ศ.นพ.อภิชาติ วิชญาณรัตน์, คุชชิ่ง, cushing's disease,โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง, โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง, เนื้องอก


1,258 ผู้ชม

ศ.นพ.อภิชาติ วิชญาณรัตน์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง (Cushing's Disease) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย


รู้จักโรค "คุชชิ่ง" อาการอ้วน กลม พุงยื่น ผิดปกติ


ศ.นพ.อภิชาติ วิชญาณรัตน์, คุชชิ่ง, cushingประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง (Cushing's Disease) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่มีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมโรคเหล่านี้ได้ยาก

คนที่อ้วนขึ้นผิดสังเกต โดยเฉพาะผู้ที่มีใบหน้าอ้วน กลม และแดง พุงยื่นป่อง แต่แขนขากลับลีบ ผิวหนังมีรอยแตกสีชมพูม่วงคล้ำ มักพบที่หน้าท้องหรือต้นขา บริเวณต้นคอด้านหลังอาจมีไขมันพอกหนาคล้ายหนอก ผิวหนังบางจนเห็นเส้นเลือดได้ชัด เส้นเลือดบนผิวหนังเปราะและแตกง่าย เห็นเป็นรอยช้ำสีม่วง มีสิวและขนอ่อนขึ้นบนใบหน้า ผู้ที่มีลักษณะต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าเกิดภาวะ "คุชชิ่ง ซินโดรม" เป็นสัญญาณบอกว่าในร่างกายมีระดับคอร์ติโคสเตียรอยด์สูงเป็นเวลานาน
การที่ร่างกายมีคอร์ติโคสเตียรอยด์(เรียกสั้น ๆว่าสเตียรอยด์) สูงเกิดขึ้นได้ทั้งจากสาเหตุภายในร่างกาย และภายนอกร่างกาย ส่วนใหญ่เราจะพบภาวะคุชชิ่งซินโดรมจากสาเหตุภายนอกร่างกาย คือ คนที่รับประทานยาลูกกลอนหรือยาหม้อที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ หรือซื้อยาชุดที่มียาเม็ดสเตียรอยด์อยู่ด้วย เพื่อรักษาโรคปวดข้อ โรคปวดเมื่อย โรคคัน โรคหอบหืด หรือเพื่อให้เจริญอาหาร

ในปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องนี้กันอย่างมาก ร้านขายยาส่วนใหญ่ไม่จ่ายยากลุ่มนี้ถ้าไม่มีใบสั่งแพทย์

ส่วนสาเหตุจากภายในร่างกายซึ่งพบน้อยมาก คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักกัน สาเหตุอาจเกิดจากเนื้องอกต่อมหมวกไต หรือต่อมหมวกไตโต และสร้างสเตียรอยด์มากเกินจากผลของเนื้องอกต่อมใต้สมอง ทั้งต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมองเป็นต่อมไร้ท่อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย หลาย ๆ คนอาจไม่ทราบว่าสเตียรอยด์เป็นฮอร์โมนที่มีการผลิตในร่างกายอยู่แล้ว เป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมระบบเมตะบอลิสม (เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารแป้ง ไขมัน และโปรตีนเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน) การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด และการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะมีการผลิตสเตียรอยด์ในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ

เนื่องจากในเดือนเมษายน ทั่วโลกมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง จึงอยากให้ความรู้เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันนัก แล้วต่อมใต้สมองคืออะไร...

ต่อมใต้สมองเป็นต่อมขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 0.6 กรัม ที่ติดอยู่กับส่วนล่างของฐานสมอง มีหน้าที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด รวมทั้งฮอร์โมนที่ควบคุมการสร้างสเตียรอยด์ เมื่อเกิดเนื้องอกของต่อมใต้สมองชนิดที่มีการสร้างฮอร์โมน ACTH ฮอร์โมนนี้จากเนื้องอกจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้มีการสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากขึ้น ทำให้เกิดอาการและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงออกแตกต่างกัน แต่ทุกรายจะมีลักษณะเด่นต่างๆ ของคุชชิ่ง ซินโดรมดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปร่างอ้วน หน้ากลมแดง อาจมีสิวและขนอ่อนเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่งยังอาจมีอาการอื่นๆ ที่เกิดจากการมีสเตียรอยด์ฮอร์โมนในร่างกายสูง เช่น ปวดหลังเนื่องจากกระดูกผุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ นอนไม่หลับ ติดเชื้อง่ายและเป็นแผลหายช้า ผมร่วง ในผู้หญิงประจำเดือนอาจมาน้อยหรือไม่มาเลย ส่วนในผู้ชายอาจไม่มีความรู้สึกทางเพศ ตัวเนื้องอกต่อมใต้สมองอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้

ในปัจจุบันการรักษาโรคนี้ใช้วิธีการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไปเป็นลำดับแรกเนื่องจากมีโอกาสหายขาดในผู้ป่วยที่ผ่าตัดแล้วไม่หายหรือโรคกลับมาเป็นซ้ำ รวมทั้งผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกได้ จะรักษาด้วยรังสีรักษาหรือให้ยาเพื่อยับยั้งการสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เข่น ความดันโลหิตสูง หรือน้ำตาลในเลือดสูง แต่ควบคุมไม่ได้ กระดูกหักง่าย ติดเชื้อง่าย ความดันโลหิตสูงทำให้เกิดโรคหัวใจวาย อัมพาตครึ่งซีก โรคหัวใจขาดเลือด ถ้ามีลักษณะหรืออาการต่าง ๆ ดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อัพเดทล่าสุด