การเลือกเพศลูก เลือกเพศวิธีธรรมชาติ คัดเชื้อเลือกเพศลูก


2,993 ผู้ชม

การเลือกเพศลูกเป็นวิทยาการใหม่ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตรและต้องการเลือกเพศลูก ซึ่งการเลือกเพศลูกอาจจะมาจากความต้องการส่วนตัว หรือด้วยเหตุผลทางการแพทย์ก็ได้เช่นกัน


การเลือกเพศลูก


  • ที่มาของการเลือกเพศลูก
  • อสุจิช่วยเลือกเพศลูกได้อย่างไร
  • ท่าร่วมเพศช่วยเลือกเพศลูก
  • เลือกเพศลูกด้วยการฉีดเชื้อผสมเทียม
  • การเลือกเพศลูกด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว
  • กฏหมายเกี่ยวกับการเลือกเพศลูก


pregnancy_momypedia
ที่มาของการเลือกเพศลูก
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ ในแขนงต่างๆ เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง รวมถึงวิวัฒนาการด้านการแพทย์ ด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยทำให้สามารถวินิจฉัยโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ


สำหรับวิวัฒนาการด้านสูติศาสตร์ก็เช่นกันสามารถวินิจฉัยทารกได้ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนไปจนกระทั่งอยู่ในครรภ์คุณแม่ ดังนั้นจึงมีความต้องการของพ่อแม่ที่จะเลือกให้ลูกที่จะเกิดออกมาในอนาคตเป็นไปตามความต้องการของตน เช่น เพศ จำนวน รวมทั้งวันเวลาที่จะคลอดได้
ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อการวางแผนการมีลูก แต่ละครอบครัวมีการวางแผนกันมากขึ้น และส่วนใหญ่จะมีลูกเพียงหนึ่งหรือสองคน ดังนั้น ความต้องการอยากให้ลูกเป็นเพศชายหนึ่งหญิงหนึ่งจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ


ในทางวิทยาศาสตร์มีการค้นคว้าทดลองพบว่า การเกิดมาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพราะภายในเซลล์หรืออณูของร่างกายมนุษย์เราจะมีโครโมโซม (Chromosome) หรือแถบพันธุกรรม ซึ่งมีอยู่ 46 แถบหรือ 23 คู่ ในจำนวนนี้ 44 แถบ หรือ 22 คู่ จะเป็นแถบพันธุกรรมที่กำหนดลักษณะต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ สีของผม ความสูง (เตี้ย) สีผิวหนัง หน้าตา ฯลฯ และที่เหลืออีก 1 คู่เป็นแถบพันธุกรรมที่กำหนดความเป็นเพศชายเพศหญิง เรียกว่า “โครโมโซมเพศ” จะมีชื่อ X (เอ็กซ์) และ Y (วาย)
ผู้หญิงจะมีโครโมโซม 44 แถบ + โครโมโซมเพศคู่ XX (เอ็กซ์-เอ็กซ์)
ผู้ชายจะมีโครโมโซม 44 แถบ + โครโมโซมเพศคู่ XY (เอ็กซ์-วาย)


การเลือกหรือกำหนดเพศของลูกจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเมื่อพ่อแม่หรือบรรพบุรุษมีโรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่ถ่ายทอดปรากฏอาการไปยังลูกเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น หรือเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคเลือด G6PD โรคดาวน์ซินโดรมบางประเภท โรคผิวหนังบางประเภท (Sex-linked Ichthyosis) โรคสังข์ทอง (Anhidrotic Ectodermal Dysplasia) เป็นต้น ถ้าพ่อแม่หรือคนในครอบครัวมีประวัติว่าเป็นโรคเหล่านี้ลูกชายมีสิทธิ์ที่จะเป็นโรค ในขณะที่ลูกสาวไม่เป็น


เมื่อรู้ดังนี้และถ้าตัวเองหรือคนในครอบครัว (ปู่ย่า ตายาย พี่ ป้า น้า อา) เป็นโรคดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงที่จะมีลูกชาย แบบนี้การเลือกเพศลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสมควรอย่างยิ่ง


อสุจิช่วยเลือกเพศลูกได้อย่างไร
ในน้ำเชื้ออสุจิของพ่อมีอสุจิอยู่ 2 ตัว คือ อสุจิที่มีโครโมโซมเอ็กซ์ (X) ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้เป็นลูกสาว และโครโมโซมวาย (Y) ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้เป็นลูกชาย คือ อสุจิจะมีโครโมโซม 2 ชนิดคือ 22 แถบ + X หรือ 22 แถบ + Y


ส่วนเซลล์ไข่ของผู้หญิงจะมีโครโมโซมเพศแบบเดียวคือ โครโมโซมเอ็กซ์ (X) ในเซลล์ไข่จะมีโครโมโซม 22 แถบ + X
ถ้าไข่ของแม่ (22 + X) ผสมกับอสุจิของพ่อที่มีโครโมโซม X (22 + X) ก็จะได้ลูกซึ่งมีโครโมโซม 22 คู่ + XX เป็นลูกสาว
ถ้าไข่ของแม่ (22 + X) ผสมกับอสุจิของพ่อที่มีโครโมโซม Y (22 + Y) ก็จะได้ลูกซึ่งมีโครโมโซม 22 คู่ XY เป็นลูกชาย


ดังนั้น การที่จะได้ลูกชายหรือลูกสาวก็ขึ้นอยู่กับอสุจิจากพ่อว่าเป็นชนิดไหน
นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพกรดด่างของช่องคลอดกับคุณสมบัติของอสุจิด้วย คือ อสุจิ X ตัวใหญ่กว่า จึงวิ่งช้ากว่า แต่ทนทานกว่าอสุจิ Y และชอบสภาพกรดส่วนอสุจิ Y ชอบสภาพด่างมากว่า ซึ่งทำให้เราพอจะกำหนดวิธีการเลือกเพศของลูกได้กว้างๆ ว่า

        • ความถี่ การร่วมเพศบ่อยๆ ทำให้อสุจิ Y ลดลง จึงมักได้ลูกสาว ถ้ามีการร่วมเพศน้อยลงจะเพิ่มปริมาณของอสุจิ Y โอกาสที่จะได้ลูกชายก็มีมากขึ้น
        • จังหวะ ถ้าอยากได้ลูกชายควรร่วมเพศในวันที่ตกไข่พอดี อสุจิ Y ที่ตัวเล็ก ว่องไว มีจำนวนมากกว่าก็จะเข้าไปเจาะไข่ก่อน แต่ตายง่าย มีชีวิตอยู่ได้อย่างมากวันเดียว หากอยากได้ลูกสาวควรร่วมเพศก่อนไข่ตก 2-3 วัน เพราะอสุจิ X ตัวโต อุ้ยอ้าย แต่อึด มีชีวิตอยู่ได้ 3 วัน คงทนในสภาพด่างได้มากกว่า

pregnancy_momypedia

ท่าร่วมเพศช่วยเลือกเพศลูก

ท่าทีลีลาของการร่วมเพศนั้นมีส่วนช่วยให้ได้ลูกชายหรือลูกสาวตามความประสงค์อยู่บ้างเหมือนกัน คือ ถ้าอยากได้ลูกชาย ควรเลือกท่าทางที่สามารถสอดใส่อวัยวะเพศได้ลึกที่สุดขณะหลั่งน้ำเชื้อ

        • การใช้หมอนหนุนรองก้นในท่ามาตรฐาน
        • ใช้ท่าที่ให้ฝ่ายหญิงนอนหงาย งอและแบะต้นขาออกเต็มที่
        • ฝ่ายหญิงพาดบ่าฝ่ายชาย
        • ฝ่ายชายคุกเข่าอยู่หรือให้ฝ่ายหญิงอยู่ในท่าโก้งโค้ง
        • ฝ่ายชายสอดใส่จากทางด้านหลัง

ทั้งนี้ก็เพื่อให้เชื้ออสุจิที่เป็นเพศชายที่มีขนาดเล็กและว่ายได้เร็ว มีโอกาสว่ายเข้าไปผสมกับไข่ได้ก่อน รวมทั้งถ้าเป็นไปได้ควรกระตุ้นให้ฝ่ายหญิงถึงจุดสุดยอดก่อนหรือพร้อมๆ กับทางฝ่ายชายด้วยก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น
ถ้าต้องการได้ลูกสาว ก็ไม่จำเป็นต้องสอดใส่อวัยวะเพศให้ลึกมากนัก และไม่จำเป็นต้องกระตุ้นให้ฝ่ายหญิงถึงจุดสุดยอดก่อนหรือพร้อมกันก็ได้
อย่างไรก็ตามเทคนิคที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าจะได้ผล 100% เพราะมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องอีกมากมาย เป็นแค่เพียงการเพิ่มโอกาสเท่านั้น


เลือกเพศลูกด้วยการฉีดเชื้อผสมเทียม
วิธีการเลือกเพศลูกอาจจะแบ่งออกเป็นวิธีทางธรรมชาติ และวิธีฉีดเชื้อผสมเทียมเพื่อเลือกเพศลูก ซึ่งการเลือกเพศลูกโดยวิธีนี้สามีจะต้องมีเชื้ออสุจิที่มีคุณภาพดี ภรรยาจะต้องไม่มีโรคที่ทำให้มีบุตรยาก เช่น ท่อนำไข่อุดตัน พังผืดในอุ้งเชิงกราน หรืออายุมากกว่า 38 ปี เพราะสิ่งเหล่านี้จะให้โอกาสในการตั้งครรภ์และการเลือกเพศของลูกมีน้อยลง
วิธีนี้จะทำโดยการให้ยากระตุ้นไข่แก่ภรรยารับประทาน จากนั้นแพทย์ก็จะนัดมาตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูว่าไข่สุกหรือไม่ เมื่อไข่สุกแล้วก็จะฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก จากนั้นก็จะทำการนัดหมายให้สามีมาเก็บน้ำเชื้อ ตามวันและเวลาที่กำหนด
เมื่อเก็บน้ำเชื้อได้แล้วจะเอาน้ำเชื้อไปปั่นแยกเอาเชื้อเพศชายออกมา ซึ่งในทางปฏิบัติก็สามารถทำให้สัดส่วนระหว่างตัวอสุจิเพศชายและหญิง เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 50 ต่อ 50 เป็น 60 ต่อ 40 เป็นต้น หลังจากนั้นจึงฉีดเชื้ออสุจิที่แยกแล้วเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้ตั้งครรภ์ต่อไป
วิธีที่กล่าวนี้จะให้ผลสำเร็จคือตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 15 ต่อการฉีดเชื้อแต่ละครั้ง และโอกาสที่จะได้เพศชายตามที่ต้องการประมาณร้อยละ 65-70 โอกาสที่จะได้เพศหญิงตามที่ต้องการประมาณร้อยละ 70-75
การฉีดเชื้อผสมเทียมเป็นวิธีที่ง่าย สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย สามารถทำได้หลายครั้ง แต่ความสำเร็จไม่สูงนัก และต้องเผื่อใจว่าจะไม่ได้ลูกตามเพศที่ต้องการประมาณร้อยละ 30


การเลือกเพศลูกด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว
การทำเด็กหลอดแก้วและตรวจสอบโครโมโซมเพศของตัวอ่อน เป็นการนำเซลล์เพียงเซลล์เดียวของตัวอ่อนในระยะ 8 เซลล์ หรือนำเซลล์ของตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสต์มาทำการตรวจสอบหาความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้ได้ตัวอ่อนที่ไม่มีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่พบได้บ่อย เช่น ความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 13, 18, 21, 16, 22 เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถทราบได้อีกว่าตัวอ่อนนั้นเป็นตัวอ่อนเพศใด วิธีการนี้นอกจากที่จะสามารถใส่ตัวอ่อนที่ปราศจากความผิดปกติของโครโมโซมที่ทดสอบแล้ว ยังสามารถใส่ตัวอ่อนที่มีเพศที่ต้องการได้อีกด้วย
อัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วและทดสอบตัวอ่อนก่อนการย้ายฝากตัวอ่อนจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ต่อการย้ายฝากตัวอ่อน 2 ตัวอ่อน


กฏหมายเกี่ยวกับการเลือกเพศลูก
กกหมายในประเทศไทยมีเรื่องการห้ามเลือกเพศบุตร ยกเว้นเหตุผลทางการแพทย์ เช่น ถ้าลูกเป็นเพศนี้แล้วโอกาสที่จะไม่รอดมีสูง ถ้ามีโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้เอาโครโมโซมมาดูว่าเป็นอย่างไร ก็จะรู้ว่าเพศอะไร
โดยสถิติหญิงชายมีอัตราการเกิดเท่ากัน การเลือกเพศอาจจะทำให้มีความไม่สมดุลเกิดขึ้น แม้เทคโนโลยีช่วยในการเลือกเพศทำได้ แต่ในกฎหมายระบุไว้เป็นข้อห้าม Prefer Gender Selection เพราะถือว่าผิดหลักมนุษยธรรม และไม่มีความจำเป็น เพราะการเลือกเพศทำให้โอกาสตั้งครรภ์น้อยลง และโอกาสเสี่ยงก็มีมากขึ้น

อัพเดทล่าสุด