ประชาธิปไตย, เผด็จการ, จอห์น วิญญู, spokedark.tv, การเมือง, วัยรุ่น


1,101 ผู้ชม


ประชาธิปไตย ที่อยากรู้จัก แต่ไม่อยากเข้าใจ

จอห์น วิญญู spokedark.tv

สัปดาห์ที่ผ่านมาการถกเถียงในสังคมไทยยังคงติดหล่มอยู่ในนรกเดิมๆ คือ นรกของ "การปกป้องอะไรบางอย่างที่กูก็ไม่แน่ใจหรอกว่ามันคืออะไรแต่กูรักและยอมตาย เพื่อสิ่งนั้นได้นะ" นรกขุมนี้ตามเราไปทุกที่ครับ ทั้งในทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุโซเชียลมีเดีย วงเหล้า สุสานบรรพบุรุษในวันเช็งเม้ง งานแต่งงานเพื่อน ยันไปถึงห้องนอนเลยทีเดียว เรียกว่าตกนรกกันอย่างทั่วถึง

ประชาธิปไตย, เผด็จการ, จอห์น วิญญู, spokedark.tv, การเมือง, วัยรุ่น

คำว่า "เผด็จการรัฐสภา" ยังคงเป็นคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ราวกับเป็นคาถาปัดเสนียด ไล่ผี และสร้างความชอบธรรมให้กับการล้มการเลือกตั้งที่ไม่มีหนทางชนะ และสนับสนุนการเลือกตั้งที่ตัวเองจะได้ประโยชน์

เช่นเดียวกับคำว่า "ประชาธิปไตย" ที่ถูกตะโกนเพื่อปลุกม็อบสร้างความฮึกเหิมและชอบธรรมในการเรียกคนมาเสี่ยง เจ็บเสี่ยงตายอีกตามเคย (ทั้งๆ ที่คนที่ปราศรัยปาวๆ อยู่บนเวทีนั้นก็เป็นผู้นำประชาชนมาตลอดการเจ็บการตายไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ก็ยังจะทำอย่างเดิมต่อไป ดูเหมือนจะไม่มีความรู้สึกผิดของคนที่ "รอดชีวิต" เลยซักนิด)

เรื่องมันคงไม่จบจนกว่ามันจะจบแหละครับ ณ จุดๆ นี้คงต้องพึ่งพาหมอดูอย่างเดียวเพราะไม่เห็นทางอื่น ไม่มีอะไรที่จะทำได้นอกจากนั่งรอให้คลื่นแห่งความบ้าคลั่งพัดผ่านไป หวังว่าจะรอดชีวิตและรอเก็บซากแห่งความวินาศสันตะโรตามยถากรรม

ในระหว่างที่นั่งคุดคู้หลบภัยสงครามอะไรก็ไม่รู้นี่อยู่ คงจะโอเคถ้าเราจะลองวิเคราะห์กันดูว่าในทางทฤษฎีแล้ว เรามาถึงจุดๆ นี้กันได้ยังไง

เริ่มจากประเด็น "เผด็จการรัฐสภา" ก่อน

วาท กรรมเผด็จการรัฐสภาเกิดมาจากการที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ดังนั้น เมื่อมีการยกมือโหวตเรื่องใดๆ ก็ตาม รัฐบาลจะเป็นฝ่ายชนะเสมอ ไม่ว่าฝ่ายค้านจะมีข้อมูล มีการแฉ มีการอภิปรายแบบที่เรียกว่า slam dunk ยังไง ถ้ารัฐบาลจะทำเสียอย่างก็ไม่มีสิ่งใดจะมาหยุดยั้งแผนการของรัฐบาลได้

และบางทีการอภิปรายมากๆ เล่นใหญ่ๆ ของฝ่ายค้านก็ถูกทำให้ดูเป็นเรื่องน่าขัน เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งนั่งพับนกเล่นระหว่างถูกอภิปราย

ฝ่ายค้านเรียกสิ่งนี้ว่า "เผด็จการรัฐสภา" ตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นมาแสดงก็เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้าน เป็นต้น

ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นเช่นนั้นและไม่เป็นเช่นนั้นนะครับ

คำว่า "เผด็จการ" ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานบอกว่า เป็นคำนาม หมายถึง การใช้อำนาจบริหารเด็ดขาด เรียกลัทธิหรือแบบการปกครองที่ผู้นำคนเดียวหรือบุคคลกลุ่มเดียวใช้อำนาจ อย่างเด็ดขาดในการบริหารประเทศว่า ลัทธิเผด็จการ เรียกผู้ใช้อำนาจนั้นว่า "ผู้เผด็จการ"

ส่วนวิกิพีเดียให้ความหมายที่กว้างขึ้นมาอีกดังนี้

คำว่า "เผด็จการ" อาจมีได้หลายความหมาย เช่น

1. ผู้เผด็จการของสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งมีอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จในยามฉุกเฉินของบ้านเมือง ซึ่งอำนาจจากการใช้ตำแหน่งดังกล่าวไม่ต้องมีเหตุผลหรือไม่ต้องรับผิดชอบแต่ อย่างใด มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย และถือว่าการกระทำทั้งหมดนั้นไม่ผิดกฎหมายย้อนหลัง

2. รัฐบาลซึ่งปกครองโดยบุคคลเพียงคนเดียว หรือคณะบุคคลเพียงส่วนน้อย

3. หรืออาจหมายถึง การปกครองซึ่งรัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด ไม่ถูกจำกัดโดยกฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือปัจจัยทางสังคมหรือการเมืองอื่นภายในรัฐนั้น

จากคำ นิยามทั้งหมด การตราหน้ารัฐบาลหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากอำนาจเลือกตั้งของประชาชนทั้ง ประเทศว่าเป็น "เผด็จการ" น่าจะเป็นการใช้ภาษาที่ฉูดฉาดเหนือจริงเกินไปนิด

การเลือกตั้งในบ้านเราค่อนข้างห่างไกลจากคำว่าเผด็จการนะครับ เพราะใครอยากลงสมัครรับเลือกตั้งก็มีเสรีภาพที่จะทำได้ การหาเสียงก็ค่อนข้างเสรี

สื่อสามารถเสนอข่าวได้อย่างกว้างขวาง

คุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครก็ไม่ได้โหดเหี้ยมทารุณหรือถูกปรับเปลี่ยนอยู่ ตลอดเวลาเหมือนบางประเทศ บางประเทศมีพรรคให้เลือกเพียงพรรคเดียวด้วยซ้ำ

ส่วนเรื่องการซื้อเสียง จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นของหลายๆ มหาวิทยาลัยก็มีผลออกมาค่อนข้างตรงกันว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยในการตัดสินใจของประชาชนผู้เลือกตั้ง แม้ว่าจะยังมีเงินไหลเวียนอยู่ในสารบบของการเลือกตั้งแต่ละครั้งค่อนข้างมาก ก็ตาม และหากต้อง "ซื้อ" จริงๆ มันก็เป็นการแลกเปลี่ยนอยู่ดีนั่นแหละครับ

เผด็จการเค้าบังคับเอาด้วยปืน ด้วยความกลัว แนวซื้อเสียงนี้น่าจะเรียกทุนนิยมชั้นต่ำมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิของตนเองจริงๆ มีเสรีภาพที่จะเลือกใครก็ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด คงเรียกว่าอยู่ในระบอบเผด็จการไม่ได้

ดังนั้น เราก็ยังต้องยืนยันอยู่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนมาทำหน้าที่แทน การตัดสินใจกระทำการอันใดของตัวแทนเหล่านี้ก็เป็นการตัดสินใจที่มีพื้นฐาน จากอำนาจที่ได้รับมาอย่างชอบธรรมตามระบอบการปกครองจริงๆ และประชาชนมีสิทธิที่จะให้อำนาจหรือดึงอำนาจคืนจากคนเหล่านี้เมื่อถึงรอบของ การเลือกตั้งครั้งต่อไป

คราวนี้มาดูนิยามของคำว่า "ประชาธิปไตย" กันดีกว่าครับ

ราชบัณฑิตยสถานนิยามคำว่าประชาธิปไตยไว้ว่า ระบอบการปกครองโดยตัวแทนของประชาชน เป็นระบอบที่พลเมืองผู้มีสิทธิ เลือกผู้แทนไปบริหารประเทศแทนตน ผู้แทนเหล่านั้นต้องบริหารประเทศเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ และประชาชนมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของผู้แทนเหล่านั้นด้วย ไม่ได้เน้นการถือมติของเสียงข้างมากเป็นใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว

ระบอบการปกครองแบบนี้ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนา การพูด และการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น

ผมไม่เห็นด้วยกับ "ผู้แทนเหล่านั้นต้องบริหารประเทศเพื่อประชาชนส่วนใหญ่" นะครับ ผมว่ามันเป็นประโยคที่ค่อนข้างเหลวไหลเพราะเราคงไปเดาใจใครไม่ได้ว่าสิ่งที่ เขาตัดสินใจทำนั้นเขาตัดสินใจ "เพื่อ" อะไร

แต่ก็เอาเถอะครับ ข้ามมาถึงตรงที่บอกว่า ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของผู้แทนเหล่านั้น ไม่ได้เน้นการถือมติของเสียงข้างมากเป็นใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว

ใช่ครับ เพราะถ้าเสียงข้างมากอยากจะออกกฎหมายมาลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของเสียงส่วน น้อยโดยอาศัยว่าตัวเองเป็นเสียงส่วนมาก แบบนั้นเค้าเรียก ทรราชเสียงข้างมาก (Tyranny of the Majority) เป็นการปกครองแบบกฎหมู่ ไม่ใช่ ประชาธิปไตย (Democracy)

เพราะในระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าการตัดสินใจจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ แต่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเองซึ่งรัฐมีหน้าที่ที่จะ ต้องคุ้มครอง

เช่น คนที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่มีสิทธิที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยนั้นได้ อย่างเสรี หรือ หลักการที่ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันตามกฎหมาย คำว่า "เท่าเทียม" สำคัญมากนะครับ การใช้ "เสียงข้างมาก" ลด "ความเท่าเทียม" เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย

เรื่องมันขมๆ ขึ้นมาก็ตรงนี้แหละครับ มันขมจริงๆ ตอนที่รัฐบาลเสียงข้างมากโหวตผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่จะเลิกค้นหา ความจริงและยกเว้นความรับผิดชอบใดๆ ของคนที่กระทำการรุนแรง ฆาตกรรม ทำร้ายประชาชนที่ให้การสนับสนุนปกป้องและเลือกตัวเองเข้ามาเป็นรัฐบาล

กฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาลเสียด้วย

หมายความว่ายังไงครับ?

หมายความว่าคนที่สนับสนุนรัฐบาลเป็นจำนวนมากเห็นดีเห็นงามกับการเหยียบย่ำทำ ร้ายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนคนอื่นๆ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานนั้นก็คือสิทธิเสรีภาพในการได้รับความคุ้มครองใน กระบวนการยุติธรรม

พูดง่ายๆ ก็คือ เห็นดีเห็นงามกับการที่จะมีคนโดนฆาตกรรมกลางเมืองฟรีๆ ในการต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่มีวันที่จะรู้ว่าใครทำผิดต่อใครยังไง นี่ยังไม่ต้องไปพูดถึงกระบวนการการลงโทษด้วยซ้ำเลยนะครับ

ถ้าแบบนี้เรียกว่าคือประชาธิปไตยก็ดูจะกลวงไปซักหน่อย

แค่ นั้นยังไม่พอ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่สนับสนุนรัฐบาลโดยแทบไม่ใส่ใจเลยว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทั้งในสงครามยาเสพติด การฆ่าตัดตอน และการใช้กฎหมายความมั่นคงอย่างพร่ำเพรื่อในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาค ใต้นั้นมันขัดกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างรุนแรงเพียงใด

ทุกครั้งที่ผู้นำ นปช. แหกปากบนเวทีว่าพวกเค้าจะต่อสู้เพื่อ "ประชาธิปไตย" ก็จะทำให้ประโยค "จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อรักษาประชาธิปไตย" ของรักษาการนายกรัฐมนตรี เสื่อมความหมายและไร้ค่าลงทุกครั้ง เพราะคำว่า "ประชาธิปไตย" แบบที่อ้างเฉพาะเสียงส่วนใหญ่แต่เมื่อถึงเวลาแห่งการพิสูจน์ว่าตัวเองมีค่า มากกว่าแค่จำนวนคนที่เลือกมา รัฐบาลนี้ก็สอบตกยับเยินทุกครั้ง

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่เลือกตั้งทีไรไม่เคยชนะสักที ก็พร่ำบ่นคาถาเดิมๆ คือ "การเลือกตั้งไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งแม้จะจริงก็ไม่ได้จริงทั้งหมด และคนเหล่านี้ก็ไม่เคยแสดงออกมาซักทีว่า ความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและยุติธรรมคืออีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ไม่แพ้การเลือกตั้ง และสิ่งที่พวกเขาเดือดร้อนที่สุดเมื่อผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งคือ เรื่องการคืนเงินทักษิณ ไม่ใช่เรื่องของคนตายกลางกรุงเกือบร้อยศพสักหน่อย

ไม่มั่นใจว่ามีใครต้องการ "ประชาธิปไตย" จริง ๆ หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าศึกนี้ประชาธิปไตยเป็นเพียงข้ออ้างในการแย่งกันเป็นรัฐบาล ซะมากกว่า (ทำไมไม่แปลกใจเลยนะเรา)

อะไรที่จะนำพาเราไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงล่ะครับ?

คํา ตอบก็คือพวกเราทุกคนนี่แหละ พวกเราคือสังคม สังคมคือผู้ให้กำเนิดกระบวนการยุติธรรม กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการคุ้มครองเสียงส่วนน้อย คุ้มครองคนที่อ่อนแอและเสียเปรียบ

ถ้าเรามองทะลุผ่านอคติเดิมๆ ที่เกิดมาจากการยุยงเสี้ยมสอนโดยโฆษณาชวนเชื่อของขั้วอำนาจได้แล้ว

เราก็จะพบว่า คำว่า "คนกลาง" หรือ "คนดี" จะหมดความหมาย เพราะ "คนกลาง" หรือ "คนดี" ไม่มีประโยชน์และความจำเป็นต่อใครอีกต่อไป เมื่อระบบและกระบวนการดังที่ผมกล่าวไป ได้ทำงานอย่างเข้าใจในประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

หรือว่ารู้

แต่ทำเป็นไม่เข้าใจ?

ก็เลยทำแอ๊บแบ๊ว

ลากๆ กันไปอย่างที่เห็น

เฮโลป่ามป๊าม


ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด