขึ้นจากอุ้งเชิงกรานเข้าสู่ช่องท้อง เนื่องจากการเติบโตของทารก คุณแม่จะคลำยอดมดลูกได้ และเริ่มเห็นเส้นดำกลางหน้าท้อง
        • หัวใจ ต้องทำงานหนักอีกเท่าตัวเพื่อรองรับปริมาณเลือดทีเพิ่มขึ้น (6 ลิตรต่อนาที) เพื่อให้สมดุลกับความต้องการของอวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกาย เช่น มดลูกและผิวหนังที่ต้องการเลือดเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
        • หัวนม เริ่มดำคลำขึ้น หัวนมมักเจ็บเมื่อถูกสัมผัส เส้นเลือดดำที่เห็นเป็นริ้วสีเขียวจะดูชัดขึ้น
        • รู้สึกว่าลูกดิ้น ปลายเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกตื่นเต้นมีความสุข เมื่อรับรู้ว่าลูกดิ้นเป็นครั้งแรก คล้ายมีปลามาตอดตุบๆ อยู่ในท้อง คุณแม่ตั้งครรภ์แรกจะสึกว่าลูกดิ้นช้ากว่าครรภ์หลัง
        • ช่วงนี้คุณแม่จะมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดและริดสีดวงทวารได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของมดลูกอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อระบบไหลเวียนของโลหิตนั่นเอง


พัฒนาการของทารกในครรภ์
ตั้งครรภ์เดือนที่ 4 เป็นอีกเดือนหนึ่งที่ทารกเจริญเติบโตเร็วมาก เหมือนมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้นทุกที ส่วนขาจะมีการเจริญเติบโตยาวกว่าแขน ส่วนของกระดูกจะมีแคลเซียมมายึดเกาะหนาขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถมองเห็นได้ชัดมากภาพเอกซเรย์

        • สัดส่วนของลูก ปลายเดือนที่ 4 ทารกจะมีความยาววัดจากศีรษะถึงก้น 13.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนัก 180 กรัม
        • ศีรษะและใบหน้า ส่วนของใบหน้าพัฒนาคล้ายมนุษย์สมบูรณ์ขึ้นทุกที เริ่มปรากฏคิ้วและขนตา หูเริ่มออกไปอยู่ในตำแหน่งด้านข้าง นัยน์ตายังอยู่ห่างกัน
        • ผิวหนังของทารก โปร่งใสจนเห็นเส้นเลือดชัดเจน ทั้งยังมีเส้นเลือดมากมายและเห็นเป็นสีแดง ทารกสามารถแสดงสีหน้าได้มากขึ้น เริ่มมีขนตา คิ้วและเส้นผมที่งอกขึ้นประปรายเริ่มมีสี
        • ปอด ปอดเริ่มมีการพัฒนาและมีการขยับขึ้นลงของทรวงอกคล้ายกับหายใจ แต่ทารกยังคงได้รับออกซิเจนผ่านมาทางรกจนกว่าจะคลอด
        • เซลล์ประสาท จำนวนเซลล์ประสาทของทารกในครรภ์ขณะนี้เริ่มเท่ากับผู้ใหญ่แล้ว เซลล์ประสาทในสมองจะถูกห่อหุ้มโดยรอบด้วยชั้นไขมัน เรียกว่า ไมอีลิน (Myelin) ซึ่งจะช่วยในการสร้างและนำสัญญาณผ่านเข้าออกสมอง
        • การเชื่อมต่อเครือข่ายสายใยของระบบประสาททำให้ทารกเคลื่อนไหวแขนขาตามข้อพับได้บ้าง ทารกอาจจะกำหมัดหรือเคลื่อนมือมาประสานกัน แต่การเคลื่อนไหวในช่วงนี้ไม่ได้เกิดจากการสั่งงานของสมอง
        • การรับรส เริ่มมีการพัฒนาปุ่มรับรสบนลิ้น
        • การมองเห็น ตาของทารกในช่วงนี้ยังคงห่างกัน แต่ทารกเริ่มรับรู้แสงได้แล้ว แม้ว่าเปลือกตายังไม่แยกจากกัน หากมีแสงจ้าจากภายนอกครรภ์แม่มาถึงตัวทารก ทารกรับรู้ได้แล้วเพราะจอตา (Retina) เริ่มไวต่อแสง
        • การได้ยิน หูเริ่มทำงานเต็มที่ ทารกจะได้ยินเสียงพูดของคุณแม่ เสียงของระบบย่อยอาหารและเสียงเต้นของหัวใจคุณแม่ด้วย
        • อวัยวะเพศ สามารถเห็นอวัยวะเพศจากภายนอกได้ชัดเจน ขณะที่อวัยวะภายในกำลังเริ่มพัฒนาตัวเอง เช่น ลูกอัณฑะและช่องคลอด
        • ระบบหล่อเลี้ยงทารก รกจะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนสำคัญหลายตัวที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก รวมทั้งฮอร์โมนที่ช่วยขยายมดลูกไม่ให้เกิดการหดรัดตัว และเตรียมเต้านมให้พร้อมผลิตน้ำนมไว้ให้ทารกดื่มหลังคลอด รกสามารถทำหน้าที่คัดกรองเชื้อโรคบางชนิดได้แต่ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่อันตราย เช่น เอดส์ หัดเยอรมัน หรือสารพิษ เช่น แอลกอฮอล์ หรือ นิโคตินในบุหรี่ได้


pregnancy_momypedia
ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวัง

การกระตุ้นพัฒนาการทารก หูของทารกพัฒนาจนสามารถได้ยินเสียงต่างๆ แล้ว คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการของทารกได้ด้วยการพูดคุย โดยอาจเป็นช่วงก่อนนอนที่จะพูดคุยและลูบคลำท้องไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะทารกรับรู้ถึงการสัมผัสได้แล้ว
นอกจากนี้ยังสามารถให้ทารกในครรภ์ฟังเพลงได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบทสวดมนต์ เพลงไทยเดิม เพลงบรรเลง เพลงคลาสสิก หรือเพลงที่มีท่วงทำนองง่ายๆ ฟังสบายๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาประสาทหูของทารกแล้ว ยังช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายและร่างกายก็หลั่งสารสุขได้มากขึ้นด้วย



อาหารที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์เดือนที่ 4

        • วิตามินบี 1 อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 เช่น ธัญพืช ข้าวกล้อง เนื้อวัว หรือเนื้อหมู เต้าหู้ ถั่วหมัก งา กระเทียม จะช่วยปกป้องคุณแม่จากโรคเหน็บชา อันเนื่องมาจากน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มขึ้นและไปกดทับเส้นเลือด ทำให้การหมุนเวียนของเลือดติดขัดได้
        • สังกะสี ช่วงนี้คุณแม่ควรเริ่มให้ความสำคัญกับอาหารที่มีสังกะสีที่มีมากในเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และถั่วอบแห้ง เพราะช่วยเสริมการเติบโตของทารกในครรภ์ และยังช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดด้วย



การออกกำลังกาย
เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แล้ว อาการแพ้ท้องเริ่มทุเลาลงหรือบางคนก็หายไป ช่วงนี้คุณแม่สามารถออกกำลังกายด้วยการเดินแบบเดิมก็ได้ หรือจะไปว่ายน้ำก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของคุณแม่แข็งแรงขึ้น และน้ำก็ยังทำให้รู้สึกผ่อนคลายด้วย

อัพเดทล่าสุด