การตั้งครรภ์เดือนที่ 5


912 ผู้ชม

เมื่อตั้งครรภ์เดือนที่ 5 ทารกเริ่มดิ้นแรงขึ้นแล้วจนคุณพ่อคุณแม่ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แล้วควรจะุดูแลทารกน้อยของเราอย่างไรเพื่อให้เขาแข็งแรง


การตั้งครรภ์ เดือนที่ 5



pregnancy_momypedia
การเปลี่ยนแปลงของแม่
อารมณ์อ่อนไหวแปรปรวนจะลดลง คุณแม่จะรู้สึกหิวบ่อย อาการแพ้ท้องก็จะลดลงในช่วงเดือนนี้

        • หน้าท้อง คุณแม่เอวหายไป สำหรับบางคนจะมีริ้วรอยบริเวณหน้าท้อง หรือที่ใครๆ เรียกกันว่าท้องลายเกิดขึ้น
        • ระบบสันดาป คุณแม่จะขี้ร้อนและเหงื่อออกง่าย เพราะต่อมไทรอยด์ต้องทำงานมากขึ้น บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนตัวเองหายใจหอบ
        • ลูกดิ้น ถ้าคุณแม่ยังไม่เคยรู้สึกว่าลูกดิ้นมาก่อน เดือนนี้เป็นช่วงเวลามหัศจรรย์ คุณแม่จะรู้สึกตัวได้ว่าเจ้าตัวเล็กกำลังดิ้นอย่างแน่นอน
        • ผิวหนัง จะเห็นเส้นเลือดฝอยที่ขยายตัวเป็นตาข่ายเหมือนใยแมงมุมปรากฏตามบริเวณต่างๆ เช่น ใบหน้า แขน ไหล่ เป็นต้น คุณแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงาม เพราะร่องรอยเหล่านี้จะหายไปเองหลังคลอด
        • อาการอื่นๆ คุณแม่อาจมีโอกาสเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะกล้ามเนื้อในทางเดินระบบปัสสาวะหย่อนตัว อาจรู้สึกแสบกระเพาะอาหารเพราะกรดช่วยย่อยลดลง ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น เกิดกรดไหลย้อน และท้องผูกได้
        • ตะคริว หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่มักเป็นมากในช่วงกลางคืน ซึ่งหากคุณแม่เป็นตะคริวควรรีบกระดกปลายเท้าขึ้น เพื่อให้กล้ามเนื้อที่จับตัวเป็นตะคริวเหยียดและคลายตัวออก


พัฒนาการของทารกในครรภ์
นับตั้งแต่ตั้งครรภ์มาจนถึงสัปดาห์ที่ 19 ทารกในครรภ์เริ่มโตช้าลง แต่น้ำหนักยังคงเพิ่มขึ้น เริ่มมีเปลือกหุ้มเส้นประสาทไขสันหลังเพื่อป้องกันอันตราย ทารกเริ่มมีภูมิป้องกันการติดเชื้อของโรคบางอย่าง และมีการสร้างความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ

        • สัดส่วนลูกน้อย ในช่วงปลายเดือนที่ 5 ทารกมีน้ำหนักถึงครึ่งกิโลกรัมแล้ว และมีความยาวจากศีรษะถึงก้น 18.5 เซนติเมตร
        • การดิ้น ระบบกล้ามเนื้อและปราสาทของทารกได้พัฒนาประสานสัมพันธ์กันมากขึ้น จะยืดหดตัวอย่างแรงจนคุณแม่รู้สึกว่าทารกดิ้นแรง และดิ้นหนีแรงที่มากระทบบริเวณหน้าท้องคุณแม่ ทารกยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำคร่ำที่มาก จึงทำให้ทารกในครรภ์สามารถเคลื่อนไหวพลิกตัวไปมาอยู่ในถุงน้ำคร่ำอย่างไร้ทิศทาง
        • การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผิวหนังบริเวณลำตัวทารกจะมีสีแดงย่น เริ่มมีการสร้างไขสีขาวๆ คล้ายเทียน เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวเปื่อยเมื่อต้องแช่อยู่ในถุงน้ำคร่ำเป็นเวลานานๆ และป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย ตามลำตัวมีการสร้างขนอ่อนช่วยควบคุมอุณหภูมิและให้เป็นที่ยึดเกาะของไขสีขาว
        • ร่างกายทารกมีการสร้างไขมันชนิดพิเศษตามส่วนของลำคอ ทรวงอก และก้น เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย การสร้างไขมันนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนกว่าทารกจะครบกำหนดคลอด ด้วยเหตุนี้เองทารกที่คลอดก่อนกำหนดจึงต้องอยู่ในตู้อบนาน เพราะร่างกายยังไม่สามารถควบคุมการสูญเสียความร้อนของร่างกายได้เต็มที่
        • ฟัน ฟันน้ำนมของทารกเริ่มเกิดขึ้นในเหงือกแล้ว
        • การรับรู้รส ไม่น่าเชื่อว่าทารกรู้จักแยกรสขมและหวานได้แล้ว
        • หัวนมและต่อมน้ำนม ก็เริ่มปรากฏและพัฒนาขึ้นในช่วงนี้
        • หญิงหรือชาย คุณแม่สามารถมองเห็นเพศทารกได้ชัดเจนขึ้นในช่วงนี้ ถ้าลูกชายก็จะเห็นลูกอัณฑะ ถ้าเป็นหญิงก็จะเห็นช่องคลอด และเวลานี้รังไข่ของทารกเพศหญิงมีปริมาณไข่อยู่มากถึง 7 ล้านฟอง และลดเหลือเพียง 2 ล้านฟองตอนคลอด เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์จะเหลือไข่ 2-5 แสนฟอง และเกิดการตกไข่เพียง 400-500 ฟองตลอดชีวิต คือประมาณเดือนละ 1 ฟอง
        • เคลื่อนไหวคล่องแคล่วว่องไว เพราะทารกมีการพัฒนากล้ามเนื้อและระบบประสาทสัมพันธ์กัน ทารกจึงขยับเนื้อตัวได้ บางครั้งอาจกำมือแล้วปล่อยออกพร้อมๆ กับเตะถีบขา


pregnancy_momypedia

ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวัง

กระตุ้นพัฒนาการของทารก
ทารกจะเคลื่อนไหวและได้รับการสัมผัสตลอดเวลาที่อยู่ในครรภ์ โดยเฉพาะขณะที่คุณแม่ขยับตัว หรือลูบและสัมผัสผ่านทางหน้าท้อง ผิวของทารกจะสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูก ทุกสัมผัสที่เกิดขึ้นจะพัฒนาเส้นใยประสาทของสมองส่วนรับความรู้สึก เพิ่มประสิทธิภาพและความไวในการรับรู้
การที่คุณแม่นั่งเก้าอี้โยกและลูบท้องไปด้วยจะช่วยพัฒนาเซลล์สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และทำให้ทารกได้เรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เพราะขณะที่คุณแม่นั่งโยกเก้าอี้ ทารกจะถูกโยกเอนไปมาตามทิศทางของการโยก ซึ่งหากทำซ้ำๆ ทารกจะเรียนรู้ถึงระบบการโยกว่า โยกไปหน้าแล้วตามด้วยโยกไปหลังเสมอ จากนั้นก็จะเกิดการปรับตัวและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ขณะที่เก้าอี้โยกไปข้างหน้า ทารกจะเกร็งตัวไปด้านหลังเพื่อพยุงตัวให้อยู่ในแนวกลางเสมอซึ่งสามารถทำได้ง่าย เพราะทารกยังลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำอยู่
นอกจากนี้การเคลื่อนไหวไปมาก็ยังช่วยพัฒนาระบบกล้ามเนื้อและการทรงตัว ทำให้ทารกหลังคลอดมีพัฒนาการการพลิกคว่ำ พลิกหงายได้เร็วอีกด้วย


เรื่องที่ควรระวังเป็นพิเศษ
การดิ้นที่สม่ำเสมอบ่งบอกถึงสุขภาพที่แข็งแรงของทารกได้ หากคุณแม่พบว่าทารกดิ้นน้อยลงหรือขาดช่วงไป ควรรีบปรึกษาคุณหมอด่วนเพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด


อาหารที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์เดือนที่ 5

        • กากใย ช่วงนี้คุณแม่ควรใส่ใจกินอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาท้องผูกและริดสีดวงทวารที่อาจเกิดขึ้นได้
        • วิตามินบี 12 มีมากในเนื้อวัว ไก่ หมู ปลา นม เนยแข็งจะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงและช่วยบำรุงระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลายของทารกได้


การออกกำลังกาย
เริ่มปวดหลังแล้วละ คุณแม่ลองเล่นโยคะด้วยท่าที่ถูกต้องและเหมาะ หรือชวนคุณพ่อมาออกแรงเต้นรำด้วยจังหวะเบาๆ ได้ทั้งเหงื่อทั้งกระชับความสัมพันธ์ด้วย

อัพเดทล่าสุด