การตั้งครรภ์เดือนที่ 9


1,698 ผู้ชม

เมื่อตั้งครรภ์เดือนที่ 9 ทารกน้อยพร้อมจะลืมตาดูโลกแล้ว มาเช็คพัฒนาการเดือนสุดท้ายของลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์กันว่าสมบูรณ์พร้อมคลอดออกมาหรือยัง


การตั้งครรภ์ เดือนที่ 9



pregnancy_momypedia
การเปลี่ยนแปลงของแม่
คุณหมอจะนัดคุณแม่ตรวจทุกสัปดาห์ในช่วงใกล้คลอด เพื่อติดตามดูความปกติของทารกและตรวจสุขภาพทั่วไปของคุณแม่

        • ท้องลด ศีรษะของทารกลง คุณแม่จะรู้สึกเบาสบายแถวลิ้นปี่และหายใจสบายขึ้น คุณแม่ครรภ์แรกจะมีอาการท้องลด ซึ่งเกิดจากศีรษะของทารกลงไปอยู่ในช่องเชิงกรานแล้ว แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีอาการท้องลดในช่วงนี้ก็ไม่ผิดปกติ เพราะอาจเกิดขึ้นในขณะเจ็บครรภ์คลอดก็ได้
        • นอนไม่หลับ คุณแม่อาจวิตกกังวลเรื่องการคลอดและเป็นเพราะท้องที่โตมาก ไม่รู้ว่าจะนอนท่าไหนดีจึงจะสบายตัวไม่อึดอัด คุณแม่ควรพักผ่อนในช่วงสั้นๆ หรืองีบหลับเท่าที่จะทำได้ จะช่วยให้คุณแม่สดชื่นขึ้น อย่าลืมหนุนเท้าให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อยเวลานอน
        • ขยันก่อนคลอด คุณแม่บางคนอาจจะต้องการจัดเปลี่ยนห้องหับบ้านเรือน เพราะเกรงว่าหลังคลอดแล้วจะไม่มีเวลาเพียงพอ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงงานเหล่านี้จะดีกว่าพักผ่อนและสงวนพลังงานไว้สำหรับคลอดให้มากที่สุด



พัฒนาการของทารกในครรภ์

ทารกพร้อมแล้วที่จะออกมาลืมตาดูโลก ปอดสมบูรณ์เต็มที่ และไขมันใต้ผิวหนังก็สมบูรณ์ทุกส่วนอวัยวะต่างๆ ของทารกที่จะทำงานทันทีหลังคลอด ภาพทารกแรกคลอดอาจไม่ค่อยน่าดูนัก เพราะตัวเหยี่ยวย่นจากการบีบรัดของช่องคลอด อวัยวะเพศดูบวมใหญ่เพราะฮอร์โมนของแม่ที่ส่งผ่านมาทางรก แต่ไม่นานก็จะยุบลง

        • สัดส่วนของทารก ทารกจะมีลำตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร หนักประมาณ 3,000 กรัม
        • การเคลื่อนไหว ทารกตัวโตเต็มที่ คุณแม่รู้สึกว่าทารกดิ้นน้อยลงเพราะว่าถูกจำกัดการเคลื่อนไหว แต่ก็ยังคงรู้สึกว่าทารกเตะถีบในบางครั้ง
        • ขน ขนอ่อนตามร่างกายลูกจะร่วงจนเกือบหมด เหลือแต่บริเวณไหล่ ขา แขนและรอยย่นตามลำตัว
        • ผิวหนัง เนียนนุ่มและยังคงมีไขสีขาวเหลืออยู่บ้างบริเวณหลัง เพื่อช่วยหล่อลื่นให้ทารกคลอดง่ายขึ้น
        • เล็บ เล็บมือและเล็บเท้ายาวมาก เล็บมืออาจข่วนใบหน้าได้ จึงต้องมีการตัดเล็บให้ทารกแรกคลอด
        • การมองเห็น ตาขาวเป็นสีฟ้าและจะจางไปหลังคลอด 2-3 สัปดาห์ ถ้าทารกตื่นขณะอยู่ในครรภ์ช่วงนี้ทารกจะลืมตาตลอด
        • การหายใจ ต่อมหมวกไตจะเร่งสร้างฮอร์โมนเพิ่มความสมบูรณ์ของปอด เพื่อเตรียมการหายใจครั้งแรกในชีวิต
        • ระบบภูมิคุ้มกัน ยังต้องอาศัยภูมิต้านทานโรคต่างๆ จากคุณแม่ผ่านทางรก ถ้าคุณแม่มีภูมิคุ้มกันโรค เช่น หัดเยอรมัน คางทูม ลูกก็จะได้รับภูมิคุ้มกันโรคเหล่านั้นทั้งหมด และยังได้รับต่อเนื่องผ่านทางน้ำนมแม่ด้วย
        • ขี้เทา เกิดจากสารที่หลั่งในระบบทางเดินอาหาร ปะปนกับขนอ่อนและเซลล์ต่างๆ ที่หลุดออกตามทางเดินอาหารของทารก ในลำไส้จึงเต็มไปด้วยขี้เทา ซึ่งมีสีเขียวขี้ม้าเข้มจนดูเหมือนดำ ทารกส่วนใหญ่จะถ่ายขี้เทาหลังจากคลอดไม่นาน เพราะขณะคลอดช่วงท้องจะถูกช่องคลอดบีบกระชับลำไส้เกิดการบีบรัดตัว แต่มีทารกบางรายถ่ายขี้เทาขณะคลอดหรือถ่ายในน้ำคร่ำก็ได้
        • ระบบหล่อเลี้ยงทารก ขณะนี้ในรกมีปริมาณน้ำคร่ำประมาณ 1 ลิตร รกมีรูปร่างกลม กว้างประมาณ 20-25 ซม. และหนาประมาณ 3 ซม. ครอบคลุมพื้นที่กว้างพอที่จะแลกเปลี่ยนอาหารและของเสียระหว่างทารกกับคุณแม่

ฮอร์โมนจากรกจะช่วยเตรียมเต้านมคุณแม่ให้ผลิตน้ำนมหลังคลอด ฮอร์โมนเหล่านี้ทำให้ทารกไม่ว่าเป็นเพศชายหรือหญิงมีเต้านม หัวนมที่เต่งตึงได้ และค่อยๆ หายไปเองหลังคลอดได้ 2-3 วัน


คุณแม่ที่ได้ลูกสาวอาจพบว่ามีเลือดติดผ้าอ้อมลูกในช่วงสองสามวันแรกหลังคลอดเป็นเพราะฮอร์โมนที่เคยได้รับจากรกและมีผลต่อเยื่อยุมดลูกของลูกได้หมดไป จึงเกิดเลือดออกคล้ายประจำเดือนได้ บางครั้งก็จะมีตกขาวเกิดขึ้นได้ในช่วงวันแรกๆ หลังคลอดแล้ว แล้วจากนั้นจะแห้งหายไปเอง


pregnancy_momypedia
ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวัง
วิธีหายใจคลายเจ็บปวดยามคลอด
การฝึกหายใจเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวดยามเมื่อถึงเวลาคลอด จะแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน

    • การหายใจแบบล้างปอด คือการสูดหายใจลึกๆ โดยใช้มือข้างหนึ่งวางไว้ที่ท้อง ถ้าหายใจถูกต้อง ท้องจะต้องป่อง จากนั้นผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ
    • การหายใจระดับอก คือ การสูดหายใจถึงแค่ระดับอก โดยใช้มือข้างหนึ่งวางไว้ที่อก ถ้าหายใจถูกต้อง อกจะต้องพองขึ้น จากนั้นผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ
    • การหายใจระดับคอ คือ การสูดหายใจตื้นๆ เร็วๆ โดยหายใจถึงแค่ระดับคอ แล้วหายใจออกทางปากถี่ๆ ซึ่งการหายใจแต่ละระดับจะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและบรรเทาความเจ็บปวดในระยะต่างๆ ของการคลอด

เมื่อมดลูกเริ่มหดรัดตัวสังเกตจากการมีอาการปวดท้องนำมาก่อน ให้คุณแม่หายใจล้างปอด 1 ครั้ง จากนั้นหายใจระดับอก นับ 1-2-3 แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปาก นับ 1-2-3 ทำเช่นนี้ 6-9 ครั้งต่อนาที
เมื่อมดลูกคลายตัวเต็มที่ให้หายใจล้างปอดอีก 1 ครั้ง สำหรับการหายใจแบบตื้นๆ ถี่ๆ จะใช้ในช่วงที่อยากเบ่งเหลือเกิน แต่ปากมดลูกยังไม่เปิดเต็มที่ (ซึ่งพยาบาลมักจะบอกว่า “อย่าเพิ่งเบ่ง”) โดยให้คุณแม่หายใจทางปาก เข้านับ 1 ออกนับ 2 ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าปากมดลูกจะเปิด

สังเกตการดิ้นบอกความผิดปกติ
ด้วยพื้นที่อันจำกัดและขนาดลำตัวที่โตขึ้นของลูก อาจทำให้คุณแม่รู้สึกว่าทารกดิ้นน้อยลงได้ หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าทารกยังอยู่ดีหรือไม่ ให้ลองสังเกตดูว่าใน 1 ชั่วโมงหลังอาหาร ทารกควรดิ้นไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ถ้าน้อยกว่าให้สงสัยว่า อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว


อาหารที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์เดือนที่ 9

        • วิตามินซีและสังกะสี กินอาหารที่อุดมด้วยวิตามินซีและสังกะสี จะช่วยเตรียมฮอร์โมนให้พร้อมสำหรับการคลอด ขณะที่อาหารที่ให้พลังงานอย่างคาร์โบไฮเดรต ซึ่งสามารถดูดซึมผ่านกระแสเลือดได้เร็วจะช่วยให้คุณแม่มีพลังงานมากพอระหว่างการคลอด
        • เกลือแร่และเอนไซม์ต่างๆ กินอาหารที่อุดมด้วยเกลือแร่และเอนไซม์ต่างๆ ที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ ไข่ เต้าหู้ ผักขม บร็อกโคลี่ ถั่วต่างๆ จะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้เซลล์กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้นด้วย


การออกกำลังกาย
เข้าสู่เดือนแห่งการลุ้นระทึก อุ้ยอ้ายเต็มทีที่จะเคลื่อนไหว พักผ่อนมากๆ ฝึกการผ่อนคลายโดยการนอนตะแคง ศีรษะหนุนหมอนเตี้ยๆ ใช้หมอนอีกใบรองใต้เข่า ทำใจให้สบาย ทำสมาธิโดยการหายใจเข้า-ออกลึกๆ ยาวๆ หรือจะทำในขณะที่คุณกำลังนอนยกขาสูง เพื่อลดอาการบวมที่เท้าและข้อเท้าก็ได้

อัพเดทล่าสุด