ที่มาของ ตะเกียบ
วัฒนธรรมในการกินอาหาร ของแต่ละชนชาติ มีความแตกต่างกัน ชาวยุโรปและอเมริกัน ใช้มีด และช้อนในการกินอาหาร แต่มีหลายชนชาติใน แอฟริกา อาหรับ และ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งอินเดีย นิยมกินข้าวด้วยมือ ในขณะที่ชาติในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ใช้ตะเกียบในการกินอาหาร และคนในชาติทั้งสามกลุ่มนี้ ต่างก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมในการกินของตนไว้ได้เป็นอย่างดีจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
วัฒนธรรมการกินทั้งสามแบบนี้ การกินอาหารด้วยมือกลับถูกมองว่าไม่มีวัฒนธรรม และอาจจะเป็นเพราะเหตุผลนี้ก็เป็นไปได้ ที่คนไทยยอมรับเอาวิธีการกินของชาวยุโรปมาใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่รับมาเพียงแค่ช้อน-ส้อมเท่านั้น ไม่รวมถึงการใช้มีดเป็นองค์ประกอบร่วมด้วย และนับตั้งแต่นั้นมา ช้อน-ส้อม ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในวัฒนธรรมการกินของคนไทย
ตะเกียบนั้น เข้ามาในเมืองไทยเป็นระยะเวลานานกว่าช้อน-ส้อม แต่ไม่สามารถเข้าถึงในครัวของไทยได้ ช้อน-ส้อมซึ่งเป็น วัฒนธรรมการกินของชาวยุโรป กลับได้รับความนิยมมากกว่า และยิ่งในชนบทด้วยแล้ว ชาวบ้านไม่นิยมใช้ตะเกียบในการกินอาหาร ส่วนประเทศลาวซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับจีน ก็ไม่ได้รับเอาวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบของจีนมาใช้ แต่กลับนิยมใช้มือและช้อนในการกินมากกว่า
จากหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ตะเกียบไม่ใช่เครื่องใช้ประกอบในการกินอาหารของชาวไทย และลาว เนื่องจากว่า ไทยไม่ได้รับเอาตะเกียบเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมการกินเหมือนกับช้อนและส้อม แต่ตะเกียบนั้นใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญเสียเลยก็ไม่ได้ เนื่องจากว่าอาหารจีนได้เข้ามาแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของไทยเราด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ตะเกียบเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๋วยเตี๋ยวและบะหมี่ จนดูเหมือนกับว่า จะใช้ตะเกียบเพื่อกินก๋วยเตี๋ยวและบะหมี่เท่านั้น ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า ตะเกียบเป็นเพียงอุปกรณ์ประกอบ ในวัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทย ก็คงจะไม่ผิดจากความเป็นจริงมากนัก
ตะเกียบมีบทบาทสำคัญ ในวัฒนธรรมการกินของชาวจีน นอกจากนี้ เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม ต่างก็มีวัฒนธรรมการกินด้วยตะเกียบเช่นเดียวกัน ทั้งสามชาตินี้ต่างรับเอาวัฒนธรรมตะเกียบของจีนไปใช้ ด้วยการดัดแปลงและพัฒนา จนกระทั่งตะเกียบกลายเป็นวัฒนธรรมการกินประจำชาติของตนเอง ที่มีความผิดแผกและแตกต่างไปจากจีนซึ่งเป็นชนชาติผู้ให้กำเนิดตะเกียบ
ตะเกียบมาจากประเทศจีน |
ตะเกียบ พร้อมหมอนรอง หนี่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล |
ตะเกียบทำด้วย โลหะ จากประเทศเกาหลี |
ตะเกียบจากประเทศเดนมาร์ก |
ตะเกียบ ทำจาก กระดูกตัวจามรี จากประเทศทิเบต |
ประวัติศาสตร์ของตะเกียบ
ในสมัยราชวงศ์ถัง นักการศึกษาชื่อ ขงอิ่งต๋า ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตำราคัมภีร์ขงจื๊อ มีชีวิตอยู่เมื่อปี ค.ศ. 574 - 648 ได้สนองรับคำสั่งของพระเจ้าถังไท้จง เรียบเรียง “ อู่จิงเจิ้งอี้ ” ( Wujing Zhengyi ) หรือ “ An Exact Implication of the Five Classics ” สำหรับใช้เป็นบรรทัดฐานในการสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการ เขาได้พูดถึงธรรมเนียมและมารยาทในการกินข้าวของคนจีนในสมัยนั้นว่า
“ มารยาทการกินข้าวของคนโบราณจะไม่ใช้ตะเกียบ แต่ใช้มือ เมื่อกินข้าวร่วมกับคนอื่น ควรชำระมือให้สะอาดหมดจด อย่าให้ถึงเวลากินข้าวแล้วเอามือถูใบสน หยิบข้าวกิน เกรงจะเป็นที่ติฉินของคนอื่นว่าสกปรก ”
คนโบราณที่ ขงอิ่งต๋า กล่าวถีงคือคนในยุคขงจื๊อ จึงมีความเชื่อกันว่า คนจีนน่าจะรู้จักใช้ตะเกียบกันมา เป็นเวลานานมากกว่า 2,000 ปี ตะเกียบใช้สำหรับคีบผักต้มจากหม้อน้ำแกงมาไว้ในชามข้าว จากนั้นจึงเอามือหยิบข้าวกิน ถ้ามีใครใช้ตะเกียบพุ้ยข้าวเข้าปาก จะถือว่าเป็นการเสียมารยาทมาก สิ่งใดที่บรรพบุรุษสร้างไว้หรือกำหนดไว้ จะไม่มีผู้ใดกล้าฝ่าฝืน คนจีนจึงรักษาธรรมเนียมการกินด้วยมือ อยู่เป็นเวลานานหลายร้อยปี
จีนเริ่มใช้ตะเกียบตั้งแต่เมื่อใด ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้ง แต่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า คนจีนใช้ตะเกียบกินข้าวกันอย่างแพร่หลายหลังยุคราชวงศ์ฮั่น ประมาณในคริสต์ศตวรรษที่ 3 คนในสมัยนั้นเรียกตะเกียบว่า “ จู้ ” ( Zhu ) ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ ไขว้จื่อ ” ( Kuaizi ) เหตุผลก็เป็นเพราะว่าชาวเรือ ถือคำว่า “ จู้ ” ที่ไปพ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า “ หยุด ” ซึ่งไม่เป็นมงคลต่อการเดินเรือ จึงเปลี่ยนไปใช้ “ ไขว้จื่อ ” แทน “ จู้ ” คนแต้จิ๋วออกเสียง “ จู้ ” ว่า “ ตื่อ ” ( Del ) และในปัจจุบันก็ยังคงใช้กันอยู่
การที่คนจีนใช้ตะเกียบในการกินอาหารมาเป็นเวลานานนับพันปี จึงมีความรู้คำสอนไว้มากมายจนกระทั่งกลายมาเป็น วัฒนธรรมตะเกียบ ซึ่งมีตั้งแต่การจับตะเกียบที่ต้องพิถีพิถันกันมาก จนกระทั่งถึงข้อห้ามต่างๆ อาทิ เช่น
-ห้ามวางตะเกียบเปะปะ จะต้องวางให้เป็นระเบียบเสมอกันทั้งคู่ การวางตะเกียบไม่เสมอกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง คนจีนถือคำว่า “ชางฉางเหลียงต่วน ” ความหมายตามตัวอักษรนั้น หมายถึง สามยาวสองสั้น คำนี้ คนจีนมักหมายถึง ความตาย หรือความวิบัติฉิบหาย ดังนั้นการวางตะเกียบที่ทำให้เหมือนมีแท่งไม้สั้นๆยาวๆ จึงไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง ห้ามทำเช่นนี้เด็ดขาด
-ห้ามใช้ตะเกียบชี้หน้าผู้อื่น หรือถือไว้ในลักษณะที่ให้นิ้วชี้ ชี้คนอื่นที่อยู่ร่วมโต๊ะ แต่การใช้นิ้วชี้ผู้อื่นคนไทยก็ถือว่า ไม่สุภาพเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะแต่คนจีนเท่านั้น
-ห้าม อม ดูด หรือ เลียตะเกียบ กิริยานี้เป็นเรื่องที่เสียมารยาทอย่างยิ่ง ถ้ายิ่งดูดจนเกิดเสียงดังด้วยแล้ว ถือเป็นกิริยาที่ขาดการอบรมที่ดี
-ห้ามใช้ตะเกียบเคาะถ้วยชาม เพราะมีแต่ขอทานเท่านั้นที่จะเคาะถ้วยชาม ปากก็ร้องขอความเมตตา เพื่อชวนให้เวทนาสงสาร เรียกร้องความสนใจให้บริจาคทาน
-ห้ามใช้ตะเกียบวนไปมาบนโต๊ะอาหาร โดยไม่รู้ว่าจะคีบอาหารชนิดใด ถือว่าเป็นกิริยาที่ควรหลีกเลี่ยง ควรใช้ตะเกียบคีบอาหารที่ต้องการนั้นทันที
-ห้ามใช้ตะเกียบคุ้ยหาอาหาร การกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือน พวกโจรสลัดขุดสุสาน เพื่อหาสมบัติที่ต้องการ ถือเป็นกิริยาที่น่ารังเกียจ
-ห้ามคีบอาหารให้น้ำหยดใส่อาหารจานอื่น เมื่อคีบอาหารได้แล้วจะต้องให้สะเด็ดน้ำสักนิด เพื่อไม่ให้น้ำหยดและอย่าทำอาหารที่คีบอยู่หล่นใส่โต๊ะ หรืออาหารจานอื่น การทำเช่นนี้ถือเป็นกิริยาที่เสียมารยาทเป็นอย่างยิ่ง
-ห้ามถือตะเกียบกลับข้าง คือถือปลายตะเกียบขึ้น ใช้ช่วงบนตะเกียบคีบอาหาร กิริยานี้น่าดูแคลนที่สุด เพราะถือว่าไม่ไว้หน้าตนเอง เหมือนหิวจนไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น
-ห้ามใช้ตะเกียบข้างเดียวเสียบแทงลงในอาหาร ถือว่าเป็นการเหยียดหยามน้ำใจกัน ไม่ต่างอะไรจากการชูนิ้วกลางให้ของฝรั่ง
-ห้ามปักตะเกียบไว้ในชามข้าว เพราะดูเหมือนปักธูปในกระถางไหว้คนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าข้าวให้คนอื่นแล้วปักตะเกียบไว้ในชามข้าวส่งให้ จะถือว่าเป็นการสาปแช่ง
-ห้ามวางตะเกียนไขว้กัน คนจีนในปักกิ่งถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน ทั้งแก่ตนเองและเพื่อนร่วมโต๊ะ
-ห้ามทำตะเกียบตกพื้น เพราะเสียมารยาทอย่างยิ่ง จะทำให้วิญญาณที่หลับสงบอยู่ใต้พิภพตื่นตกใจ ถือว่าเป็นสิ่งอกตัญญู จะต้องรีบเก็บตะเกียบคู่นั้นวาดเครื่องหมายกาก –บาท บนจุดที่ตะเกียบตกทันที พร้อมกับกล่าวคำขอโทษ
-วิธีถือตะเกียบที่ถูกต้อง จะต้องถือตะเกียบไว้ตรงง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ให้อีกสามนิ้วที่เหลือคอยประคองตัวตะเกียบไว้ และต้องถือให้เสมอกัน เมื่ออิ่มแล้วต้องวางตะเกียบขวางไว้กลางชามข้าวเสมอ.
บรรณานุกรม
อดุลย์ รัตนมั่นเกษม ครัว 11,129 ( มี.ค. 2548 ) 116 – 117
ภาพประกอบ
ถ่ายจากตู้แสดง เรื่องวัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมตะเกียบ ฝ่ายวารสารและเอกสาร สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
รวบรวมข้อมูลโดย : ฝ่ายวารสารและเอกสาร