เดือนนี้ทารกในครรภ์จะดิ้นมากขึ้นและตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นนอกครรภ์แม่ ตั้งครรภ์เดือนที่ 6 อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานได้ดีขึ้นจนบางทีอาจจะอัลตราซาวนด์เห็นทารกแอบยิ้ม
การตั้งครรภ์ เดือนที่ 6
- การเปลี่ยนแปลงของแม่
- พัฒนาการของทารกในครรภ์
- ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวัง
- อาหารที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์เดือนที่ 6
- การออกกำลังกาย
การเปลี่ยนแปลงของแม่
ท้องของคุณแม่จะโตและน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณแม่รู้สึกว่าทารกดิ้นบ่อย บางครั้งเมื่อทารกสะอึกจะรู้สึกกระตุกเป็นจังหวะในครรภ์ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
-
-
-
- น้ำหนัก คุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอาทิตย์ละประมาณครึ่งกิโลกรัม และไม่ต้องวิตกกังวลถ้ามีใครทักว่าท้องเล็กท้องใหญ่ เพราะขนาดของท้องนั้นขึ้นอยู่กับรูปร่างและโครงสร้างของร่างกายคุณแม่ และยังขึ้นกับปริมาณน้ำคร่ำด้วย
- ตะคริว หากร่างกายคุณแม่ได้รับแคลเซียมยังไม่มากพอจะทำให้เกิดเป็นตะคริว เกิดการหดตัวเกร็งของกล้ามเนื้อช่วงน่อง ต้นขา และปลายเท้า ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยในตอนกลางคืน หากเป็นตะคริวคุณแม่แก้ได้โดยการกระดกปลายเท้าขึ้น กล้ามเนื้อที่จับตัวจะเหยียดตึงและคลายตัวออก
- ปวดชายโครง เพราะขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น คุณแม่บางคนอาจมีอาการเสียดชายโครงข้างใดข้างหนึ่ง เกิดจากขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นเข้าใกล้ชายโครง ขณะที่ทารกดิ้นอาจเกิดการกดทับกระเพาะอาหารและเกิดแสบร้อนได้
- มดลูก ขณะที่คุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถในทันทีทันใด มดลูกจะเกิดอาการหดเกร็ง จึงอาจเกิดอาการเสียดท้องน้อยได้
- โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ การอักเสบจากเชื้อรา การอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
-
-
พัฒนาการของทารกในครรภ์
ลำตัวทารกที่เคยโปร่งใสจะมีสีแดงทึบขึ้น แต่ผิวจะเหยี่ยวย่นมาก เพราะไขมันที่สะสมยังมีปริมาณน้อย ร่างกายของทารกยังดูผอมเกร็ง แขนขาเริ่มมีกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ ความยาวของขาได้สัดส่วนกับลำตัว
ก่อนหน้านี้ศีรษะของทารกจะโตเร็วมาก มาถึงตอนนี้ค่อยๆ ลดลง ลำตัวจะเริ่มโตเร็วกว่าศีรษะ เมื่อถึงปลายเดือนที่ 6 ศีรษะและลำตัวจะมีสัดส่วนเท่ากับทารกครบกำหนด
-
-
-
- สัดส่วนของทารก ในช่วงปลายเดือนที่ 6 ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 800 กรัม และมีความยาวจากศีรษะถึงก้นประมาณ 30 เซนติเมตร
- กระดูก แข็งแรงมากขึ้นเพราะมีแคลเซียมที่มาสะสมมากขึ้น ฝ่ามือฝ่าเท้าของทารกเริ่มมีลายมือลายเท้าชัดเจนขึ้น
- อวัยวะเพศ พัฒนาสมบูรณ์และถ้าเป็นเพศชายมีการสร้างฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเตอโรน) จากลูกอัณฑะในปริมาณสูงขึ้น
- เซลล์สมอง เซลล์สมองที่ทำหน้าที่ในการรับรู้ก็เริ่มทำงานสามารถทำให้ทารกสามารถจดจำและเรียนรู้ได้แล้ว มีการทดลองพบว่าทารกในครรภ์จะเตะตอบโต้กับแรงสั่นสะเทือนบางอย่างได้ ถ้าวัดคลื่นสมองส่วนหน้าของทารก จะพบว่าคลื่นสมองที่วัดได้ขณะนี้จะเหมือนกับทารกแรกคลอดที่ครบกำหนด และยังมีลักษณะแสดงว่าทารกกำลังหลับหรือตื่นด้วย
- การหายใจ ปอดของทารกมีการพัฒนาไปมากขึ้น ถุงลมภายในปอดจะก่อตัวทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งอายุ 8 ปี รูจมูกเริ่มเปิด ทารกเริ่มฝึกการหายใจโดยมีการขยับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ เช่น กล้ามเนื้อกะบังลม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เพื่อให้ทำงานได้เต็มที่หลังคลอด
- การได้ยิน ทารกได้ยินเสียงที่มีความถี่เกินระดับการได้ยินของผู้ใหญ่ ไวต่อคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงมากๆ และจะเคลื่อนตัวขึ้นลงตามจังหวะเสียงการพูดของคุณพ่อคุณแม่ได้ หรือกระโดดขึ้นลงตามจังหวะเสียงกลอง คุณแม่ที่ไปชมคอนเสิร์ตหรือภาพยนตร์บางทีอาจจะต้องเดินลุกออกมาเพราะทนการกระโดดโลดเต้นของทารกในครรภ์ไม่ไหว นอกจากยนี้ทารกยังจำเสียงคุณพ่อได้ด้วย คุณพ่อที่พูดคุยกับทารกในครรภ์บ่อยๆ ทันทีที่คลอด ทารกจะแยกเสียงของคุณพ่อได้จากคนรอบข้างและตอบสนองอย่างรู้สึกผูกพัน เช่น เมื่อทารกร้อง หากได้ยินเสียงคุณพ่อก็จะหยุดร้องทันที
- การรับรส ทารกมักจะดูดนิ้ว ซึ่งมีส่วนกระตุ้นปุ่มรับรสทำให้รู้รสชาติ น้ำคร่ำจะมีรสขมเล็กน้อย แต่ทารกชอบรสนี้
-
-
ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวัง
คุณแม่ควรเตรียมซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้เสียแต่เนิ่นๆ ขณะที่ท้องยังไม่ใหญ่มากนักจะดีกว่ามาชุลมุนวุ่นวายหาเอาตอนใกล้คลอด ข้าวของเครื่องใช้ที่ควรเตรียมมีอะไรบ้าง
-
-
-
- หมวกคลุมศีรษะ
- เสื้อผ้า : เสื้อผ้าฝ้ายคอกว้าง ชุดผ้ายืด (อย่างละประมาณ 6 ชุด) ชุดกันหนาว (2 ชุด)
- ผ้าพันตัวผืนใหญ่ ผ้าเช็ดตัวเนื้อนุ่ม อย่างละ 2 ผืน
- ถุงมือ ถุงเท้าหรือรองเท้าผ้า อย่างละ 2 คู่
- ผ้าอ้อม 2 โหล ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 2 กล่อง ตะกร้าใส่ผ้าอ้อม (2 ใบ)
- สำลี เข็มกลัดซ่อนปลายตัวใหญ่ โลชั่นทาตัวทารก กรรไกรตัดเล็บเด็กอ่อน ครีมทากันผื่นผ้าอ้อม
-
-
สิ่งที่คุณแม่ควรคำนึงถึง
-
-
-
- เลือกซื้อเสื้อผ้าที่ราคาไม่แพงจนเกินไปและมีคุณภาพดี
- เสื้อผ้าฝ้ายจะระบายอากาศได้ดี เหมาะกับภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างบ้านเรา
- สิ่งของจำเป็นหลายอย่างที่สามารถใช้ได้นาน เช่น ขวดนม ผ้าอ้อม แป้งเด็ก ฯลฯ ให้เตรียมเผื่อไว้ได้
- ค่อยทยอยซื้อของเก็บไปเรื่อยๆ และควรชวนคุณพ่อหรือเพื่อนฝูงไปเป็นเพื่อน จะได้ช่วยกันเลือกและช่วยกันถือข้าวของ
- ควรซื้อเสื้อผ้าเตรียมไว้ให้เหมาะกับสภาพอากาศในช่วงที่คลอดลูก และสวมใส่สบาย สีไม่ตก ไม่ควรซื้อเสื้อผ้าเผื่อมากเกินไป เพราะลูกจะโตเร็วมาก
-
-
กระตุ้นพัฒนาการของทารก
-
-
-
- พูดคุยกับทารก : คุณแม่สามารถลูบท้องด้านที่เป็นศีรษะของทารกและพูดคุย หรือใช้กระดาษแผ่นใหญ่ม้วนเป็นกรวย แล้วพูดใส่ปลายกรวยที่จ่อไปบนหน้าท้อง
- เปิดเพลงให้ทารกฟัง : ตามปกติแล้วจะมีเสียงต่างๆ ผ่านเข้ามาถึงตัวทารกที่อยู่ในท้องแม่ตลอดเวลา เสียงที่เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีควรเป็นเสียงดนตรีที่มีทำนองและจังหวะเบาๆ เช่น เพลงบรรเลง อาจเป็นเพลงคลาสสิกหรือเพลงไทยเดิมก็ได้ โดยอาจจะเปิดเพลงวันละครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที ก็เพียงพอแล้ว ถ้าเปิดซ้ำบ่อยๆ ทารกก็จะคุ้นชินและจดจำเพลงได้ หลังคลอดเมื่อเปิดเพลงเดิมนั้นอีก จะช่วยให้ทารกไม่โยเยร้องกวนและหลับง่ายขึ้น เนื่องจากความเคยชินต่อเสียงเพลงนี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
-
-
อาหารที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์เดือนที่ 6
-
-
-
- แคลเซียม ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอเพื่อป้องกันการเกิดตะคริว
- กากใย การกินอาหารที่มีกากใยสูงตลอดช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ นอกจากจะช่วยป้องกันท้องผูกหรือริดสีดวงทวารแล้ว ยังลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้
-
-
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายของแม่ท้องเดือนนี้ยังไม่ทิ้งการว่ายน้ำ เคลื่อนไหวร่างกายด้วยการออกกำลังแบบนุ่มนวล รวมทั้งหัดการผ่อนคลายและฝึกการหายใจควบคู่ไปด้วย