การผสมเทียม อิ๊คซี่ กิฟท์ ซิฟท์ เด็กหลอดแก้ว


1,954 ผู้ชม

การผสมเทียม หมายถึงการนำน้ำอสุจิฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยไม่มีการร่วมเพศเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับคนที่มีบุตรยากและต้องการมีบุตร ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธีตามความเหมาะสมของร่างกายของผู้ที่ต้องการมีบุตร


การผสมเทียม


  • การผสมเทียม
  • การผสมเทียมคืออะไร
  • การผสมเทียมกับภาวะมีบุตรยาก
  • การผสมเทียมแบบต่างๆ
  • ช่วงอายุที่เหมาะกับการผสมเทียม
  • การเลือกใส่ตัวอ่อนแต่ละครั้ง
  • เลือกทิ้งตัวอ่อนได้หรือไม่
  • เตรียมสุขภาพก่อนผสมเทียม


pregnancy_momypedia
การผสมเทียมคืออะไร
การผสมเทียม หมายถึงการนำน้ำอสุจิฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยไม่มีการร่วมเพศ การผสมเทียมนี้พบว่ามีโอกาสตั้งท้องได้ประมาณร้อยละ 50 การผสมเทียมมี 2 ชนิดคือ

        • ใช้น้ำอสุจิของสามีตัวเอง จะทำในรายที่สามีมีการหลั่งน้ำอสุจิผิดปกติไม่เข้าไปในโพรงมดลูก หรือรายที่อสุจิของสามีมีคุณภาพไม่ดีพอ ซึ่งจะต้องนำอสุจินั้นไปเตรียมด้วยเครื่องมือจนมีคุณภาพและปริมาณมากพอ แล้วจึงนำมาฉีดเข้าในโพรงมดลูกของภรรยา
        • ใช้น้ำอสุจิของผู้อื่น จะใช้ในกรณีที่สามีไม่มีตัวอสุจิเลย การทำด้วยวิธีนี้จะต้องปรึกษาหารือกันให้ดีก่อนทำ เพราะจะมีปัญหาในเรื่องความรู้สึกและและการยอมรับลูกที่จะเกิดมาด้วย


การผสมเทียมกับภาวะมีบุตรยาก
โดยทั่วไปคู่สมรสชายหญิงที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้คุมกำเนิด มีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ แล้วยังไม่สามารถที่จะมีลูกได้ในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ถือว่าเข้าข่ายการมีลูกยาก ซึ่งควรไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป
ทุกวันนี้ชายหญิงเป็นเหตุของการมีลูกยากใกล้เคียงกัน บางครั้งพบความผิดปกติร่วมกันทั้งสองฝ่าย แต่คู่สมรสบางคู่ตรวจหาสาเหตุอย่างไรก็อาจจะไม่พบความผิดปกติอะไรเลยทั้งในฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็มีเช่นกัน

        • สาเหตุจากฝ่ายหญิง อาจจะเกิดได้จากปัญหาหลายประการมากกว่าฝ่ายชาย เช่น มูกที่ปากมดลูกเหนียวเกินไปจนเชื้ออสุจิวิ่งผ่านเข้าไปในมดลูกไม่ได้ ปากมดลูกมีการอักเสบ ทำให้สร้างมูกที่มีสภาพในการนำเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกไม่ได้ ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกหนาหรือบางจนเกินไป จนตัวอ่อนฝังตัวเพื่อการเจริญเติบโตต่อไปไม่ได้ ท่อนำไข่ตีบตันจนไข่และเชื้ออสุจิผสมกันที่บริเวณดังกล่าวไม่ได้ รังไข่สร้างไข่ไม่ได้ ไม่มีการตกไข่ หรือสร้างไข่ได้แต่ไม่มีคุณภาพ
        • สาเหตุจากฝ่ายชาย มักเกิดจากปัญหาของคุณภาพของเชื้ออสุจิที่สร้างจากลูกอัณฑะ อาจไม่แข็งแรงพอหรือไม่มากพอ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุมาก เคยติดเชื้อโรคคางทูมที่ลูกอัณฑะ เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
        • สาเหตุจากทั้งสองฝ่าย ที่พบบ่อย เช่น ฝ่ายหญิงมีการสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้ออสุจิ ทำให้ไปผสมกับไข่ไม่ได้ เป็นต้น

การรักษาการมีบุตรยาก โดยปกติแล้วคุณหมอจะพยายามรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบเสียก่อน ถ้ารักษาตามสาเหตุแล้วไม่ได้ผล หรือบางรายหาสาเหตุไม่ได้ แพทย์อาจจะตัดสินใจรักษาด้วยวิธีการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์เข้ามาช่วย ซึ่งทุกวันนี้มีอยู่มากมายหลายวิธีด้วยกัน

การผสมเทียมแบบต่างๆ
ผู้ที่มีลูกยากต้องมีสิทธิ์รู้และเลือกวิธีการผสมเทียม เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยผู้ที่อยากมีลูกนั้นมีอยู่หลายวิธี การจะเลือกวิธีใดย่อมขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของพ่อแม่เป็นหลัก และแต่ละวิธีก็ให้เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องลองใช้หลายวิธี บางคนใช้วิธีเดียวครั้งเดียวก็สำเร็จ โดยทั้งหมดนี้ทั้งตัวพ่อแม่ต้องมีสิทธิ์รู้ทุกแง่มุมและร่วมพิจารณาเลือกไปพร้อมกับแพทย์

1. การฉีดเชื้อหรือการผสมเทียม (Intra Uterine Insemination หรือ IUI)
คือการเอาเชื้ออสุจิของฝ่ายชายมาคัดเชื้อที่มีคุณภาพโดยเลือกตัวที่วิ่งเร็ว แข็งแรง และรูปร่างดีที่สุด ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกในวันที่ไข่ตก โดยแพทย์จะใช้ฮอร์โมนจากภายนอกช่วยฉีดเข้าไปหรืออาจมีการอัลตราซาวนด์ด้วย แล้วลองดูว่าการทำลักษณะนี้แล้วได้ผลหรือไม่


โดยปกติแล้วการผสมเทียมจะทำไม่เกิน 3 ครั้ง ถ้าเกิน 3 ครั้งแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ก็ต้องเปลี่ยนวิธีไปทำกิฟต์ ซึ่งความสำเร็จแต่ละครั้งประมาณ 15-20% วิธีนี้ใช้ในกรณี...

        • ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิไม่แข็งแรงหรือมีปริมาณน้อย
        • ฝ่ายหญิงไม่มีมูกที่ปากมดลูก หรือมูกเหนียวข้น และไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้เพียงพอต่อการผลิตไข่ที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งอาจต้องใช้ฮอร์โมนเพิ่มและกระตุ้นการตกไข่

2. การทำกิฟท์ (Gamete IntraFollopain Transfer หรือ GIF)
คือการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ทั้งไข่และอสุจิมาผสมกัน จากนั้นจึงใส่กลับเข้าสู่ท่อนำไข่ทันที โดยให้อสุจิและไข่ปฏิสนธิกันเองตามธรรมชาติในร่างกายของแม่ โอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 30-40% วิธีนี้ใช้ในกรณี...

        • ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิอ่อนแอไม่มากนัก
        • ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ที่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีพังผืดมาก
        • อาจใช้สำหรับคู่สมรสที่ไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยาก

3. การทำซิฟท์ (Zygote IntraFollopain Transfer หรือ ZIFT)
คือการผสมกันระหว่างไข่กับอสุจิค้ลายการทำกิ๊ฟท์ แต่ต่างกันตรงที่ต่างจากการทำกิฟท์ตรงที่เป็นการนำไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธินอกร่างกายก่อน แล้วจึงนำตัวอ่อนในระยะ Zygote ใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ โอกาสตั้งครรภ์แต่ละครั้งประมาณ 20-30% วิธีนี้ใช้ในกรณี...

        • ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิน้อยกว่าปกติ
        • ฝ่ายหญิงที่ท่อนำไข่ไม่ตัน แต่ทำงานไม่ปกติ มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และมีพังผืดมาก
        • คู่สมรสที่ไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยากด้วย


4. การทำเด็กหลอดแก้ว (InVitro Fertilization and Embryo Transfer หรือ IVF& ET)
คือการเอาไข่ 10-20 ใบ ออกมาผสมกับอสุจิในจานหรือในหลอดแก้ว พอผสมกันแล้วจะรู้เลยว่าจะมีการปฏิสนธิหรือไม่ แล้วก็ต้องเลี้ยงตัวอ่อนประมาณ 3-5 วัน แล้วจึงใส่กลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายหญิง โอกาสตั้งครรภ์สูงสุดคือ 30-50% วิธีนี้ใช้ในกรณี...

        • ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิที่ไม่แข็งแรง
        • ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่อุดตันทั้ง 2 ข้าง และมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน


5. การทำอิ๊คซี่ (IntraCytoplasmic Sperm Injection หรือ ICSI)
เป็นการต่อยอดจากเด็กหลอดแก้ว โดยเอาเข็มที่มีเชื้อสเปิร์มอยู่หนึ่งตัวเจาะเข้าไปในไข่ เป็นการช่วยตัวเชื้อสเปิร์มที่ไม่แข็งแรง และไม่สามารถเจาะเข้าไปได้ โอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 25-30% วิธีนี้ใช้ในกรณี...

      • ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิผิดปกติอย่างมาก
      • ฝ่ายหญิงมีรังไข่ผิดปกติ ไม่มีการตกไข่ และไข่กับอสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกันเองได้


6.บลาสโตซิสท์ คัลเจอร์ (Blastocyst Culture)
เป็นขั้นตอนเลี้ยงตัวอ่อนก่อนจะใส่กลับเข้าไปในมดลูก โดยจะเลี้ยงตัวอ่อนประมาณ 3-5 วัน ซึ่งวันที่ 3 ของการเลี้ยงจะเป็นระยะของการแตกเซลล์ วันที่ 5 จะเป็นระยะบลาสโตซิสท์ ซึ่งตัวอ่อนที่โตมาถึงระยะบลาสโตซิสท์จะมีคุณภาพดีระดับหนึ่ง
ส่วนมากในการทำเด็กหลอดแก้วจะมีการปฏิสนธิขึ้นอยู่กับว่าจะได้ไข่จากแม่มากี่ฟอง ถ้าภายในร่างกายแม่มีผังพืด มีช็อกโกแลตซีสต์ หรือถ้าอายุมาก โอกาสมีไข่ก็จะน้อย และการปฏิสนธิก็อาจจะไม่ติดทุกฟอง เช่น ได้ 10 ฟอง อาจจะติดแค่ 7 ฟองหรือ 5 ฟองหรือ 3 ฟอง คือถ้ามีโรคและอายุเยอะก็อาจเหลือไข่น้อยลง จากนั้นต้องตรวจความผิดปกติของโครโมโซม หรือที่เรียกว่า Preimplantation Genetic Diagnosis (P.G.D.) ซึ่งทำใน 2 กรณี คือ
1.เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่พบได้บ่อยๆ
2.ตรวจดูว่าในโครโมโซมนั้นมีโรคทางพันธุกรรมที่มีคนในครอบครัวเป็นอยู่แล้วหรือเปล่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคนี้กับลูกในท้อง
แต่โดยส่วนมากจะตรวจแบบคัดกรองหรือสกรีนนิ่งแบบที่ 1 มากกว่า คือ ตรวจโครโมโซมประมาณ 5 ตัว เพื่อคัดกรองโรคที่เจออยู่บ่อยๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม การตรวจ P.G.D. เหมือนกับเป็นการเจาะน้ำคร่ำในแม่ที่ท้องธรรมชาติ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะแม่อายุเยอะมีโอกาสที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม ถ้าไม่ตรวจคัดกรอง ก็มีความเสี่ยงสูงที่ลูกอาจจะเป็นโรคนี้ได้


pregnancy_momypedia

ช่วงอายุที่เหมาะกับการผสมเทียม
จากสถิติแล้ว อายุของคุณแม่ถ้าเกิน 45 ปี จะไม่ท้องเลย ถ้าอายุ 40 ปีโอกาสท้องก็จะเหลือประมาณ 10% แต่โดยทั่วไปแล้วอายุ 45 ปี แพทย์จะไม่ทำให้ โดยอายุที่นิยมทำของแม่คนไทยจะเป็นช่วง 36 ปีขึ้นไป ทำให้โอกาสความสำเร็จน้อยกว่าแม่ที่อายุน้อยๆ


ทั้งนี้อายุของแม่ก็มีผลกับคุณภาพของไข่ด้วย ถ้าแม่อายุมากการกระตุ้นการตกไข่ก็จะทำได้น้อย และไข่ของแม่อายุเยอะอาจมีคุณภาพไม่ดีเท่าไข่ของแม่อายุน้อย

การเลือกใส่ตัวอ่อนแต่ละครั้ง
การใส่ตัวอ่อนในแต่ละครั้งไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว คุณแม่และคุณพ่อก็ต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วย ตามหลักจรรยาบรรณของแพทย์แล้วจะใส่ตัวอ่อนไม่เกิน 3 เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แฝดที่มากเกินไป เพราะจากตัวอ่อน 1 ตัวสามารถแบ่งตัวได้อีก 1 ยก ทำให้แม่เลือกใส่เพียงแค่ 1 ก็อาจมีโอกาสเกิดเด็กแฝดได้ และถ้าใส่เกินกว่า 3 โอกาสเสี่ยงต่อสุขภาพในขณะตั้งครรภ์ของแม่และลูกจะเพิ่มสูงขึ้น


ตามหลักการแพทย์แล้ว แพทย์จะช่วยประเมินเป็นกรณีไปขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพ และโอกาสในการตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้แม่ก็ควรบอกความต้องการของตนเองด้วย เช่น ถ้าอยากได้เพียงคนเดียวก็ควรจะใส่ 1 ตัวอ่อน หรือถ้าแม่ประเมินดูแล้วว่าสามารถเลี้ยงลูกแฝดได้จึงค่อยให้ใส่เผื่อ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์แฝดได้

เลือกทิ้งตัวอ่อนได้หรือไม่
ในทางการแพทย์กำหนดเอาไว้ว่า ตัวอ่อนคือไข่กับอสุจิรวมกันถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิต แต่ยังไม่มีองค์ประกอบของประสาท ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี หรือความรู้สึกนึกคิด


ตัวอ่อนต้องมีอายุอย่างน้อย 14 วัน เส้นประสาทถึงจะเริ่มปรากฏขึ้น จะถือว่ามีชีวิตที่สมบูรณ์ เพราะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ระบบประสาทจึงเป็นตัวกำหนดสำคัญ ส่วนบาปหรือไม่บาปเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนบุคคล


อย่างไรก็ตามตัวอ่อนที่ใช้ไม่หมดและไม่อยากทำลาย สามารถเก็บแช่แข็งได้ ซึ่งจะอยู่ได้ 10-20 ปี หรือสามารถบริจาคเพื่องานวิจัยก็ได้ แต่เมื่อตัวอ่อนฝังตัวในโพรงมดลูกแล้ว ตามหลักจรรยาบรรณของแพทย์จะไม่เอาเด็กออกให้ ยกเว้นกรณีที่วินิจฉัยแล้วว่าจะเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และลูก จึงจะดูดตัวอ่อนออก แต่การดูดตัวอ่อนออกนี้ก็อาจกระทบกับตัวอ่อนตัวอื่นทำให้เกิดการแท้งได้ทั้งหมด


เตรียมสุขภาพก่อนผสมเทียม
เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะผสมเทียมด้วยวิธีใดเพื่อให้แม่ตั้งครรภ์ เรื่องต่อมาที่ต้องรู้คือสุขภาพของแม่และทารกขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีความแตกต่างสำหรับแม่ที่มีลูกคนเดียวและลูกแฝด


การตั้งครรภ์เดี่ยวจากการผสมเทียม

        • สุขภาพแม่ ในช่วงตั้งครรภ์จะไม่ต่างจากแม่ที่ตั้งครรภ์ธรรมชาติเท่าไร เพียงแต่ช่วง 3 เดือนแรก มีโอกาสแท้งได้ง่ายกว่า เพราะฉะนั้น กรณีของแม่ที่ทำเด็กหลอดแก้วจะต้องรับฮอร์โมนเสริมไม่ให้แท้ง ไม่ว่าจะเป็นยาฉีด ยากินหรือยาเหน็บช่องคลอด แม่ต้องปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ซึ่ง 3 เดือนแรกนี้ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ พอพ้น 3 เดือนไปแล้วก็จะเหมือนการตั้งครรภ์ปกติ ส่วนโอกาสแท้งก็ยังมีบ้างแต่น้อยลง
        • สุขภาพทารก การตั้งท้องลูกคนเดียวสุขภาพลูกย่อมมีความแข็งแรงและปลอดภัยมากกว่าครรภ์แฝด รวมถึงเรื่องของการเลี้ยงดูก็จะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่


การตั้งครรภ์แฝดจากการผสมเทียม

        • สุขภาพแม่ ครรภ์แฝดถือว่ามีความเสี่ยง การพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์และอัลตราซาวนด์จะบ่อยกว่าแม่ที่ท้องลูกคนเดียว และยังมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ถุงน้ำคร่ำแตกง่ายกว่า ครรภ์เป็นพิษได้มากกว่า เพราะความดันสูงระหว่างการตั้งครรภ์
        • บางคนจะมีอาการชัก เช่น คลอดก่อนกำหนด ก็ต้องดูแลและระวังให้ดี หลังจากที่ทำคลอดโอกาสที่แม่จะตกเลือดก็มีมากกว่า หรือมีการแตกของมดลูกมากกว่าด้วย
        • สุขภาพลูก ทารกแฝดมักจะคลอดก่อนกำหนด ทำให้การสร้างอวัยวะอาจไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะที่ปอด ทารกจะหายใจเองไม่ค่อยได้ อาจจะขาดออกซิเจนเป็นระยะ รวมถึงอาจพิการได้ ถ้าเป็นแฝดสามขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยง เพราะทารกจะตัวเล็กมาก และต้องอยู่ในตู้อบนาน อาจจะรอดหรือไม่รอดก็ได้ หรือถ้ารอดก็อาจจะพิการได้ เพราะตอนอยู่ในท้องนั้นพื้นที่ในท้องแม่มีจำกัด ส่งผลให้น้ำหนักแรกเกิดของทารกไม่ดีเท่ากับการตั้งครรภ์เดี่ยว

อัพเดทล่าสุด